ผู้นำความยั่งยืน โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ CSR TALK

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 

จากการสำรวจของ “Global Consumer Executive Top of Mind” ประจำปี พ.ศ. 2561 ความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูง 530 รายใน 28 ประเทศ ระบุถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่สำคัญในอีก 2 ปีข้างหน้า หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญกับการวางแผนกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม และสังคมมากขึ้น

ซึ่งการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ หรือบริการจะพิจารณาจากการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวขององค์กรธุรกิจเป็นประเด็นหลักตรงกับข้อมูลของ “Monitoring and Evaluation Top 10” ที่ระบุว่านักลงทุนให้ความสนใจกับการลงทุนทางสังคมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

การวางแผนกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ผู้บริหารระดับสูงมีบทบาทสำคัญมากที่ต้องเริ่มจากการกำหนดทิศทางให้ชัดเจน กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกันเพื่อไปสู่เป้าหมาย โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้นำที่จะสร้างความยั่งยืนไว้ดังนี้คือ

หนึ่ง เป็นคนเปิดกว้าง พร้อมรับกับความคิดใหม่ ๆ เพราะการทำงานด้านสังคมมีเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากการทำธุรกิจ อาจกล่าวได้ว่าผู้บริหาร และทีมงานต้องเรียนรู้ใหม่เกือบทั้งหมด การเปิดมุมมองไม่ยึดติดกรอบเดิม ๆ จึงเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่สำคัญมาก

สอง มีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น เห็นใจ และเข้าใจในปัญหา มีบุคลิกที่อบอุ่น ซึ่งจะสร้างความเชื่อใจ ไว้วางใจไปจนถึงความศรัทธาในการทำงานร่วมกันทั้งในส่วนพนักงาน และกลุ่มเป้าหมายในสังคม

สาม สร้างมุมมองใหม่ที่ลึกซึ้งในการเข้าถึงปัญหาต่าง ๆ ด้วยการเรียนรู้จากข้อมูลจริง ใช้ความสามารถในการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ จะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของปัญหาในด้านต่าง ๆ ไม่มองปัญหาเพียงมิติเดียว

สี่ มีภาวะผู้นำ ตัดสินใจได้ชัดเจนว่าสิ่งที่สำคัญจริง ๆ คืออะไร แยกแยะภาพลวงตา และมายาคติออกจากแก่นแท้ได้

ห้า มีความสามารถในการทำความเข้าใจถึงภาพใหญ่ และความเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลงในกลยุทธ์ที่จะนำไปดำเนินการ มองเห็นความสัมพันธ์ของกิจกรรมที่จะดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ทั้งนั้นมีการระบุว่าประเด็นในการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจมีอยู่ทั้งหมด 6 ประเด็นหลักที่จะต้องไปเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ในการดำเนินการ นั่นคือ

หนึ่ง การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งไม่ใช่แค่การลดผลกระทบ แต่ต้องมีแนวทางในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สิ่งแวดล้อมฟื้นคืนสภาพที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น

สอง การพัฒนาผู้ส่งมอบหรือ suppliers ให้เติบโตไปด้วยกัน ไม่ใช่มองแต่ความก้าวหน้าของธุรกิจตนเอง

สาม การพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะให้กับพนักงาน มีความเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพ

สี่ การดูแลด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งหมายถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานด้วย

ห้า การบริหารจัดการในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และควรมีแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการ การสร้างนวัตกรรมในกระบวนการ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต หรือการให้บริการที่ลดการใช้น้ำลงอย่างต่อเนื่อง และประเด็นสุดท้ายก็คือลดการใช้พลังงาน

ดังจะเห็นได้ว่าประเด็นเหล่านี้ล้วนระบุไว้ใน ISO 26000 หรือมาตรฐานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง ในความหมายดังกล่าวคือการทำอย่างจริงจังให้มีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สามารถนำมาประเมินการดำเนินการ มีค่าเทียบเคียงหรือ benchmark ที่จะทำให้รู้ว่าองค์กรมีการปฏิบัติอยู่ในระดับใด เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

นั่นคือความเด่นชัดที่จะตัดสินได้ว่าองค์กรธุรกิจใดให้ความสำคัญต่อการวางแผนกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ในแต่ละประเด็นจะต้องสามารถชี้วัดผลสำเร็จได้ตามเป้าหมาย เห็นความก้าวหน้าในการดำเนินการ ไปจนถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งมีหลายองค์กรทำได้จริง

ดังนั้น ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการให้ความสำคัญต่อการวางแผนกลยุทธ์ด้าน
สิ่งแวดล้อม ผู้นำจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน สร้างความเข้าใจ และสร้างสภาพแวดล้อมองค์กรให้เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้บริโภค และสังคมกำลังจับตามองดูอยู่

ข้อมูลอ้างอิง :https://www.brandbuffet.in.th/2018/07/kpmg-ceo-business-transformation,https://training.pmeacademy.com/blog/1668815/monitoring-evaluation-trends-2018,https://si.se/en/apply/leadership-programmes/management-programme-asia/