AP Open House คิดต่าง-สร้างสรรค์รับโลกเปลี่ยน

“เอพี” ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีความเชื่อว่าการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมาจากการมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพครอบคลุมทุกมิติ ทั้งความสะดวกสบาย และความปลอดภัย แต่การจะทำได้เช่นนั้น บุคลากรในองค์กรต้องมีความพร้อม สามารถมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจ และสามารถสร้างวิธีการใหม่ ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเล็งเห็นว่าสัดส่วนบุคลากรรุ่น millennials ในองค์กรจะเพิ่มขึ้นสูงในอนาคต จึงเกิดความคิดที่จะสร้างเมล็ดพันธุ์นักคิด นักสร้างสรรค์ระดับเยาวชนตั้งแต่พวกเขายังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะมองว่าการเสริมแนวคิดใหม่ ๆ ควรทำแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจภาพการทำงานจริง และค้นพบตัวเองว่าควรจะเดินสายงานไหน


“เอพี” จึงเดินหน้าจัดโครงการ AP Open House อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยปีนี้คัดเลือกนักศึกษาจากทั่วประเทศ จนได้ผู้ชนะ ทั้งหมด 4 คน ได้แก่ภัทรลภา วจีไกรลาส นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทิฆัมพร สำเร็จศิลป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, พิมพิศา กลิ่นขจร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ นภวัตร พุทธะชา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

โดยทั้ง 4 คนได้เดินทางไปศึกษาดูงานกับพันธมิตรบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ (บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป-MECG)ณ ประเทศญี่ปุ่น

เบื้องต้น “วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เล่าถึงแนวคิดของโครงการในปีนี้ว่า เป็นคอนเซ็ปต์คิดให้ต่าง อยู่อย่างฉลาด ในวันที่โลกเปลี่ยน เพราะปัจจุบัน เกิดการเปลี่ยนแปลงบนโลกอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยี หรือสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พัฒนา และอยู่ได้อย่างประสบความสำเร็จ บุคลากรรุ่นใหม่ต้องมีทักษะที่พร้อมจะปรับตัว และมีความคิดใหม่ ๆ จากการได้ไปเรียนรู้สิ่งที่ไม่มีในประเทศไทย เพื่อนำแนวคิดดี ๆ มาปรับใช้

“ปีนี้มีนิสิตนักศึกษากว่า 50 คน ที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัคร 3,000 คน จาก 77 สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นนิสิตนักศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา 30 คน ด้านการตลาดและการขาย 20 คน มาร่วมเรียนรู้ในหลักสูตรเป็นระยะเวลา 2 เดือน มาสัมผัสกระบวนการทำงานจริงแบบเจาะลึก ตั้งแต่ภาคทฤษฎีไปจนถึงการปฏิบัติจริงในพื้นที่โครงการ”

“ทั้งเป็นการส่งเสริมการนำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน รวมถึงได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น และสัมผัสประสบการณ์ตรงจากทีมงานมืออาชีพของเอพี ดังนั้น เมื่อพวกเขาเข้ามาในโครงการ น้อง ๆ จะต้องสร้างไฟนอลโปรเจ็กต์เกี่ยวกับที่พักอาศัย โดยน้อง ๆ ทั้ง 4 คนจาก 2 กลุ่มทำคะแนนได้สูงสุด อันดับ 1 ชื่อผลงาน The Loch โดยกลุ่มของทิฆัมพรและภัทรลภา อันดับ 2 ชื่อผลงาน Zneryne โดยกลุ่มของพิมพิศาและนภวัตร”

“ที่ไม่เพียงสร้างคนรุ่นใหม่ในโครงการ AP Open House 2018 แต่ปีนี้เรายังพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรกว่า 2 พันคน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลูกฝังไมนด์เซตแห่งการเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ ผ่าน 3 คุณลักษณะเด่น คือ มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้-flexible, ทำงานเป็นทีมเปิดรับความต่าง-teamwork และสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดขึ้นจริง-make it happen เพราะเราเชื่อว่า 3 คุณลักษณะนี้จะทำให้ศักยภาพของคนถูกพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด

