Exclusive “แจ็ก หม่า” ไขปริศนาคำพูดก้องโลก “ผมจะกลับไปเป็นครูอีกครั้งในวันหนึ่ง”

ในการประชุม XIN Philanthropy ประจำปี 2018 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อไม่กี่วันผ่านมา “ประชาชาติธุรกิจ” เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับเดียวจากเมืองไทยที่มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ พร้อม ๆ กับสื่ออีกหลายประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ เพราะประเด็นของการพูดคุยไม่เพียงกล่าวถึงหัวข้อ “The Power of Small” หรือ “พลังจากสิ่งเล็ก ๆ”  ที่มี “แจ็ก หม่า” ประธานกรรมการบริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป มาร่วมพูดคุยถึงเรื่อง “ความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนบนโลกใบนี้”

หากเขายังพูดถึงเรื่องมูลนิธิแจ็ก หม่า ในบทบาทของการผลักดัน “โครงการครูใหญ่ชนบท” ที่ไม่เพียงเกี่ยวโยงกับเรื่องการศึกษาของเยาวชน และครูในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ

“แจ็ก หม่า” ยังจุดประเด็นเรื่องการกลับไปเป็นครูอีกครั้งในวันหนึ่ง จนกลายเป็นเหตุให้สำนักข่าวต่างประเทศต่างประโคมข่าวว่า “แจ็ก หม่า” จะลาออกจากอาลีบาบา กรุ๊ป เพื่อหลีกทางให้ผู้บริหารรอง ๆ ลงมาเข้าบริหารอาลีบาบา กรุ๊ปแทน

ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ทั้งหมด

เพราะวันนั้น “แจ็ก หม่า” อภิปราย 2 ช่วง โดยช่วงแรกก่อนที่จะจบสัมมนาภาคเช้า เขาขยายความในหัวข้อ “The Power of Small” โดยเขาพูดถึงเรื่องบทบาทของพลังจากสิ่งเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม โดยในส่วนนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ตัดลงข่าวออนไลน์ไปก่อนหน้าแล้ว ส่วนช่วงที่ 2 ก่อนปิดงานสัมมนาในตอนบ่าย เขาพูดถึงเรื่อง “โครงการครูใหญ่ในชนบท” ที่มีมูลนิธิแจ็ก หม่า เป็นผู้ขับเคลื่อน


“ผมทิ้งเส้นทางอาชีพครูมาหลายปี และกลายเป็นมือสมัครเล่นในสาขาการศึกษา แต่การฝึกอบรมวิชาชีพครูนั้นมีประโยชน์ต่อเส้นทางของผมกับอาลีบาบาเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงรู้สึกอยู่เสมอว่า ตัวผมนั้นยังเป็นมือสมัครเล่นในภาคธุรกิจ ผมแค่เลือกเส้นทางการเป็นเจ้าของธุรกิจโดยบังเอิญ และกลายเป็นนักธุรกิจมาตลอดช่วง 20 ปี ผมคิดว่าผมจะกลับไปเป็นครู

อีกครั้งในวันหนึ่ง เพราะการเป็นครูเป็นสิ่งที่ทำให้ผมสบายใจ ในอนาคตผมจะหวนคืนสู่สาขาการศึกษา พร้อมกับอุทิศความคิด และพลังงานของผมให้สาขานี้”

คำพูดดังกล่าวเป็นคำพูดฉบับเต็มที่ “แจ็ก หม่า” พูดบนเวทีสัมมนา “The Power of Small” จนทำให้สำนักข่าวต่างประเทศตีความ และนำไปถามเขาจนทำให้เกิดกระแสข่าวตามมามากมายว่า เขาจะลงจากตำแหน่งประธานอาลีบาบา กรุ๊ป เพื่อไปเป็นครูจริง ๆ หรือฉะนั้น คำพูดต่อจากนี้ไป คือ สิ่งที่ “แจ็ก หม่า” อภิปรายผ่านบนเวทีสัมมนาในตอนบ่ายที่ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมมาแบบ “คำต่อคำ” เพื่อให้เห็นชุดความคิดของเขาทั้งหมดเกี่ยวกับความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาเยาวชน และครูชนบทต่อเรื่องการพัฒนาการศึกษาในอนาคตของสาธารณรัฐประชาชนจีน

