บ้านสมบูรณ์พัฒนาฯ ชุมพร จาก “ขี้ยาง” สู่ หมอนยางพารา “เงินล้าน”

สหกรณ์สมบูรณ์พัฒนาฯ จ.ชุมพร โรงงานแปรรูป “หมอนยางพารา” จาก “ขี้ยาง” กิโลละ 40 บาท สู่ แพลตฟอร์มธุรกิจ “เงินล้าน”
จากหมู่บ้านในหุบเขา-ขาดการติดต่อเพราะสัญญาณโทรศัพท์เข้าไม่ถึง ลึกเข้าไปมีหมู่บ้านชาวสวนยางพารา ที่ไม่ยอมจำนวนกับกลไกตลาดอันอันบิดเบี้ยวลุกขึ้นมายืนด้วยลำแข้งของตัวเอง
 
สหกรณ์สมบูรณ์พัฒนา ม.13 ตำบลชุมโค อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร สหกรณ์ที่มีโรงงานแปรรูปยางพาราเล็ก ๆ สามารถสร้างงาน-สร้างรายได้ให้กับชาวสาวยางพาราในหมู่บ้าน ม.13 ได้ลืมตาอ้าปากในวันที่ราคายางพาราตกต่ำสุดขีด-มาตรการช่วยเหลือจากรัฐสิ้นมนขลัง
 
จาก “ขี้ยาง” กิโลกรัมละไม่ถึง 40 บาท กลายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา จนสามารถมีรายได้ต่อปีแตะหลักล้าน ! อาทิ หมอน หมอนข้าง ที่นอน กระสอบทราย หมอนอิง เบาะรองนั่ง หมอนหนุนคอ ตกแต่งด้วยปลอกหมอนสีสันสดใส-ตามความต้องการของตลาด
 
น.ส.ชมพูนุช รักษาวัย ประธานสหกรณ์สมบูรณ์พัฒนา ม.13 ต.ชุมโค อ.ประทิว จ.ชุมพร “เกษตรกรยุคใหม่” ที่สามารถคบค้าบนแพลตฟอร์ม 4.0 กับบริษัทชั้นนำ-ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน อย่างบริษัท JD CENTRAL จนสามารถส่งออก-จำหน่ายหมอนยางพาราผ่านตลาดออนไลน์ หรือ JD.COM ได้
 
เล่าให้ฟังถึงที่มา-ที่ไปของสหกรณ์สมบูรณ์พัฒนา ฯ ว่า จากราคายางพาราที่ตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านหันมารวมกลุ่มกัน โดยใช้เงินลงทุนก้อนแรก 2 ล้านบาท เป็นเงินของตัวเอง 1 ล้านบาทและกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
 
“โจทย์ในวันนั้น คือ ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำและทดแทนรายได้ที่ขาดหายจากการราคายางแผ่นรมควันที่ขาดทุน”
 
“ชาวบ้านคิดตรงกัน ว่า รายได้จากการขายยางแผ่นรมควันอย่างเดียวไปไม่ได้รอดแน่นอน จึงความความคิดแปรรูปน้ำยางข้นเป็นหมอนยางพาราเพราะต้นทุนไม่สูง ลงทุนเองได้ จากนั้นก็พัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ไม่ให้ซ้ำแบบเดิม โดยได้รับความรู้จากสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และทางอำเภอส่งเสริมด้านการตลาด อาทิ การวางจำหน่ายในปั๊มน้ำมันปตท. การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้า”
 
จากเงินทุนประเดิมก้อนแรกเพียง 2 ล้านบาท ปัจจุบันสหกรณ์สมบูรณ์พัฒนา ฯ มีรายได้ในปี 2560 จำนวน 5.5 ล้านบาท ขณะที่เมื่อเทียบกับรายได้จากการขายยางแผ่นรมควันเพียง 1.5 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
 
ขณะนี้สหกรณ์สมบูรณ์พัฒนา ฯ รับซื้อน้ำยางสดจากชาวบ้าน 1,800 ไร่ และมีสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 102 คน พนักงาน 20 คน ซึ่งก็คือชาวบ้าน-ชาวสวนยางในพื้นที่
 
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา โดยเฉพาะหมอนยางพารา ได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมากและส่งออกไปหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน นอกจากนี้ยังพัฒนาจนสามารถจดลิขสิทธิ์ “แผ่นรองมือเด็ก” สำหรับใช้ในโรงพยาบาล
 
นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในฐานะพ่อเมือง-บำบัดทุกข์ บำรุงสุข กล่าวว่ากับ “คณะผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ประจำทำเนียบรัฐบาล” ที่ติดสอยห้อยตามคณะ “มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ” ว่า จังหวัดชุมพรอยู่ระหว่างการขยายผลศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ เนื่องจากจังหวัดชุมพรปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมาก เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและมะพร้าว โดยเฉพาะการปาล์มน้ำมันจำนวนมาก แบ่งออกเป็นพื้นที่ปลูก 1 ล้านไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 9 แสนไร่ ผลผลิตปาล์มออกมาปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท
 
“การปลูกเฉพาะพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียวทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่มีเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรนำศาสตร์พระราชาไปใช้แล้วได้ผล โดยปลูกพืชผสมผสาน เช่น สหกรณ์กล้วยหอมทองที่ถ้ำสิงห์ที่ปลูกกล้วยเล็บมือนาง มังคุด ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งปาล์มน้ำมัน เป็นการรวมกลุ่มสหกรณ์เข้มแข็ง-ลดความเสี่ยงโดยใช้ศาสตร์พระราชา ทำให้มีภูมิคุ้มกัน”
 
“พ่อเมืองชุมพร” บอกว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรที่สามารถปรับตัว-ยอมรับและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงจะเป็นเกษตรกรที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีลงมา หรือ Young Smart Farmer
 
ดังนั้น จึงถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของการให้ความเข้าใจ-ถอดบทเรียนในเรื่องศาสตร์พระราชาเพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อกล้าเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน ถึงแม้ว่าราคาปาล์ม-มะพร้าว-ยางพาราจะตกต่ำ เพราะมีพืชชนิดอื่นทดแทนได้
 
“ทว่าสิ่งสำคัญ คือ มายเซต-กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและกล้าปฏิบัติ-ดำเนินรอยตามศาสตร์พระราชา”
 
การสนับสนุน “เกษตรกรรุ่นใหม่” ที่กลับเข้ามาในพื้นที่ โดยจำลองจากรูปแบบ YEC – Young Entrepreneur Chamber ซึ่งเป็นสมาชิกหอการค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ และ Young Smart Farmer เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด จึงเป็น “กลุ่มเป้าหมาย”
 
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการ “ไทยแลนด์ริเวียร่า” เชื่อม 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันมาบรรจบกัน ผู้ว่า ฯ เชื่อส่วนตัว ว่า โครงการดังกล่าวของรัฐบาลจะสามารถเกื้อหนุนเครื่องยนต์สำคัญของจังหวัดชุมพรให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มกำลัง
 
“ชุมพรประกอบด้วย 2 เครื่องยนต์สำคัญ 1.เครื่องยนต์ท่องเที่ยว และ 2.เครื่องยนต์การเกษตร ซึ่งต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเป็นพื้นฐาน เช่น เครื่องยนต์เกษตรถ้าไม่ได้โลจิสติกส์ หรือ โครงสร้างพื้นฐานทางถนน ทางราง ก็ไปไม่รอด เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุน-ค่าใช้จ่าย”