ด้วยการพัฒนา 3 แพลตฟอร์มสำหรับการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ 3 ด้านได้แก่

หนึ่ง The 24/7 Learning Online Course คอร์สเรียนออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเองตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ Chula Space ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนเอพีมีความรู้ลึกอย่างรอบด้าน

สอง Special Co-design Course with Experts คอร์สเรียนที่นำผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมธุรกิจมาถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรเอพี

สาม Stanford Design Thinking ซึ่งเป็นกระบวนการของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจุดประกายความคิดของคนรุ่นใหม่

ถึงตรงนี้ “ภัทรลภา” เล่าถึงผลงานที่ทำร่วมกับเพื่อนในกลุ่มว่า The Loch เป็นแนวคิด Experience the Happiness of Living-สัมผัสความสุขในทุกมิติของการใช้ชีวิต โดยจุดเด่นของโครงการเป็นบ้านเดี่ยวริมทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่จะท้าความรู้สึกของคุณเหมือนการพักผ่อนที่ต่างจังหวัดอย่างแท้จริงเมื่อกลับบ้าน และบ้านแฝดที่ให้ความรู้สึกแบบบ้านเดี่ยว พร้อมด้วยคลับเฮาส์ขนาดใหญ่ริมทะเลสาบ และสนาม multisport

“ผมชอบหัวข้อการเรียนเกี่ยวกับแนวคิด Design Thinking ผ่านการลงมือทำจริง โดยเฉพาะขั้นตอน empathize ที่เปิดโอกาสให้เราเข้าไปสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลจากผู้อยู่อาศัยจริง รวมทั้งไปเฝ้าสังเกตการณ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้เข้าใจความต้องการ และ pain points (จุดอ่อนของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภครู้สึกว่ายังไม่โอเค) อย่างลึกซึ้ง จนเกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการทำไฟนอลโปรเจ็กต์”

“เพราะการทำโปรเจ็กต์แต่ละครั้งมักจะมีบางอย่างตกหล่นไป บางอย่างที่เราไม่เคยเรียนในห้องเรียน แต่ต้องมาเสนอผลงานในเอพีกับพี่ ๆ ที่มากประสบการณ์ ทำให้เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับทุกคำถามที่จะโดนถาม และยังได้เป็นตัวแทนมาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น โครงการนี้ทำให้เราโตขึ้น มีกระบวนการคิดที่ครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น”

ขณะที่ “ทิฆัมพร” เล่าถึงการมาเรียนรู้ที่ประเทศญี่ปุ่นว่าได้ไปศึกษา 3 สถานที่ ได้แก่ หนึ่ง MUJI House เพื่อเรียนรู้ศึกษาแนวคิดการออกแบบพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในอนาคต และต้นแบบการสร้างบ้านกึ่งสำเร็จรูป สอง The Parkhouse Oikos Mikunigaoka เยี่ยมชม

โครงการต้นแบบ BIO NET Initiative การดีไซน์และพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ สู่คุณภาพชีวิตที่ดีในการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน และ ENE Farm นวัตกรรมการประหยัดพลังงานภายในที่อยู่อาศัย สาม Knowledge Capital ศูนย์รวมไอเดีย เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ พื้นที่ที่พร้อมกระตุ้นให้เกิดการคิดค้น และพัฒนา

“ผมประทับใจการเรียนรู้ระบบ AI BIM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการออกแบบงานก่อสร้างอาคารสูงอัจฉริยะ 7 มิติ ในโครงการ The Parkhouse Oikos Mikunigaoka ของบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในวันนี้ และอนาคต นอกจากองค์ความรู้และประสบการณ์การลงมือปฏิบัติจริง ผมยังได้มิตรภาพที่ดีจากพี่ ๆ ในเอพีด้วย”

สำหรับ “พิมพิศา” เล่าถึงผลงานที่ทำร่วมกับ “นภวัตร” ว่า Zneryne อยู่ภายใต้แนวคิดความสมดุล เรียบง่าย และท่ามกลางธรรมชาติ โดยจุดเด่นของโครงการมีคลับเฮาส์รูปทรงรังนกขนาดใหญ่ที่มีน้ำล้อมรอบ และมีบ้านโอบล้อม เมื่อเข้ามาในโครงการจะเห็นลู่วิ่งรอบโครงการ ส่วนระบบความปลอดภัยมีที่กดปุ่มข้ามถนนระยะไกลสำหรับคนวิ่ง และระยะใกล้สำหรับคนเดินเล่น มีบริการจักรยานให้ใช้ทั่วโครงการ นอกจากนั้น ยังมีห้องเด็กเล่นที่สามารถแชร์ของเล่นเด็กกับเพื่อนบ้านได้

“การมาร่วมโครงการเอพี โอเพ่น เฮ้าส์ ทำให้ได้คอนเน็กชั่น ได้เห็นแผนการก่อสร้าง เรียนรู้การแก้ปัญหาหน้างาน ได้นำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ และยังได้โอกาสไปดูงานกับประเทศต้นแบบด้านการพัฒนาการก่อสร้างสำเร็จรูปที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย ได้เรียนรู้ทั้งงานด้านระบบวิศวกรรม รวมถึงการร่วมมือกันของระหว่าง 2 บริษัทด้วย”

“หลังจากจบหลักสูตรของโครงการแล้ว เกิดความเข้าใจในระบบการทำงานด้านอสังหาฯชัดเจนขึ้น ตั้งแต่แนวคิด กระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสายงานต่าง ๆ หาได้ยากค่ะที่จะได้ไปสัมผัสการทำงานจริงของบริษัทระดับประเทศเช่นนี้ ดิฉันตั้งใจจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด”

ส่วน “นภวัตร” กล่าวเสริมว่าถึงแม้ตนเองจะเรียนสายการตลาดมา แต่พอเข้ามาในโครงการเอพี โอเพ่น เฮ้าส์ จะต้องปูพื้นฐานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ของตนเอง แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้ไว้ เพราะเราจะต้องทำหน้าที่ขาย แนะนำลูกค้า เราจึงจำเป็นต้องสามารถตอบคำถามรอบด้านจากลูกค้าให้ได้ นอกจากนั้น เรายังได้ลงไซต์งานขายบ้านจริง และไปสำรวจคู่แข่งขัน เพื่อมาเปรียบเทียบกับสินค้า และบริการของเอพี ให้รู้ถึงข้อเด่น ข้อด้อย เพื่อนำมาพัฒนาต่อไป

“โครงการเอพี โอเพ่น เฮ้าส์มีตารางการฝึกงานชัดเจน ได้รู้ก่อนว่าการที่เข้ามาฝึกงานในแต่ละวัน จะต้องเรียนรู้เรื่องอะไร ทำให้รู้ว่าวันนี้เราควรเก็บเกี่ยวเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ผมตั้งคำถามกับการเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นเพื่อดูงานกับเอพีครั้งนี้จำนวนหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือการมองโจทย์จากมุมมองของลูกค้า แทนที่จะเป็นมุมมองของนักการตลาดที่เอพีสอนให้ผมรู้จักคิด แต่ต้องรู้จักการนำทฤษฎีมาปรับใช้ และให้โอกาสได้เข้ามาพัฒนาตนเอง”

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ สามารถนำมาพัฒนาทั้งในเรื่องกระบวนการความคิดในชีวิตประจำวัน การเรียน และการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มาเรียนรู้งานกับบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจากการเรียนรู้ต่าง ๆ ในโครงการนี้ ทำให้ค้นพบตัวเองว่าชอบงานสายนี้ เพราะมีความหลากหลาย และสนุก เมื่อเรียนจบจะมาสมัครงานที่เอพีแน่นอน”

นับว่าโครงการ AP Open House 2018 ไม่เพียงตอกย้ำวิสัยทัศน์สำคัญในการสร้างคนคุณภาพ หากยังเป็นการสร้างมืออาชีพให้เข้าสู่วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสังคมไทยอย่างแท้จริง