ธุรกิจยั่งยืนต้องโปร่งใสด้วย 

แฟ้มภาพ

 คอลัมน์ Inside out story

โดย ปัญญ์ชลี พิมลวงศ์

 

การที่ธุรกิจจะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนจะต้องได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นสำคัญ

โดยเฉพาะสังคม หรือชุมชนที่อยู่บริเวณเดียวกับพื้นที่ของกิจการ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องเกี่ยวพันกับการดำเนินงานขององค์กรในระยะยาว

ในมิติของเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม มีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวในแง่ของ “license to operate”หรือการได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากสังคม โดยการได้มาซึ่ง license to operate นั้น จะต้องเกิดจากการได้รับการยอมรับจากสังคม หรือชุมชน

ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอเมื่อกล่าวถึง license to operate คือ บริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก และดำเนินกิจการที่อาจก่อผลกระทบทางลบให้กับสังคม เช่น การสร้างมลพิษทางน้ำ และอากาศ เป็นต้น

ดังนั้น โจทย์สำคัญของบริษัทกลุ่มนี้คือจะหากระบวนการหรือวิธีการใดในการสร้างการยอมรับจากสังคม เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในที่นี่้ผู้เขียนมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP กับชุมชนมวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นกรณีศึกษาล่าสุดที่น่าสนใจ

TPIPP เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งมีโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ตั้งอยู่ภายในพื้นที่เดียวกันกับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ (บมจ.ทีพีไอ โพลีน : TPIPL) ใน จ.สระบุรี

โดยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา TPIPP ให้ข้อมูลว่า หนึ่งในโรงไฟฟ้าของบริษัทอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน กำลังการผลิตติดตั้ง 150 MW คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ TPIPL ได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2561 (อ้างอิง : www.tpipolenepower.co.th/news.html/id/647364/group/newsroom_press)

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ปัจจุบันคือโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่สามารถเดินเครื่องได้ เพราะถูกอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีสั่งปิด ด้วยพบว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน

ขณะเดียวกัน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ TPIPP ก็ถูกชุมชนชาวมวกเหล็กต่อต้านด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่การต่อต้านการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ แต่ต่อต้านการใช้ “ถ่านหิน” ในการผลิตไฟฟ้า เพราะชุมชนกังวลว่าการใช้ถ่านหินจะสร้างมลพิษทางอากาศ อันเกิดขึ้นระหว่างการใช้รถขนส่งถ่านหิน หรือในกระบวนการผลิตที่อาจเกิดการฟุ้งกระจายของสารโลหะหนักบางชนิดที่อยู่ในถ่านหิน อันมีผลกระทบต่อร่างกาย และเกิดโรคร้ายตามมาในระยะยาว

ถึงแม้ว่าในรายงาน EHIA ของ TPIPP จะมีการศึกษาหรือโมเดลที่แสดงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ชุมชนซึ่งศึกษารายละเอียดของรายงานกลับพบว่ายังมีบางประเด็นที่ไม่ชัดเจน และสร้างความกังวลให้กับชุมชน อย่างการพบว่ามลพิษที่ปล่อยจากปากปล่องยังเกินค่ามาตรฐาน

นอกจากนั้น ชุมชนยังเห็นถึงความไม่จริงใจของ TPIPP เพราะหลังจากที่รายงาน EHIA แล้วเสร็จ ทางบริษัทจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามกระบวนการ แต่ในเวทีครั้งที่ 1 และ 2 เป็นการรับฟังความคิดเห็นชุมชนที่อยู่บริเวณรอบโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตร แล้วในครั้งสุดท้ายจึงจัดรถแห่ประกาศเชิญชวนชาวมวกเหล็กมามีส่วนร่วม

ตรงนี้จึงทำให้ชาวมวกเหล็กส่วนใหญ่เพิ่งรับทราบว่า ในชุมชนจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งพวกเขามองว่าแม้ตามกฎหมายจะระบุว่า การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้กำหนดขอบเขตไว้ที่พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบโครงการ แต่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของโครงการไม่ได้มีเฉพาะในรัศมีดังกล่าว เพราะกลุ่มผู้อ่อนไหวอย่างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือมหาวิทยาลัยก็อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ตอนนี้ชาวชุมชนมวกเหล็กได้ยื่นเรื่องคัดค้านไปยังหน่วยงานรัฐหลายแห่ง โดยมีข้อเรียกร้องคือต้องไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ กระนั้น หากบริษัทต้องการเดินหน้าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ต่อ จะต้องจัดทำรายงาน EHIA ใหม่ โดยศึกษาผลกระทบที่ครอบคลุม และขยายวงกว้างมากขึ้น พร้อมทั้งมีโมเดลที่ให้รายละเอียด
ชัดเจนว่า โครงการที่เกิดขึ้นจะไม่ก่อผลกระทบทางลบกับชาวมวกเหล็กอย่างแน่นอน

ทั้งนั้น ไม่ว่าผลสุดท้ายของกรณีนี้จะเป็นอย่างไร แต่สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจจะสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง หากได้รับความเชื่อใจ และการยอมรับจากสังคม

โดยบางองค์กรอาจใช้กลวิธีมากมายสำหรับผูกใจชุมชนในระยะแรกของการเข้าไปทำธุรกิจในพื้นที่ แต่การกระทำที่ฉาบฉวยย่อมได้มาซึ่งความเชื่อใจในระยะสั้นเท่านั้น และอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาภายหลัง หรือแม้แต่การใช้วิธีชดเชยเยียวยาชุมชนในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจก็ไม่ใช่แนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

เครื่องมือที่เป็นทางออกดีที่สุดอาจเป็น “ความโปร่งใส” ของภาคธุรกิจที่แสดงให้เห็นถึง “ความจริงใจ” ในการดำเนินกิจการ และการอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อนำมาซึ่งการได้รับการยอมรับ และการอนุญาตให้ประกอบกิจการจากสังคม


เพราะอย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นการที่บริษัทจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนจะอาศัยเพียงการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจตามกฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้ และผลกระทบที่เกิดจากการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมแสดงให้เห็นว่า การได้ “license to operate” ก็มีความสำคัญกับธุรกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน