พลิก “น่าน” ชนะภัยแล้ง ผลิตพืชผลป้อนตลาดใน ปท.-ตปท.

ในอดีตพื้นที่จังหวัดน่าน ถูกเรียกว่า “หุบเขาหัวโล้น” เพราะมีการลักลอบตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความแห้งแล้งเกาะกุมพื้นที่ แม้น่านจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ จนไม่สามารถทำเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

จนกระทั่งเมื่อมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริเข้ามาใช้แก้ปัญหาให้ชุมชน พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการทางความคิดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ภายใต้โครงการ “พัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน” ที่มีพื้นที่นำร่องคือหมู่บ้านขนาดเล็ก 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านลำน้ำยาว ตำบลยอด อำเภอสองแคว รวมถึง 3 หมู่บ้าน ในลุ่มน้ำสบสาย ตำบลตาลชุม ตำบลศรีภูมิ
อำเภอท่าวัง และ 14 หมู่บ้าน ในพื้นที่ต้นน้ำ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ รวมครัวเรือนในโครงการ 1,723 ครัวเรือน

“วรพล ไชยสลี” อาสาพัฒนาอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้าน และหัวหน้าโครงการปิดทองหลังพระ พื้นที่  อ.ท่าวังผา จ.น่านเล่าว่า ในอดีตบ้านน้ำป้ากก็ประสบปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแคลนทรัพยากรเพื่อใช้อุปโภคและบริโภค นำไปสู่ความยากจนในที่สุด การแก้ปัญหาในช่วงเริ่มแรก คือ การสร้างฝายชะลอน้ำ ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีฝายชะลอน้ำในพื้นที่รวม 2,000 ฝาย เมื่อมีน้ำในพื้นที่แล้ว ก็ตามมาด้วยการส่งเสริมอาชีพแก่ชุมชนด้านการเกษตรกรรมตามมาอีกด้วย

“วรพล” ยังเล่าต่ออีกว่า ในพื้นที่ยังมีการรวมกลุ่มจักรสานในชุมชนเฉลี่ย 25 คน/กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ชุมชนบ้านหวยม่วงที่มีการนำต้นแหย่ง และไม้ไผ่มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ได้มากกว่า 3 เท่า เช่น การนำไม้มาสานคันโต้ง ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดค่อนข้างดี การทำรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อตั้ง “กองทุน” เพื่อให้สมาชิกในชุมชนนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างอาชีพ ซึ่งหลังจากดำเนินการไปแล้วประมาณ 4 ปี ผลลัพธ์ที่ได้คือ ชุมชนมีรายได้ต่อเนื่อง นอกจากเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้วยังมี “เงินออม” ไว้สำหรับรองรับอนาคตด้วย

“เมื่อปัญหาได้รับการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จแล้ว ยังช่วยขจัดความยากจนของชุมชนในพื้นที่ได้ในวงกว้างตามหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งเป็นหลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้รับการพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อสร้างกลุ่มคนในชุมชนให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการอนุรักษ์พืชพันธุ์ป่าไม้และการจัดสรรการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

ทั้งนี้ แม้ว่าปัญหาความเดือดร้อนในภาพรวมจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุดแล้ว แต่ชุมชนยังมองเผื่อไปถึงอนาคตว่าจะพัฒนาชุมชนอย่างไรต่อไปให้ยั่งยืนใน 3 เรื่องคือ

1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ป่าต้องสมบูรณ์และสมดุลเพื่อการใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร

2) ด้านเศรษฐกิจในอนาคต 4-5 ปี ข้างหน้าต้องเป็นพื้นที่ในการส่งออกผลไม้ให้ได้ เช่น มะม่วงหิมพานต์ เงาะ มะม่วง และลำไย ในพื้นที่ 5,000 กว่าไร่ ต้องเป็นพื้นที่ส่งออกที่มีคุณภาพให้ได้

และ 3) ชุมชนต้องรักบ้านเกิด มีความสามัคคี และเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันด้วย

ส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนนั่น คือ การพึ่งพาตัวเอง และใช้จุดแข็งของทรัพยากรในพื้นที่ที่มีอยู่เป็น “จุดขาย” และสำหรับในพื้นที่จังหวัดน่าน มีข้าวก่ำลืมผัว สบู่ฝักข้าว และกล้วยทอด โดยเฉพาะข้าวก่ำลืมผัวที่ชุมชนต้องการผลักดันให้เป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับการเพาะปลูกในพื้นที่สูงโดยได้รับการส่งเสริมจากสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา มีการสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นกลไกหลักในการนำผลผลิตต่าง ๆ มาแปรรูป ซึ่งข้าวก่ำลืมผัวกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันข้าวพันธุ์ดังกล่าวยังได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวมกว่า 39 รายอีกด้วย

ขณะที่ “พนมเทียน พินิจทะ” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด ให้ข้อมูลเสริมถึงความสำเร็จด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ว่า การเกษตรในพื้นที่ได้พัฒนาไปจนถึงพืชผักปลอดภัยที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ในพื้นที่จึงมีการปรับโครงสร้างการเพาะปลูกในรูปของ “การผสมผสาน” ได้แก่ พริกสด  ฟักทอง กะหล่ำปลี และผักกาดขาว ฯลฯ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลผลผลิตที่หากนำผลผลิตของสมาชิกที่มีอยู่ในวิสาหกิจชุมชนทั้งหมดรวม 1,209 ราย จะอยู่ที่ 20 ตัน/สัปดาห์ มูลค่าเฉลี่ยที่ 26,570,094.13 บาท มีทุนเรือน 5,100,440 บาท ทุนหมุนเวียน 71,149,127.85 บาท และยังได้รับเงินสนับสนุนในการสร้างโรงคัดแยกบรรจุหีบห่อผักผลไม้ โดยมีเป้าหมายผลิตพืชผักน่านปลอดภัยสู่ผู้บริโภคที่มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 480 รายแล้ว โดยสหกรณ์การเกษตรฯ จะเป็นผู้จัดสรรโควตา ประกันราคา และประสานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

รายงานจากสำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุง ถึงการจัดสรรปันส่วนพื้นที่ทำการเกษตรและป่าอนุรักษ์ ระบุว่า ตามเงื่อนไขจะต้องมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่ที่ 60% ป่าเศรษฐกิจ 20% ป่าใช้สอย 8% ที่ดินทำกิน 10% ที่อยู่อาศัย 2% จากพื้นที่รวมในปัจจุบัน 34,314 ไร่ ส่วนการดำเนินงานจะมีการ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” คือ ป่าอนุรักษ์, ป่าใช้สอย และป่าเศรษฐกิจ ขณะที่ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป่าต้นน้ำ ป่าสร้างรายได้ ช่วยอนุรักษ์น้ำและดิน ทั้งนี้ มีเป้าหมายว่าหลังจากปี 2560 จะมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขี้นอีก 9,000 กว่าไร่ ป่าใช้สอยเพิ่มขึ้น 1,000 กว่าไร่ แล้วพื้นที่ทำกินปรับเปลี่ยนลดลง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ปลูกพืชที่สร้างรายได้เป็นพื้นที่ 1,000 กว่าไร่ พื้นที่ทำกินลดลง 100 กว่าไร่ ส่วนที่อยู่อาศัยเหลือเพียง 40 กว่าไร่

สิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงชาวบ้านพร้อมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองควบคู่กับการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันกับป่า