เยาวชนกล้ายิ้มภาคใต้ สอนเรียนรู้สัตว์ป่าต่อยอดชุมชน

อาจเนื่องเพราะ โครงการ”คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ที่มีบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ “RATCH” ร่วมมือกับกรมป่าไม้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 เพราะเล็งเห็นว่าการปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีจนเกิดความยั่งยืนจะต้องเริ่มทำตั้งแต่ระดับเยาวชน

ผลเช่นนี้จึงทำให้เกิดกิจกรรม “ค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม” เป็นประจำทุกปีปีละ 2 รุ่น ทั้งนั้น เพื่อคัดเลือกเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในงานด้านการพัฒนา อนุรักษ์ด้านป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมมาเรียนรู้ถึงประโยชน์และความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ

โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับ “ป่าไม้-สัตว์ป่า-มนุษย์”

เพราะทั้ง 3 ส่วนนี้ต่างเป็นห่วงโซ่ชีวิตตามธรรมชาติ ทั้งยังเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ของประเทศไทย สำคัญไปกว่านั้นยังมีความคาดหวังว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่จะมาร่วมเป็นพลังในการปกป้องรักษาพื้นที่ป่าไม้สีเขียวของประเทศไทย เพื่อรักษาไว้ให้เป็นปอด โรงพยาบาล และซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับชุมชนต่อไป

โดยปีนี้จัดขึ้น ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า อ.เมือง จ.พังงา

“บุญทิวา ด่านศมสถิต” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บอกว่า ค่ายเยาวชนกล้ายิ้มภาคใต้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดเยาวชนกล้ายิ้ม โลกน่าอยู่ เรียนรู้สัตว์ป่าด้วยการนำคณะเยาวชนจาก 6 จังหวัดในภาคใต้ อาทิ นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, พังงา, กระบี่, ยะลา และพัทลุง รวมทั้งหมด 67 คน ซึ่งน้อง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 13-15 ปีที่มาจากการคัดเลือกจากพี่ ๆ กรมป่าไม้

“เพราะน้อง ๆ เยาวชนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้กับป่าชุมชนของตัวเอง เราจึงต้องการส่งเสริมให้พวกเขามาเข้าค่ายฝึกอบรมจำนวน 3 วัน 2 คืนเพื่อมาเรียนรู้การรักษาพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่าในชุมชนต่าง ๆ เพื่อหวังว่าพวกเขาจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมและเรียนรู้ไปปกป้องดูแลรักษาป่าไม้ และสัตว์ป่าให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป”

“เนื่องจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จ.พังงา มีสภาพพื้นที่ทางธรรมชาติขนาด 2,544 ไร่ เป็นที่ราบเชิงเขามีแหล่งน้ำตลอดปี และสภาพเป็นป่าดิบชื้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เราจึงอยากให้น้อง ๆ เหล่านี้มีโอกาสเพิ่มพูนทางวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้ และอนุรักษ์สัตว์ป่าในท้องถิ่นภาคใต้จากนักวิชาการด้านป่าไม้ และด้านสัตว์ป่าโดยตรง รวมทั้งเรียนรู้ลักษณะของสัตว์ป่า พร้อมกับศึกษาวิธีการดูแล เพาะพันธุ์สัตว์ป่าหายากต่าง ๆ อีกด้วย”

นอกจากนั้น “บุญทิวา” ยังบอกอีกว่า โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เราทำในรูปแบบของการส่งเสริมการบริหารป่าชุมชน โดยร่วมกันกับกรมป่าไม้ ภายใต้ความร่วมมือกันมาตั้งแต่ปี 2521 ที่ผ่านมาเรามีความร่วมมือกันมาแล้ว3 ฉบับ ฉบับละ 5 ปี ซึ่งฉบับที่ 3 (2561-2565) พึ่งจะเซ็นความร่วมมือไปเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ดังนั้น ภายใต้โครงการเราจึงนำป่าชุมชนมาเป็นตัวเดินเรื่อง เพราะเราเชื่อว่าการบริหารจัดการโดยชุมชนและเพื่อประโยชน์ของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ”

“ที่สำคัญป่าชุมชนมีลักษณะพิเศษ คือ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่จะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับระบบนิเวศ อันนี้เป็นจุดหลักของเรื่องนี้ ดังนั้น ตลอดช่วงที่ผ่านมาเราจึงมีกิจกรรมการประกวดป่าชุมชน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในวันที่ 21 ก.ย. จะมีพิธีมอบรางวัลการประกวดป่าชุมชนตัวอย่างระดับปรเทศ ประจำปี 2561

