10 พี่เลี้ยงชี้ทางธุรกิจยั่งยืน Win Win ทุกฝ่ายด้วย ‘SE’

10 บิ๊กบราเธอร์ (Big Brother) ที่พัฒนารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม หรือ “social enterprise-SE” ไปแล้ว เช่น กลุ่มบริษัท ดาวประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเซ็นทรัล กรุ๊ป ร่วมด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผนวกการทำธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาชุมชน บนเวทีเสวนา “ผลักดันชุมชนสู่ความยั่งยืน ด้วยพลัง Big Brother” เพื่อให้องค์กรอื่น ๆ นำไปปรับใช้

เริ่มต้นที่งานวิจัยอันถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะบอกว่า SE จะประสบความสำเร็จหรือไม่ “ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ระบุว่า จากนี้ไปการวิจัยจะต้องสามารถนำไปทำประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ฉะนั้น การวิจัยในแต่ละพื้นที่ต้องตั้งต้นจาก “ความต้องการและปัญหา” ของชุมชนเป็นอันดับแรก รวมกับองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ ต้องมีตัวแทนจากคนในพื้นที่, มีองค์ความรู้ และมีตลาดรองรับ

“ในฐานะที่มีหน้าที่หลักคือ การดูแลเรื่องวิจัย และนวัตกรรม วช. กำลังเชื่อม 3 อย่างนี้เอาไว้ด้วยกัน และต้องชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาในรูปแบบนี้มีความยั่งยืน นั่นคือการอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีรายได้หมุนเวียน ตัว SE ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา แต่สิ่งที่ภาคเอกชนจะต้องให้ความสำคัญด้วยคือ ชุมชนนั้น ๆ สามารถต่อยอดได้หรือไม่”

ขณะที่ “ชฎิล ชวนะลิขิกร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เล่าว่า รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม สอดคล้องกับการทำงานของ ปตท. รวมถึงภาครัฐก็จะต้องเข้ามาส่งเสริมด้วยมาตรการทางภาษี เดิมที ปตท. ดำเนินการในรูปแบบ CSR ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดีเช่นกัน แต่ในบางกรณีไม่สามารถต่อยอดได้ จึงต้องเพิ่มรูปแบบ SE เข้ามาเสริม เพื่อให้โครงการมีความยั่งยืน และเมื่อมีกำไรจากการดำเนินการแล้ว จะนำมาหล่อเลี้ยงชุมชนให้มีอาชีพ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

“เพราะจุดเริ่มต้นของ ปตท. ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม เราใช้ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนเป็นแม่เหล็ก ด้วยการรับซื้อกาแฟจากชาวเขา และชาวบ้านที่ปลูก ด้วยราคาที่เป็นธรรม ทั้งเรายังรับซื้ออย่างสม่ำเสมอ กอปรกับเข้าไปให้คำแนะนำ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกกาแฟ ล้างกาแฟ การกำจัดน้ำเสีย จนปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จ กำไรที่ได้สามารถนำไปต่อยอด หรือลงทุนเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจของชุมชนต่อไป”

ด้านเซ็นทรัล กรุ๊ป ที่ถือว่าเป็นช่องทางการจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ “สุพัตรา จิราธิวัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ระบุว่า นโยบายของเซ็นทรัลชัดเจนว่าจะเติบโตคนเดียวไม่ได้ ส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเติบโตไปพร้อมกันด้วย จุดแข็งของเซ็นทรัลคือเป็นผู้ขาย ไม่ใช่ผู้ผลิต

“จึงต้องทำหน้าที่แนะนำให้ชุมชนรู้ว่าผลิตสินค้าอย่างไรจึงขายได้ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้เป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย”

ขณะที่ “ภากมล รัตตเสวี” รองเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา บอกว่า ปัจจุบันมูลนิธิชัยพัฒนามีแบรนด์ “ภัทรพัฒน์” ที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพราะต้องการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยสินค้าจะต้องคำนึงถึงคุณภาพ ไม่มีสารเคมี

“เพราะสินค้าในกลุ่มหัตถกรรมต้องใช้เวลาในการผลิตนาน และค่อนข้างได้รับความนิยม เช่น เสื่อกก, ตะกร้าสาน เราจึงนำมาพัฒนา พร้อมกับดีไซน์สินค้าขึ้นมาใหม่เพื่อให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ ส่วนสินค้าอื่น ๆ อย่างผ้าย้อมคราม เรานำเทคโนโลยีนาโนมาใช้เพื่อให้ผ้าหอม และไม่ยับง่าย เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าถึงเท่าตัว แต่สิ่งสำคัญนอกจากคุณภาพ ความสวยงามของสินค้าแล้ว จะต้องมี “story” เพิ่มขึ้นอีก 1 ข้อ เพื่อกระตุ้นความรู้สึกอยากซื้อสินค้ามากขึ้น”