เบื้องต้น “แจ็ก หม่า” กล่าวว่า การที่เราสามารถโน้มน้าวใจคนคนหนึ่งด้วยคำพูด และความคิด เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ยิ่งถ้าคุณสามารถโน้มน้าวใจครูใหญ่ และครูใหญ่ท่านนี้สามารถโน้มน้าวใจครูอื่น ๆ ได้อีก 20-30 คน ครูแต่ละคนจะสามารถโน้มน้าวใจนักเรียนได้ อาจจะหลายสิบคน หรือหลายร้อยคน

“ผมทิ้งเส้นทางอาชีพครูมาหลายปี และกลายเป็นมือสมัครเล่นในสาขาการศึกษา แต่การฝึกอบรมวิชาชีพครูนั้นมีประโยชน์ต่อเส้นทางของผมกับอาลีบาบาเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงรู้สึกอยู่เสมอว่า ตัวผมนั้นยังเป็นมือสมัครเล่นในภาคธุรกิจ ผมแค่เลือกเส้นทางการเป็นเจ้าของธุรกิจโดยบังเอิญ และกลายเป็นนักธุรกิจมาตลอดช่วง 20 ปี ผมคิดว่าผมจะกลับไปเป็นครูอีกครั้งในวันหนึ่ง เพราะการเป็นครูเป็นสิ่งที่ทำให้ผมสบายใจ ในอนาคตผมจะหวนคืนสู่สาขาการศึกษา พร้อมกับอุทิศความคิด และพลังงานของผมให้สาขานี้”

“เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และยังมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก เพราะยุคแห่งการปฏิวัติทางเทคโนโลยีทำให้เกิดความกังวลว่า เทคโนโลยีและเครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่ และถึงขั้นควบคุมมนุษย์ในวันหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความกังวลเช่นนั้นไม่สำคัญ เพราะมนุษย์จะกล้าแกร่งขึ้นไปตลอดกาล เครื่องจักรไม่สามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ เครื่องจักรมีชิป แต่มนุษย์มีหัวใจ หัวใจนี้คือที่มาของปัญญา มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป”

“ถึงกระนั้น สิ่งหนึ่งที่แน่นอน คือ วิธีจัดการศึกษา ที่ดำเนินมาตลอด 200-300 ปีนั้น มีไว้เพื่อรองรับยุคอุตสาหกรรม แต่สำหรับยุคข้อมูล ข่าวสาร เราควรให้การศึกษาลูกหลานของเราในวิธีที่แตกต่างไป เยาวชนในอนาคตควรเรียนรู้ที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ เปี่ยมล้ำนวัตกรรม และมีความคิดริเริ่ม ซึ่งต่างจากการศึกษาตามแบบแผนเดิม หากเครื่องจักรสามารถทำในสิ่งที่เราเรียนมาได้ดีกว่าแล้ว เราจะถูกผลักห่างออกไป”

นอกจากนั้น “แจ็ก หม่า” ยังยกตัวอย่างเรื่องการแข่งขันระหว่าง Alpha Go กับมนุษย์ อย่าเล่นเกมโกะ (หมากรุก) กับเครื่องจักร เพราะคุณจะแพ้แน่นอน เครื่องจักรมีความจำที่ยอดเยี่ยมมาก พวกมันสามารถคำนวณได้เร็วกว่าคุณ และพวกมันจะไม่รู้สึกขุ่นเคือง นับตั้งแต่วันแรกที่มีการคิดค้นรถยนต์ขึ้นมา คุณก็รู้อยู่แล้วว่าคุณจะไม่มีวันแซงรถยนต์ได้ การเล่นเกมโกะกับเครื่องจักรเองก็ไม่แตกต่างจากการทำให้ตัวเองขายหน้า

“แล้วมีสาขาไหนที่มนุษย์จะเป็นที่ชนะตลอด คำถามนั้นคือสิ่งที่ทำให้เราต้องพิจารณาถึงการศึกษาในอนาคต เราเคยพูดกันถึงเรื่องความฉลาดทางความรัก (love quotient-LQ) ที่เพิ่มเข้ามา นอกเหนือจาก IQ และ EQ คนที่มี LQ ที่ดีเท่านั้น ถึงจะดึงดูดคนและทรัพยากร”

