ออสการ์แห่งเอชอาร์ 12 องค์กรคว้าสุดยอดนายจ้าง

โครงการเอออน สุดยอดนายจ้างดีเด่น อาจเปรียบเหมือนออสการ์แห่งวงการเอชอาร์ ที่หลายองค์กรอยากได้มาครอบครอง เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องการันตีคุณภาพการบริหารองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องความสุขของคนทำงานแล้ว ยังเป็นการสร้างแบรนดิ้งที่ดึงดูดคนเก่ง ๆ มาร่วมงานอีกด้วย

โดยเวทีดังกล่าวดำเนินงานมากว่า 18 ปี ใน 10 ประเทศภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง จัดทำโดยเอออนที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กร และทรัพยากรบุคคลผู้เชี่ยวชาญระดับโลก แต่สำหรับประเทศไทยมีการร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อไม่นานผ่านมามีการประกาศรายชื่อ 12 องค์กรที่ได้รับการขนานนามให้เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี 2561

“ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ” ผู้อำนวยการโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย และคันทรี่ ลีดเดอร์ บริษัท เอออน ประเทศไทย กล่าวว่าปีนี้มีความตื่นตัวเกี่ยวกับโครงการสุดยอดในประเทศไทยมากขึ้น มีผู้สมัครมาร่วม 100 องค์กร และผ่านการคัดเลือก 40 องค์กร จนได้ 12 องค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี 2561

โดยที่สุดแห่งสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด

ส่วนรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ได้แก่ บริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด, บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด, บริษัท ซีพีแรม จำกัด, บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, โรงพยาบาลพญาไท, บริษัท เอสเอพี ซิสเต็มส์ แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ โปรดักส์อิน ดาต้า โปรเซสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด, เทสโก้ โลตัส และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือมีการได้รับรางวัลของกลุ่มบริษัทมากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นรายบริษัท และมีองค์กรใหม่ที่ได้รับรางวัลครั้งแรกในปีนี้คือบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีแรม จำกัด

ดังนั้น หลักเกณฑ์การให้รางวัลจึงมีการวัดผ่าน 4 เสาหลักดังนี้

หนึ่ง พนักงานต้องมีความผูกพันกับบริษัท โดยเหล่าสุดยอดนายจ้างมักมีคะแนนความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรมากถึง 86 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่องค์กรทั่วไปมีคะแนนเพียง 62 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังมีคะแนนเฉลี่ยถึง 23 คะแนน

สอง ภาพลักษณ์นายจ้าง

สาม ผู้นำมีประสิทธิภาพ

สี่ วัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์

“ส่วนการเก็บข้อมูลเราเน้นการให้คะแนนฟังจากเสียงของพนักงาน และดูระบบเอชอาร์ว่าความสอดคล้องกับเป้าหมายก่อน จึงให้ค่าคะแนนเชิงปริมาณ ทั้งนี้มีหลายบริษัทที่ได้รับรางวัลมากกว่า 1 ประเทศ และถ้าบริษัทใด ๆ ได้รับถึง 3 ประเทศจะมีรางวัลพิเศษระดับภูมิภาคให้ด้วย เช่น บริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส จำกัด ที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2561 หลังจากที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์เมื่อเร็ว ๆ นี้”

“ส่วนรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นระดับโลก ประจำปี 2561 ได้แก่กลุ่มโรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล และแมริออท เวเคชั่น คลับ ประเทศไทย”

“ดร.อดิศักดิ์” กล่าวต่อว่าเทรนด์ขององค์กรเริ่มมีคนเจเนอเรชั่น Y เข้ามาทำงานเป็นสัดส่วนมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของความท้าทายในการทำให้พวกเขามีความผูกพันกับองค์กร และทำงานในระยะยาว ดังนั้น การบริหารองค์กรจะทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนวิธีการมอง การคิด กรอบการดำเนินงานดูแลเรื่องคน สิ่งที่เราเห็นหลัก ๆ คือวัฒนธรรมเป็นปัจจัยในการเข้ามาช่วยหล่อหลอมพนักงานให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ

“โดยเหล่าบรรดาสุดยอดนายจ้างที่มีความผูกพันในองค์กรสูง มักวางกลยุทธ์ด้านผลตอบแทนที่ไม่ใช่เพียงตัวเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพอีกด้วย ซึ่งพนักงานจำนวนกว่าร้อยละ 79 ขององค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างต่างรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการยกย่องชมเชยในความทุ่มเทอย่างเหมาะสม (สูงกว่าอัตราโดยเฉลี่ยขององค์กรทั่วไปถึง 25 คะแนน) ขณะที่ผู้นำองค์กรต้องมีความเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ เข้าใจความต้องการของลูกน้อง และทำงานแบบ win win คือช่วยลูกน้องไปถึงฝั่งฝัน เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรไปพร้อมกัน”

แต่ทั้งนั้น ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และตลาดแรงงาน จึงทำให้บรรดาสุดยอดนายจ้างต้องเร่งให้ความสำคัญในการลดระยะเวลาการหาคน องค์กรต่าง ๆ เริ่มสนับสนุนให้ดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อให้เกิดพลังแห่งความร่วมมือ มีการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ และการปรับปรุงคอร์สอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

