ผู้นำยุคโลกเปลี่ยน SEAC เปิด 4 หลักสูตรสร้างองค์กร

ต้องยอมรับว่า กระแส disruptive ในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งมิติเศษฐกิจ การผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนพฤติกรรม ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ทุกองค์กรต้องกลับมาวิเคราะห์ พิจารณา เพื่อปรับกลยุทธ์และมุมมองการบริหารงานที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อพลิกเกมให้ทันต่อการแข่งขันที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

อีกทั้งเพื่อไม่ให้ถูก disrupt จากบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรืออุตสาหกรรมอื่นที่พร้อมกระโดดเข้ามาแข่งขันได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าทั้งในและต่างประเทศ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่”ผู้นำ (leader)” ที่ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการปรับทิศทาง ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มี “ภาวะผู้นำ (leadership)” ที่มีศักยภาพ รู้เท่าทันสถานการณ์ มองเห็นเทรนด์และโอกาสทางธุรกิจ ทั้งยังต้องกล้าตัดสินใจ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อนำองค์กรฝ่าวิกฤตการณ์ยุค disruption ไปสู่การเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

จากปัจจัยดังกล่าว SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงการสร้างสรรค์และพัฒนาภาวะผู้นำของบุคลากรในองค์กรของไทยและในประเทศอาเซียน จึงร่วมมือกับสถาบันเคน บลานชาร์ด (The Ken Blanchard Companies) บริษัทพัฒนาผู้นำและบุคลากรระดับโลก ที่ให้คำปรึกษาแก่ 500 องค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน (Fortune Global 500) ในการสร้างสรรค์โปรแกรม “พัฒนาภาวะผู้นำ” ผ่าน 4 หลักสูตร อันจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาองค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและอาเซียนให้ก้าวข้ามยุคการเปลี่ยนแปลง

“อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า ภาวะ disruption ในปัจจุบันถือว่ามีความรุนแรงขึ้นเป็นอย่างมากในทุก ๆ วัน ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องหันมามองตัวเองว่าจะปรับตัวอย่างไรในสภาวะเช่นนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามาอีก ยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้เข้าถึงหลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น

“ที่สำคัญคู่แข่งไม่ใช่หน้าเดิม หรือเป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน แต่หากเป็นคู่แข่งใหม่ ๆ ในธุรกิจที่ต่างกันออกไปที่จะสามารถ disrupt ได้ทันที อย่างเช่นคู่แข่งของห้างสรรพสินค้าที่วันนี้ไม่ใช่ห้างหรือศูนย์การค้าด้วยกันเองแล้ว หากแต่เป็น platform company อย่าง Alibaba, Amazon หรือธุรกิจธนาคาร ที่คู่แข่งปัจจุบันคือ Alipay เป็นต้น”

“ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ จึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่า จะใช้ศักยภาพหรือความสามารถเดิมที่มีอยู่ในการต่อสู้กับความรุนแรงของ disruption ได้อย่างไร และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทุกองค์กรต่างต้อง reskill บุคลากร รวมถึงสร้างภาวะผู้นำให้กับคนในองค์กร แต่ก่อนอื่นอาจจะต้องเข้าใจความหมายของคำว่าผู้นำ (leader) กับภาวะผู้นำ (leadership) ก่อน เพราะคำว่า ผู้นำส่วนมากจะหมายถึงตำแหน่งหน้าที่การงาน ส่วนภาวะผู้นำจะเป็นเรื่องของสิ่งที่เป็นรูปธรรม เกี่ยวข้องกับวุฒิภาวะ ซึ่งรวมรายละเอียดของบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยการวางตัว แนวความคิด ตลอดจนมุมมองและวิธีการแก้ไขปัญหามารวมไว้ด้วยกัน โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือแม้แต่เพศ หรือวัยใดวัยหนึ่งเท่านั้น”

“ฉะนั้นภาวะผู้นำจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้และเร่งพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ก้าวทันทุกการเปลี่ยนแปลง และพร้อมขับเคลื่อนพลวัตของกลุ่มและทุกองคาพยพขององค์กรให้สามารถดำเนินงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในยุคปัจจุบัน”