ผลตรงนี้ จึงทำให้ “แจ็ก หม่า” มองว่า จีนไม่ใช่ประเทศที่กำลังประสบปัญหาด้านการศึกษาอยู่ประเทศเดียวทั่วโลกก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน อะไรคือทรัพยากรยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศเรา ไม่ใช่ถ่านหิน ไม่ใช่น้ำมัน แต่เป็นมันสมองของเด็กที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จำนวน 20 ล้านคนทุกปี ประเทศจีนมีเด็กเกิด 20 ล้านคน และอาจมีจำนวนเด็กทั่วโลกที่เกิดในแต่ละปีถึง 100-200 ล้านคน เราพัฒนามันสมองของเด็กเหล่านี้อย่างไร เราควรใช้แนวทางการศึกษาแบบใดเพื่อพัฒนา IQ, EQ และ LQ ของพวกเขา สิ่งนี้คือความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา และยังเป็นโอกาสยิ่งใหญ่ที่สุด ณ ตอนนี้ด้วย

“ไม่มีใครสามารถพรากสิ่งที่อยู่ในสมองของเราไปได้ คนรวยอาจล้มละลาย อาจถูกหลอกเงิน แต่ไม่มีใครสามารถขโมยความรู้จากมันสมองของลูกหลานเราได้ ร่างกายที่ดี ควรมาพร้อมกับการศึกษาที่ดี ถ้าเช่นนั้นเราสามารถดูแลเด็ก 20 ล้านคน ที่เกิดขึ้นในจีนในแต่ละปีได้อย่างไร ก่อนหน้านี้ เราลงทุนทรัพยากรจำนวนมากไปกับการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท”

“ซึ่งในความเห็นของผม นี่ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เราควรลงทุนทรัพยากรไปกับอนุบาล, ประถม, มัธยมต้น และมัธยมปลายมากกว่า เพื่อพัฒนานิสัยการเรียนรู้ที่ดีของเด็กตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เมื่อมาถึงคำถามที่ว่าเราควรจะลงทุนทรัพยากรด้านการศึกษาในเมือง หรือในพื้นที่ด้อยโอกาส ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าระดับการศึกษา และการพัฒนาของประเทศนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนชั้นนำ แต่อยู่ที่คนระดับล่าง สิ่งที่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นระดับการพัฒนาของประเทศหนึ่ง ๆ คือ เราพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาในหมู่บ้านห่างไกลได้ดีเท่าใด และขึ้นอยู่กับว่ามีทรัพยากรการศึกษาที่เพียงพอในพื้นที่ด้อยโอกาสหรือไม่”

“การศึกษาในชนบทจะต้องพัฒนา ประเทศจึงจะก้าวหน้าไปได้ดี เป้าหมายที่แท้จริงของการบรรเทาความยากจน คือ สนับสนุนการพัฒนาผู้คน เพื่อที่พวกเขาจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความมั่นใจ และมีความสามารถ ผมไม่ดูฟุตบอล แต่ผมสนใจในสปิริตของความเป็นทีม เหตุผลที่ให้เด็ก ๆ เล่นกีฬาก็เพื่อให้พวกเขาได้สัมผัสกับความผิดพลาด ไม่มีใครชนะไปได้ตลอด กีฬาที่แท้จริงเป็นเรื่องของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งหมายถึงการขจัดความเป็นปัจเจกออกไป”

“เราจะช่วยเด็กที่เกิดในแต่ละปีจำนวน 20 ล้านคน ให้เป็นตัวของตัวเองในแบบที่ดีที่สุดได้อย่างไร เราควรให้พวกเขาพัฒนาในด้านที่แต่ละคนทำได้ดี เพราะปัญหาการศึกษาของจีน และของโลก ทุกคนนั้นแตกต่างกัน ทุกคนมีพรสวรรค์แตกต่างกันออกไป การศึกษาควรคำนึงถึงวิธีช่วยให้แต่ละคนสามารถปลดปล่อยความสามารถของตนเอง และได้รับการยอมรับ”