” เพราะการประกวดป่าชุมชนเป็น 1 ใน 3 กิจกรรมหลักของเรา โดยที่การประกวดป่าชุมชนจะมีวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่ง คือ การยกย่องเชิดชูเพื่อให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจในชุมชนของตัวเอง และชุมชนใกล้เคียงเพื่อให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์จากป่า เพื่อที่จะทำตามและขยายผลออกไป ส่วนอีก 2 กิจกรรมที่เราทำอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างเครือข่าย อย่างเครือข่ายในระดับเยาวชนก็คือ เยาวชนกล้ายิ้ม ที่เรามา จ.พังงาวันนี้”

“ส่วนอีกกิจกรรมหนึ่ง คือ การสัมมนาป่าชุมชน อันนี้เป็นเครือข่ายในการสร้างความรู้จัก ปลูกจิตสำนึกด้วยการใช้แนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการปลูกป่าในใจคน ด้วยการนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในบริบทที่ใกล้เคียงกับชุมชน เพื่อให้พวกเขาเกิดจิตสำนึกในการบริหารป่าชุมชนของตัวเองอย่างมีกระบวนการ นอกจากนั้น เราก็มีการส่งเสริมในการบริหารจัดการการอนุรักษ์ป่าชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชน และอื่น ๆ อีกมากมาย”

“บุญทิวา” กล่าวต่อว่า ปีนี้นับเป็นปีแรกที่เรานำเรื่องสัตว์ป่าใส่เข้าไปในกิจกรรม เพราะเราคิดว่าป่าไม้-สัตว์ป่า-มนุษย์เกี่ยวข้องกับความสมดุลทางธรรมชาติ จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ ที่สำคัญสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงามีการแบ่งการแสดงออกเป็น 3 โซน

หนึ่ง โซนจัดแสดง เราต้องการให้น้อง ๆ รู้ว่าสัตว์ป่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง

สอง เป็นการให้ความรู้เรื่องกฎหมาย และเรื่องสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทต่าง ๆ สาม การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหายากอย่างเลียงผา เนื่องจากที่นี่เป็นสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ามากที่สุดของเมืองไทย ทั้งยังนำสัตว์ป่าไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติมากกว่า 8 ตัวแล้ว

“นอกจากนั้น ก็มีกระจง, ไก่ป่าพันธุ์ตุ้มหูแดงที่หายาก ทางเจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่ในการเพาะพันธุ์ แต่หน้าที่อีกส่วนที่พวกเขาหนักใจ คือ สัตว์ป่าที่เป็นของกลาง หรือสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบไปเลี้ยง จนทำให้เขาบาดเจ็บแล้วแอบนำมาปล่อยทิ้ง ซึ่งสัตว์บางชนิดก็บาดเจ็บ บางชนิดก็ถูกทรมาน หรือบางชนิดก็เกิดโรคติดต่อ จนทำให้เจ้าหน้าที่เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จ.พังงาต้องนำมาดูแลและรักษากันต่อไป”

ขณะที่ “ด.ญ.อัมพุซินี ดวงแก้ว” ประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านป่าตง อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็น 1 ใน 67 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนกล้ายิ้มบอกว่า การมาเข้าค่ายครั้งนี้สนุกมากค่ะ ได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับป่าธรรมชาติ และสัตว์ป่าหายาก ทั้งยังได้รู้ว่าป่ามีคุณค่าอย่างมาก ที่สำคัญบ้านหนูอยู่ใกล้กับป่าชุมชนด้วย จึงทำให้รู้สึกผูกพันกับป่าอย่างมาก

“หนูคิดว่าหลังจากเข้าอบรมค่ายเยาวชนกล้ายิ้มเสร็จแล้ว จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้ที่บ้านด้วย อาจจะเริ่มจากการปลูกป่าแถว ๆ บ้านก่อน หรือไม่ก็ปลูกผักสวนครัวอย่างง่าย ๆ รอบบริเวณบ้าน รวมถึงความรู้ที่ได้จาการเห็นสัตว์ป่าหายากต่าง ๆ อย่างนกอินทรี, หมีควาย, จระเข้ และสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่อยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่เขาบาดเจ็บ เราก็จะนำเรื่องราวเหล่านี้ไปเล่าให้ครอบครัวและเพื่อนในโรงเรียนฟังเพื่อให้พวกเขาเห็นความสำคัญของสัตว์ป่ามากขึ้น”

อันเป็นคำตอบของ “เยาวชนกล้ายิ้ม” ที่สุขใจอย่างมากต่อการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้