สืบสานปณิธานรัชกาลที่ 9 “ปิดทอง” ดึงเอกชนขับเคลื่อนชุมชน

เนื่องด้วยโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีพันธกิจที่สำคัญคือเพื่อฉลองพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และเพื่อให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ตรงจากโครงการพระราชดำริ เพื่อน้อมนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ในการช่วยยกระดับความเป็นอยู่ และส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน

ทว่าต่อมาในปี 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้ง “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” และ “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” เพื่อดำเนินการจัดการความรู้ และส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นระบบ และกว้างขวาง จนเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศทุกวันนี้


ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานผ่านมา 8 ปี มูลนิธิปิดทองหลังพระฯขยายผลโครงการไปยัง 7 พื้นที่ต้นแบบ ครอบคลุมกว่า 9 จังหวัด ได้แก่ น่าน, อุดรธานี, กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, อุทัยธานี, เพชรบุรี ตลอดจนพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อาทิ ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส 

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯยังขยายความร่วมมือไปยังภาคธุรกิจ และภาคเอกชนในปีผ่านมา เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ เหล่านั้นมีโอกาสมาเข้าร่วมสืบสานแนวพระราชดำริ ภายใต้ชื่อ “ทีมดี (Development)” ประกอบด้วย 4 มูลนิธิ 10 องค์กรธุรกิจ และปัจจุบันยังทำงานร่วมกันในพื้นที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยมีบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นแกนนำในการส่งเสริมการเกษตร และส่งเสริมการทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่

ล่าสุด “ชมรมสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท (สื่อบ้านนอก)” ร่วมกับ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” จัดโครงการตะลุยบ้านนอกในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อให้สื่อมวลชนออกไปสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวชนบท และสภาพปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ เพื่อจะนำกลับมาเผยแพร่ให้สังคมรับรู้

เบื้องต้น “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เล่าให้ฟังว่า โครงการพัฒนาและจัดหาน้ำในตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตร และชนบท ถือเป็นการขยายผลการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดจากการทำงานในพื้นที่ต้นแบบ 5 แห่ง ตามแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 2 ที่ ครม.มีมติให้สถาบันเป็นผู้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษาใน จ.ขอนแก่น และ จ.ชายแดนภาคใต้

“โดยพื้นที่ ต.ทุ่งโป่ง แต่เดิมมีการอพยพชาวบ้านจำนวน 4 หมู่บ้าน เพื่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ แต่เนื่องจากพื้นที่ที่ย้ายมาเป็นโคก หรือดอน ทำให้ไม่สามารถใช้น้ำจากเขื่อนได้ ต่อมาในปี 2530 กรมพลังงานจึงติดตั้งสถานีสูบน้ำจากลำน้ำพองขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปทั้งคลองส่งน้ำ และสถานีมีความทรุดโทรม ชำรุด ประสิทธิภาพลดลง ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในปี 2558 สามารถใช้น้ำได้เพียง 2,476 ไร่ จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 15,388 ไร่ มีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 58 ของครัวเรือนทั้งหมด และผลผลิตข้าวนาปีขาดทุน จนไม่มีการปลูกพืชหลังทำนา มีแต่การปลูกข้าวนาปรังเท่านั้น”

“การดำเนินงานในระยะแรกจึงเป็นโครงการพัฒนา และจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูก และเพิ่มผลผลิตได้ ด้วยการซ่อมแซมฝายห้วยยาง การปรับปรุงคลองส่งน้ำสถานีสูบน้ำบ้านหนองผือ และการปรับปรุงระบบส่งน้ำ ด้วยท่อสถานีสูบน้ำจระเข้ โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุง ซึ่งจากการดำเนินงาน 3 ปี (2558-2560) ทำให้มีพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 9,401 ไร่ ครอบคลุมบ้านเรือนกว่า 608 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจหลังพัฒนาระบบน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่า”

“เมื่อชาวบ้านมีน้ำใช้แล้ว เรายังมีการส่งเสริมการปลูกพืชผักลดรายจ่ายให้กับเกษตรกรใน 10 หมู่บ้านของ ต.ทุ่งโป่ง ซึ่งสามารถลดรายจ่ายสร้างรายได้ราว 54 บาทต่อวัน ทั้งยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา ทั้งข้าวโพดหวาน ฟักทอง โดยมีการสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ

การปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก และยังมีการวิเคราะห์ตลาด วางแผนการผลิต รวมถึงการติดตามการผลิต ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรกว่า 104 ราย คิดเป็นรายได้มากกว่า 1,603,108 บาท”

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ในปีผ่านมา มูลนิธิปิดทองหลังพระฯขยายความร่วมมือไปยังภาคธุรกิจเอกชน ภายใต้ชื่อทีมดีนั้น จึงได้มีการร่วมกันทำงานในพื้นที่ ต.ทุ่งโป่ง แห่งนี้ โดยมีบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นแกนนำหลักในการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมเดิม ๆ มาสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามศาสตร์พระราชา

“การทำงานของทีมดี คือ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และอาศัยหลักการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้โมเดลการพัฒนาเกษตรรวมแปลง และเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการทำเกษตรแบบเดิม ๆ เกษตรกรจะขาดความรู้ ขาดเทคโนโลยี ขาดตลาด ขาดเงินลงทุน และการจัดการ ซึ่งแตกต่างกับการทำเกษตรสมัยใหม่ที่มีการจัดโซนนิ่งดินและน้ำ โดย 70% ของพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ อีก 30% ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการนำเอาเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ มีการติดตามแก้ไขปัญหาในแปลง รวมถึงเรื่อง micro finance ทำให้เกษตรกรรมมีความรู้ในเรื่องที่ทำ มีข้อมูลและเชื่อมตลาด มีจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภค”

“สำหรับกิจกรรมการส่งเสริมของทีมดี ในพื้นที่ ต.ทุ่งโป่ง จะเริ่มจาก scale เล็ก ๆ โดยแบ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกอ้อยตามรูปแบบ modern farm โดยกลุ่มมิตรผลจะเริ่มตั้งแต่การสำรวจความต้องการผู้ที่อยากปลูกอ้อย การสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ การวางแผนเตรียมแปลง ไปจนถึงการปลูก และได้มีการสาธิตการใช้เครื่องจักรในการไถ การกำจัดวัชพืช”

“ขณะที่การปลูกมะพร้าวน้ำหอมโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 47 ราย และเริ่มปลูกไปแล้วกว่า 39 ราย พื้นที่รวมกว่า61 ไร่ ทั้งยังได้มีการติดตั้งระบบน้ำแบบน้ำหยด เพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำอีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” บอกว่า การดำเนินงานใน 3 ปีผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านสภาพเศรษฐกิจ 553 ครัวเรือนที่เป็นคนในพื้นที่โครงการ มีรายได้ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 1,906,311 บาท มีหนี้สินลดลง 3,871,075 บาท และมีรายจ่ายลดลง 13,679,989 บาท

“ทิศทางการพัฒนาทุ่งโป่งต่อไปนั้นจะมุ่งการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรเกษตรยุคใหม่ เพื่อถ่ายทอดกระบวนการการทำงานที่น้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ มีแปลงต้นแบบ และขยายผลสู่เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง เพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรและเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงาน เพื่อสร้างฐานการพัฒนาสู่กิจกรรมด้านอื่น ๆ อีกด้วย”

นับเป็นการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้มีความอยู่ดี กินดี อย่างยั่งยืนต่อไป