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย “อริญญา” บอกว่า บ้านเรามีผู้นำเป็นจำนวนมาก แต่ขาดภาวะผู้นำ และส่วนใหญ่มุ่งอบรมพัฒนาเฉพาะ leader ที่แบ่งด้วยตำแหน่ง หน้าที่ จึงไม่สามารถนำนวัตกรรมทางความคิดออกมาประยุกต์ใช้ร่วมกับสถานการณ์และรูปแบบเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันได้อย่างทันท่วงที ซึ่งในความเป็นจริง บุคลากรทุกระดับมีภาวะผู้นำได้ เพราะทุกคนมี point of power คือศักยภาพในการเป็น influence ให้กับคนอื่นได้ โดยไม่ได้ยึดติดแต่กับแค่ตำแหน่งเท่านั้น

“หัวใจสำคัญของหลักสูตรนี้คือการนำประสบการณ์จริงในโลกธุรกิจและงานวิจัย ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าทำได้จริง มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับผู้นำองค์กรที่เข้าร่วมอบรม เพื่อนำเสนอมุมมอง ความคิด สำหรับการมีภาวะผู้นำที่ดี ทั้ง mindset และ skillset เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้นำองค์กรและบุคลากรทุกระดับเกิดความมุ่งมั่นและตระหนักรู้ในการพัฒนาภาวะผู้นำของตนเอง เพื่อให้ดึงศักยภาพของตนที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้กับองค์กร ให้สามารถเป็นผู้นำในวงการธุรกิจในยุค disruptive ได้”

“ฮาเวิร์ด ฟาร์เฟล” ประธานสถาบันเคน บลานชาร์ด กล่าวเสริมว่า ความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันนับเป็นความท้าทายอย่างมากที่ทุกองค์กรต้องเผชิญ แต่อยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวได้รวดเร็วและมากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการค้นหาโอกาสและแบบอย่างในการพัฒนา รวมถึงความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ ๆ

“จากประสบการณ์การให้คำปรึกษาแก่องค์กรชั้นนำของโลกมากมายมามากกว่า 40 ปี เราพบว่ามีหลาย ๆ องค์กรที่ผู้นำ และบุคลากรในองค์กรยังติดกับดักของตัวเอง ทำให้ประสิทธิภาพไม่เกิด และประสิทธิผลไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อีกทั้งยังทำให้หมดความมุ่งมั่นในการนำองค์กรไปสู่จุดมุ่งหมาย ล้มลงกลางทาง ดังนั้นการเติมเต็มภาวะผู้นำจึงเป็นเรื่องที่หลาย ๆ องค์กรไม่ควรมองข้าม”

“ด้วยเหตุนี้เราจึงนำทฤษฎีภาวะผู้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นผู้นำที่เท่าทันโลกได้อย่างครอบคลุม จึงเป็นที่มาของหลักสูตรทั้ง 4 หลักสูตร ได้แก่ 1.Self Leadership 2.Situational Leadership? II Experience 3.Management Essentials และ 4.Coaching Essentials?”

“ที่ผ่านมาโปรแกรมพัฒนาภาวะผู้นำของเราถือว่าได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีจากองค์กรระดับโลกที่เข้าอบรมและนำไปใช้งานจริง ทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงได้จริง ไม่ว่าจะเป็น American Express, Apple และ SAP AG โดยมีการวัดของทั้ง 4 หลักสูตร คือต้องเกิดภาษาเดียวกัน (common language) ในการขับเคลื่อนองค์กร เกิดความรวดเร็วมากขึ้นในการปรับตัว หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร และต้องลดปัญหาสมองไหลของบุคลากร ซึ่ง common language ที่เกิดขึ้นสามารถใช้ได้กับทุกวัฒนธรรม ไม่จำกัดโลกตะวันตกหรือโลกตะวันออก”

สำหรับหลักสูตรในไทยจะพิเศษมากขึ้น เพราะเราเชื่อมั่นว่า SEAC ซึ่งเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของ The Ken Blanchard Companies ในประเทศไทยจะสามารถประยุกต์เนื้อหาให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของประเทศไทยและประเทศอาเซียนได้


ทั้งนี้ ที่ผ่านมา SEAC เริ่มต้นอบรมและส่งต่อองค์ความรู้ให้กับองค์กรมากกว่า 20 องค์กร ไม่ว่าจะเป็นเครือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), เครือข่ายแมนพาวเวอร์กรุ๊ป, บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้านครหลวง, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นต้น