รับมือสังคมสูงวัย 

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์

โดย ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัย โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นของประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปเป็นประชากรวัยพึ่งพิง การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างอายุของประชากรดังกล่าวนับเป็นประเด็นท้าทายสำคัญ สะท้อนถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมีอายุขัยที่ยืนยาวกับสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

หลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มก้าวข้ามจากการพิจารณาเพียงสังคมสูงวัยไปสู่การเน้นเรื่อง “เศรษฐกิจอายุวัฒน์” (Longevity Economy) และ “การปันผลอายุวัฒน์” (Longevity Dividend) โดยการบรรลุเศรษฐกิจอายุวัฒน์นั้น มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การปันผลอายุวัฒน์ นั่นคือโอกาสทางเศรษฐกิจอันยั่งยืนจากการที่คนในสังคมมีสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิตอย่างยืนยาว

การที่ประเทศจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเป็นสังคมสูงวัยที่มีสุขภาพดี จำเป็นต้องมีการเตรียมการเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจนั้น โดยจะต้องเตรียมประชากรให้เป็นผู้มีสุขภาพดีทั้งก่อนวัยเกษียณและหลังเกษียณ เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยเองจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง วิถีปฏิบัติ เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน สามารถก้าวพ้นกับดักของมิติแห่งวัยพึ่งพิงที่จะต้องเผชิญหากปราศจากการปรับตัวอย่างเหมาะสมและทันการณ์

จากข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 63.8 ล้านคน โดยมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 13.2 ผลการคาดประมาณประชากรไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2553-2583 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าจำนวนประชากรในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 66.2 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2573 จากนั้นจะลดลงเป็น 63.9 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2583 ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) และประชากรวัยเด็ก (อายุแรกเกิด-14 ปี) มีสัดส่วนลดลงเป็นร้อยละ 55.1 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2583

ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นร้อยละ 32.1 เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีไทยลดต่ำลงอย่างมากและรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพัฒนาการทางการแพทย์และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งอำนวยให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันผู้คนในเขตเมืองของไทยมีลักษณะคล้ายกับประเทศจีน นั่นคือ 1 คนดูแลพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และทวด โดยในอนาคตสังคมไทยจะมีครัวเรือน 5 วัยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นภาพสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจึงเป็นภาพที่น่าจะใช้ในการวางแผนเรื่องการลดจำนวนครอบครัวข้ามวัย เพื่อให้บุตรได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ ขณะเดียวกันก็เอื้อต่อการอยู่ร่วมกับปู่ย่าตายายไปด้วย

ถึงแม้ว่าประชากรทั้งหมดของไทยในปี พ.ศ. 2583 จะมีจำนวนใกล้เคียงกับเมื่อปี พ.ศ. 2553 (63.8 ล้านคน) แต่การลดจำนวนและสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานจาก 42.7 ล้านคน (ร้อยละ 67) ในปี พ.ศ. 2553 เป็น 35.2 ล้านคน (ร้อยละ 55.1) ในปี พ.ศ. 2583 น่าจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยการผลิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาควบคู่กับประเด็นด้านคุณภาพของประชากร

ซึ่งในปัจจุบันการขาดแคลนทั้งปริมาณและคุณภาพของกำลังแรงงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิชาชีพในหลายสายวิชาชีพสำคัญ ๆ นอกเหนือจากภาพรวมของการขาดแคลนกำลังคนในเชิงคุณภาพ ความไม่สมดุลในตลาดแรงงานของกลุ่มผู้มีการศึกษา และความแตกต่างด้านคุณภาพของกำลังแรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพราะแรงงานไทยส่วนใหญ่ในระดับปริญญาตรีสำเร็จการศึกษาด้านสังคมศาสตร์

ถึงแม้ว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นด้านผลิตภาพแรงงานในช่วงที่ผ่านมา และพอจะดูแลผู้สูงอายุได้ระดับหนึ่ง แต่ในภาพรวมผลิตภาพแรงงานยังคงเพิ่มขึ้นช้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และรายได้ไม่ได้สูงกว่าการบริโภคเท่าใดนัก ความจริงแล้วรายได้และการบริโภคควรจะห่างกันมาก ๆ เพื่อจะได้มีเงินออมสำหรับอนาคตของตนเอง รวมทั้งเกื้อหนุนกลุ่มประชากรที่อยู่ในวัยศึกษาและประชากรสูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคมากกว่ารายได้ ทำให้เกิดการขาดดุลรายได้การบริโภค

โดยข้อมูลในปี พ.ศ. 2554 พบว่าตลอดช่วงอายุของประชากรมีการขาดดุลรายได้ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท และปี พ.ศ. 2583 จะขาดดุลเพิ่มเป็น 1.8 ล้านล้านบาท กล่าวได้ว่า ตลอดช่วงอายุของคนไทยเราแต่ละคนจะติดลบหรือขาดดุลรายได้ประมาณ 27,000 บาทโดยเฉลี่ย

การศึกษาตัวอย่างประชากรวัยแรงงานในประเทศเกาหลีใต้และไต้หวันที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์ พบว่ายังพอมีเงินออมเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุ ในขณะที่ประชากรไทยยังมีเงินออมไม่มากเพียงพอ และสำเร็จการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย

แต่เดิมนั้นรัฐบาลมีการวางแผนให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษาและสายสามัญอย่างละครึ่ง แต่ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 25 ที่ศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษา อีกร้อยละ 75 ไปสายสามัญ ซึ่งในสายสามัญมีเพียงร้อยละ 25 ที่เรียนสายวิทยาศาสตร์

รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงพยายามส่งเสริมให้เน้นการศึกษาด้าน STEM มากขึ้น คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เพื่อให้มีรายได้มากกว่าการบริโภคและมีเงินออมในการดูแลตัวเองและผู้สูงอายุในอนาคต อันเป็นการสานจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 8 เป็นต้นมา ซึ่งเน้นให้ “คน” เป็นศูนย์กลาง

ดังนั้นเราจะต้องเร่งผลิตครูด้าน STEM education ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำที่เหมาะสมกับสังคมไทยภายใต้โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมอบให้วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการ มีศาสตราจารย์ ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อจัดทำแผนประชากรระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2558-2577) ซึ่งส่วนหนึ่งได้ถอดเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉบับที่ 12 ด้วย

ทั้งนั้นเพราะประชากรสูงวัยนั้นจัดเป็น “วัยพึ่งพิง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงบประมาณที่ค่อนข้างสูงเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูภายหลังการเจ็บป่วย เนื่องจากเป็นวัยที่มีอัตราการเจ็บป่วยและภาวะทุพพลภาพสูงกว่าวัยอื่น

ดังนั้นการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาสังคมและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจึงไม่เพียงแค่การปรับตัวของครอบครัวหรือชุมชน บทบาทของภาครัฐนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการเพื่อให้ประเทศก้าวสู่โอกาสใหม่ของเศรษฐกิจอายุวัฒน์ และได้รับประโยชน์จากการเป็นสังคมสูงวัยที่มีสุขภาพดี หรือการปันผลอายุวัฒน์ด้วย


แต่กระนั้นจะต้องมีมาตรการที่ดีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรที่มีแนวโน้มของสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในทิศทางที่ดีด้วย