สิ่งสำคัญคือเรื่องของ big data ที่ฝ่ายเอชอาร์ต้องเรียนรู้ที่จะเอามาใช้ในการเก็บข้อมูลของพนักงานทุกคน เพื่อวิเคราะห์ (people analytic) สรรหา และพัฒนา โดยจุดอ่อนขององค์กรไทยคือยังเก็บข้อมูลต่าง ๆ อย่างกระจัดกระจาย ดังนั้น การจะนำข้อมูลต่าง ๆ มาเชื่อมโยงวิเคราะห์ จึงเกิดความยากลำบาก

“รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข” รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่าโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยทำให้เกิดการยกระดับเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคล สิ่งที่ทางศศินทร์เข้ามาดูแลภายในโครงการคือด้านวิชาการ การวิจัย และให้คำปรึกษา

“ส่วนเรื่องของภาคสนามจะเป็นบทบาทของทางเอออน ซึ่งพอเรามารวมตัวกัน และทำงานร่วมกับซีอีโอจากองค์กรต่าง ๆ จึงเป็นสามเหลี่ยมที่ประกอบด้วย 3 ฝ่ายแห่งความร่วมมือที่สมบูรณ์”

“สมัยแรก ๆ หลายองค์กรกลัวที่จะเข้าร่วมโครงการ เพราะไม่มั่นใจเรื่องผลคะแนน เราพยายามกระตุ้น สร้างความเข้าใจ ให้มองเห็นถึงประโยชน์ระยะยาว และปรับเนื้อหาให้เข้ากับองค์กรไทย จนตอนนี้หลายองค์กรเห็นถึงความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการ โดยนับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่ปีนี้มีมากกว่า 500 องค์กรสนใจสมัครเข้าร่วม แต่ทางโครงการไม่สามารถที่จะรองรับได้ทั้งหมด จุดนี้แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการบริการบุคคลไม่ใช่เรื่องของแค่ฝ่ายบุคคลเท่านั้น แต่ระดับซีอีโอที่มาร่วมงานตื่นตัวเป็นอย่างมาก”

“เพราะการเข้าร่วมโครงการทำให้รู้จุดแข็ง จุดอ่อนขององค์กร ทำให้เกิดการพัฒนา แก้ไขระดับความผูกพันของพนักงานกับองค์กรให้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นตัวสร้างแบรนดิ้งที่ดี ช่วยดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานอีกด้วย เพราะเมื่อองค์กรเริ่มมีระดับความผูกพันของพนักงานเพิ่มสูงขึ้น พนักงานจะพูดถึงแต่สิ่งดี ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน มีความพยายามในการทำงานอย่างมาก และวางแผนถึงการอยู่กับองค์กรในระยะยาว ซึ่งช่วยทำให้ผลประกอบการทางธุรกิจดีมากยิ่งขึ้น”

สำหรับสุดยอดนายจ้างดีเด่นช่วยให้องค์กรไทยสามารถเห็นถึงจุดที่ตนเองอยู่เมื่อมีการสร้างความผูกพันกับพนักงาน ท่ามกลางองค์กรอื่น ๆ ในตลาดได้ง่ายดายมากขึ้น ทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจในการพัฒนาบุคลากรดีขึ้น รวมถึงบรรลุเป้าหมายขององค์กร แต่ขณะเดียวกัน ยังสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงานตรงตามที่เหล่าพนักงานคาดหวังอีกเช่นกัน

“รศ.ดร.ศิริยุพา” กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการสำรวจ และวิจัยทำให้เห็นแนวทางของเอชอาร์ที่เป็นผลกระทบมาจาก megatrends ในเรื่องการดำเนินธุรกิจที่ข้ามมาฝั่งเอเชียมากขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ฝั่งตะวันตก ระบบแรงงานจึงเกิดความสมดุลมากขึ้นบนโลก เพราะฉะนั้น การบริหารบุคลากรจะอิงวัฒนธรรมทางฝั่งตะวันตกอย่างเดียวไม่ได้

“นอกจากนั้น ยังมีเรื่องความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ทำให้เราไม่สามารถยึดติดกับการบริหารคนรูปแบบเก่า ๆ ความไม่แน่นอนจึงเป็นความท้าทายที่เอชอาร์ต้องเผชิญ และรูปแบบการทำงานที่มีผลต่อการทำงานของเอชอาร์ในระดับโลกคือความยืดหยุ่น เพราะว่าเราไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น บวกกับพนักงานที่มีความต้องการหลากหลาย ทั้งคนวัยเกษียณที่กลับมาทำงานใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกัน

“ดังนั้น การบริหารงานบุคคลจะต้องหลากหลายตามไปด้วย นอกจากนั้น จะต้องมีความอดทน และสุดท้ายต้องมีการบริหารแบบรายบุคคล ยืดหยุ่นด้านผลตอบแทน และสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมไปถึงเวลาการทำงาน ถึงจะทำให้ทุกอย่างหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน”

จนทำให้ภาพของงานบริหารทรัพยากรบุคคลสมบูรณ์อย่างที่เห็น