“CLMTV” ระดมสมอง พร้อมบริหารจัดการแรงงานร่วมกัน

ไม่นานผ่านมา มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงงาน CLMTV ครั้งที่ 2 ที่ประเทศเวียดนาม โดยมีสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ อาทิ กัมพูชา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว), เมียนมา, ไทย และเวียดนาม รับรองปฏิญญาร่วม CLMTV ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย

โดยมีความคืบหน้าการหารือทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายที่จะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพราะหากจัดการไม่ดีจะนำไปสู่การเข้าเมืองผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในที่สุด

“พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงงานของ CLMTV ครั้งที่ 2 ที่เมืองดานัง เวียดนาม เมื่อไม่กี่วันผ่านมา โดยมี H.E. Mr. VU DUC DAM รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประธานเปิดประชุม พร้อมกับกล่าวยืนยันชัดเจนว่า มีความจำเป็นต้องบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติให้ถูกต้องตามกฎหมายของแต่ละประเทศ หากไม่ดำเนินการให้ดีจะเป็นช่องทางให้มีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย อันจะนำไปสู่การค้ามนุษย์ต่อไป

“นอกจากนั้นในที่ประชุมยังเห็นชอบต่อปฏิญญาร่วม CLMTV ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย ตามที่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของแต่ละประเทศประชุมมาก่อนหน้านี้ โดยมีสาระสำคัญคือการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัยจะต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่างของบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของสมาชิก จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน”

“ที่สำคัญ นายจ้างและลูกจ้างต้องสร้างระบบบริหารจัดการที่เข้มแข็ง รวมทั้งการส่งเสริมการข้ามแดน และการจ้างงานโดยถูกกฎหมายผ่านข้อตกลงทวิภาคี ซึ่งการประชุมครั้งที่ 3 ในอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศกัมพูชาจะรับเป็นเจ้าภาพ โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 1”

“พล.อ.ศิริชัย” กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมทวิภาคีทั้งกับ สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม มีความคืบหน้าในการจ้างงานต่างชาติและการแก้ไขปัญหาแรงงาน เพราะการประชุมทวิภาคีจะเป็นรากฐานสำคัญในการตกลงของบริบทด้านกฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เพื่อหาหนทางการปฏิบัติที่ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ด้วยกัน เพื่อความเข้มแข็งของทวิภาคี และจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งใน CLMTV อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของ ASEAN ต่อไป

“การหารือทวิภาคีกับ สปป.ลาว โดย H.E. Mr. Khampheng Saysompheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สปป.ลาว ยินดีที่จะร่วมมือในการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในไทยที่ดำเนินการอยู่ นอกจากจะเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติผู้ที่ถือบัตรสีชมพูประมาณ 71,000 คน ที่ไอที สแควร์ หลักสี่ แล้ว จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สปป.ลาวในการจัดทำหนังสือเดินทาง เพื่อให้แรงงานที่ไม่มีเอกสารมาแจ้งความจำนง คาดว่าประมาณ 60,000 คน ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศไปทำหนังสือเดินทางที่ สปป.ลาว และหากเป็นไปได้จะอำนวยความสะดวกให้ทำเอกสารเดินทางที่ไทยได้”

ส่วนการหารือทวิภาคีกับเมียนมา “H.E. Mr. U Thein Swe” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมา ได้ชื่นชมและยอมรับการจัดการแรงงานต่างด้าวของไทย ซึ่งได้รับแจ้งยอดแรงงานที่ไม่มีเอกสารใด ๆ มาแจ้งความประสงค์ทำงานในไทยอาจมากถึง 350,000 คน จะให้ความเร่งด่วนแก่แรงงานส่วนนี้ทำการพิสูจน์สัญชาติเป็นลำดับแรก

“โดยจะเพิ่มเจ้าหน้าที่และจุดตรวจสัญชาติเคลื่อนที่มาดำเนินการในไทย จากเดิมที่มีจุดตรวจสัญชาติกลุ่มที่มีบัตรสีชมพูอยู่แล้ว 6 ศูนย์ พร้อมกับจะเร่งรัดคณะทำงานเพื่อจัดส่งแรงงานประมงมาไทยตามระบบรัฐต่อรัฐให้มีผลโดยเร็ว รวมทั้งให้ความสนใจต่อระบบประกันสังคมไทย โดยจะจัดเจ้าหน้าที่มาศึกษาวิธีการของประกันสังคมไทยต่อไป”

สำหรับการหารือทวิภาคีกับเวียดนาม “H.E. Dao Ngoc Dung” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทุพพลภาพ และสวัสดิการสังคม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้มีการหารือถึงประเภทกิจการ อาชีพที่ไทยอนุญาตให้ต่างด้าวทำงานได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ โดยจะเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการมาหารือ ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ พร้อมกับเร่งรัดให้เวียดนามดำเนินการตาม MOU คือความร่วมมือด้านแรงงานประมงอีกด้วย

“พล.อ.ศิริชัย” กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงานของกลุ่ม CLMTV ทุกประเทศยอมรับและเห็นด้วยกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของไทย ที่กำหนดขึ้นเป็นกฎหมาย และจะใช้เป็นโมเดลของตนเองต่อไป

“นอกจากนี้ทุกประเทศยังให้ความสนใจต่อตัวเลขของแรงงานที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ทำงานอยู่ในไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้ติดตามทางสื่อว่าจะมีจำนวน 2-3 ล้านคน แต่ผ่านการแจ้งความจำนงมา 10 วัน มียอดจริง ๆ ไม่ถึง 400,00 คน ซึ่งได้แจ้งให้สมาชิกในกลุ่ม CLMV ทราบแล้วว่า กระทรวงแรงงาน โดยอธิบดีกรมการจัดหางานได้ประเมินไว้เพียง 800,000 คน แต่ได้เตรียมสถานที่และเจ้าหน้าที่ไว้รองรับทั่วประเทศถึง 100 ศูนย์รับแจ้งนั้น เพื่อเตรียมอำนวยความสะดวก”

“หากมีจำนวนแรงงานที่ไม่มีเอกสารใด ๆ จำนวนมากจริง ซึ่งหลังจากวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เราจะได้ทราบยอดแรงงานต่างด้าวในไทยในรูปแบบและอาชีพต่าง ๆ เป็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น และจะแจ้งให้สมาชิก CLMTV ทุกประเทศรับทราบเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน”

อันจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแรงงานอย่างยั่งยืน