“แจ็ก หม่า” จึงมองว่า ผมไม่คิดว่าการนั่งทำการบ้าน 3 ชั่วโมง จะทำให้การเรียนของเด็กสมบูรณ์ ถ้าเขา, เธอไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ หลังจากใช้เวลา 6 ชั่วโมง ในแต่ละวันที่โรงเรียน เด็กไม่เหมือนกันก็ควรทำกิจกรรมที่แตกต่างกันไปหลังเลิกเรียน พวกเขาควรเล่นกีฬา พวกเขาควรลองเข้าสู่โลกของศิลปะผู้ปกครองชาวจีนบางคนคิดว่าการเล่นกีฬาส่งผลต่อการเรียน จริง ๆ แล้วกีฬามีประโยชน์ต่อการเรียน

“ผมทราบมาว่า หลักวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ว่า กีฬาสามารถเพิ่มระดับออกซิเจนในสมอง และพัฒนาความจำ รวมถึงความสามารถในการตั้งสมาธิการเรียน และกีฬาไม่ขัดกันและกัน สิ่งที่เรากำลังหาในแวดวงการศึกษาจริง ๆ แล้ว คือ คนที่เก่งทั้งด้านการเรียนและกีฬา เมื่อไม่นานมานี้ ผมเสนอการรื้อถอนและการบูรณาการโรงเรียนชนบท แล้วก็พบกับกระแสคัดค้าน แต่ครั้งหนึ่งผมไปเยี่ยมหมู่บ้านในชนบทที่เกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในมณฑลเสฉวน เมื่อปี 2008 และพบว่าไม่มีอะไรเหลือในหมู่บ้านเลย ทางการท้องถิ่นให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบพักอยู่ในพื้นที่ต่อ”

“ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ชาวบ้านอาจตั้งรกรากที่นั่นเมื่อหลายร้อยปีก่อนเพราะมีวิกฤต และเมื่อก่อนมีเพียงสองครัวเรือนเท่านั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หมู่บ้านอาจจะขยายตัวออกเป็นหลายร้อยครัวเรือน และก็มีทรัพยากรท้องถิ่นไม่พอต่อการเลี้ยงดูครัวเรือนเหล่านี้อีกต่อไป ผู้คนจึงควรย้าย เมื่อมีเหตุผลให้ย้าย เมื่อเด็กย้าย ผู้ใหญ่จึงจะย้ายตามมา”

“มีปัญหาในการศึกษาชนบทของเราเป็นจำนวนมาก แต่สาขานี้ก็เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาส ตอนที่ผมเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรก 23 จาก 24 คนในชั้นเรียนของผมมาจากหมู่บ้านในชนบท แต่ปัจจุบันมีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เป็นชาวบ้านชนบทแท้ ๆ น้อยลงเรื่อย ๆ เราต้องหาสาเหตุให้พบ เด็กในชนบทมีพรสวรรค์หลายประการ ทั้งด้านดนตรี, ศิลปะ, กีฬา ดังนั้น ในด้านการศึกษามูลนิธิแจ็ก หม่า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาของเด็กในด้านดนตรี, ศิลปะ และกีฬา นักเรียนควรเริ่มพัฒนาทั้ง 3 ด้านนี้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล”

“เพราะคำว่าการศึกษาในภาษาจีน ประกอบด้วย ตัวอักษรที่แปลว่าสอน และอบรมเลี้ยงดู โรงเรียนของเราสมัยนี้ให้ความสำคัญกับการสอนมากเกินไป และไม่ได้สนใจการอบรมเลี้ยงดู ผมมองว่าการอบรมเลี้ยงดูเป็นเรื่องของศีลธรรม และลักษณะ เสน่ห์ของคนคนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่า เขา, เธอได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างไร คนที่ฉลาดอาจจะขาดการอบรมเลี้ยงดู”

ผลตรงนี้จึงทำให้ “แจ็ก หม่า” เชื่อว่า เด็ก ๆ ของเราต้องการกีฬาเพื่อที่พวกเขาจะได้พัฒนาความชื่นชอบในการทำงานเป็นทีม ถ้าพวกเขาไม่รู้จักการทำงานเป็นทีม พวกเขาจะสามารถทำงานร่วมกับผู้คนจากที่ต่าง ๆ ของโลกได้อย่างไร พวกเขาจะเป็นที่ยอมรับของคนอื่นได้เช่นไร ไม่มีประโยชน์ในการอบรมเลี้ยงดูคนที่คนอื่น ๆ ไม่ชอบ เราต้องให้ความสนใจกับส่วนการอบรมเลี้ยงดู ในการศึกษาของจีน การศึกษาไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของโรงเรียนเท่านั้น ครอบครัว และสังคม ยังมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องการศึกษาด้วย

“ด้านพัฒนาการศึกษาชนบท โรงเรียนประถมหลายแห่งในพื้นที่ยากไร้ของจีนนั้นว่างเปล่า ใครกันจะเต็มใจไปสอนในโรงเรียนที่มีนักเรียนแค่ 6-7 คน ในชั้นที่แตกต่างกัน 4 ชั้น เราต้องการให้ครูชนบทได้รับการนับถือ เราไม่สามารถให้พวกเขาเดินทางไปหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลเพื่อไปสอนนักเรียนแค่ 4-5 คน โดยไม่มีเงินเดือนให้ ผมคิดว่าสภาพแวดล้อมที่ขัดสนของการสอนในชนบทเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมต่อครูชนบทเลย”

“ด้วยจำนวนนักเรียนที่น้อย และการขาดครูที่เต็มใจจะไปสอนในหมู่บ้านเหล่านั้น ผมสนับสนุนการบูรณาการโรงเรียนชนบทเพื่อรวมทรัพยากรการสอน กระทั่งทรัพยากรทางสังคม แม้จะมีเสียงคัดค้าน เราจะยืนหยัดเพื่อสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องต่อไป เหมือนกับที่อาลีบาบาพัฒนามาตลอด 19 ปี ผมจึงขอให้พวกท่านทุกคนให้ความสำคัญแก่ครูชนบท การปฏิรูปครูชนบทจะแสดงถึงความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ของประเทศเรา”

“คุณสามารถบอกได้ทันทีว่า ใครขาดสารอาหาร แต่ถ้าคุณสามารถบอกได้ว่า ใครกันที่ขาดการศึกษา คุณจะประหลาดใจทันทีที่เห็นว่าประเทศของเรากำลังประสบปัญหาการขาดไร้ประสิทธิภาพด้านการศึกษา การขาดไร้ประสิทธิภาพเช่นนั้นจะนำมาซึ่งปัญหาแก่สังคมอย่างแน่นอน การดูแลลูกของคุณให้ดีนั้นยังไม่พอ ในอนาคตในหมู่เด็กรุ่นเดียวกันจะมีกลุ่มคนจำนวนมากที่ขาดการศึกษา เพื่อลูกของคุณ และอนาคตของเรา กรุณาให้ความสำคัญกับครูชนบท”

ดังนั้น “แจ็ก หม่า” จึงมองว่าการแก้ปัญหาของโรงเรียนในชนบทเป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างแท้จริง เราต้องการใครสักคนที่อย่างน้อยก็พยายามทำผิดพลาด และช่วยรับมือกับปัญหานั้น เพราะครูคือวิศวกรทางจิตวิญญาณ แต่มีกี่คนกันที่รับเงินเดือนเท่ากับวิศวกร มีกี่คนกันที่รู้สึกว่าพวกเขากำลังทำอะไรที่ยิ่งใหญ่อยู่ มูลนิธิแจ็ก หม่าจึงบอกว่าการศึกษาคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่เราเคารพ เราจะรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากคุณจะมีส่วนร่วมในการกระทำครั้งนี้

“ซึ่งทำได้ง่าย ๆ ด้วยการฟัง, สังเกต และให้ความสำคัญแก่เด็กที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และครูชนบท จะเป็นสิ่งที่คุณสามารถมีส่วนร่วมในการศึกษาของจีนได้”

อันเป็นคำตอบของ “แจ็ก หม่า” ที่มองโลกการศึกษาของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่น่าจะนำมาเชื่อมโยงกับโลกการศึกษาของประเทศอื่น ๆ ในโลกได้อย่างน่าสนใจจริง ๆ