เปลี่ยนขยะเป็นถนน Recycled Plastic Road

คอลัมน์ Eco Touch

ปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับ 6 จาก 192 ประเทศทั่วโลกที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ทั้งนั้น เพราะจากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme-UNEP) ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเล ประมาณ 13 ล้านตัน โดยประเทศไทยติดอันดับ 6 จาก 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลกถึงกว่า 1.03 ล้านตัน

โดยขยะทะเลกว่าร้อยละ 80 เกิดจากกิจกรรมบนบก ส่วนอีกร้อยละ 20 จะมาจากกิจกรรมในทะเล

จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังระบุอีกว่า 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลของไทยมีปริมาณขยะประมาณ 11.5 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 1.55 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติก

ขณะที่รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2560 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มีนาคม 2561) มีการระบุถึงปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในปี 2560 มีประมาณ 27.40 ล้านตัน หรือ 75,046 ตันต่อวัน  เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.26 จากปี 2559 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของชุมชนเมือง

จากตัวเลขและข้อมูลดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมามีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาคประชาชนต่างให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีการรณรงค์ สร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกผ่านโครงการ และแคมเปญต่าง ๆ มากมาย เพื่อร่วมกันแก้ไขและลดปัญหาขยะที่เกิดขึ้น

อย่างเรื่องที่จะมาพูดในวันนี้ คือ การนำเอาขยะพลาสติกมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างถนน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ยังสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular econo-my) ที่กำลังถูกพูดถึงในปัจจุบัน

ที่มาที่ไปของเทคโนโลยีการสร้างถนนจากพลาสติกรีไซเคิล เกิดจากการที่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และ เอสซีจี ที่ร่วมมือกันในการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้มาเป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และในชุมชน อีกทั้งคุณสมบัติของพลาสติกยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนน พร้อมลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนนอีกด้วย

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทดาวฯยังร่วมกับประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ในการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ทำถนนยางมะตอย โดยอินเดียได้สร้างถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิล ในเมืองบังคาลอร์ และเมืองปูเณ่ ไปแล้วกว่า 40 กิโลเมตร โดยใช้ขยะพลาสติกจำนวนกว่า 100 ตัน

ส่วนอินโดนีเซีย เริ่มสร้างถนนจากพลาสติกรีไซเคิลในเมืองเดป๊อค ความยาวกว่า 2 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 9,781 ตารางเมตร โดยใช้ขยะพลาสติกจำนวนกว่า 3.5 ตัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่พลาสติกก่อนจะถูกนำไปฝังกลบ และลดการไหลลงสู่ทะเลอีกด้วย

ล่าสุดมีการเปิดตัวต้นแบบถนนพลาสติกรีไซเคิล (recycled plastic road) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการนำพลาสติกที่ใช้แล้ว ทั้งถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงใส่อาหาร จากการคัดแยกขยะภายในเอสซีจี และครัวเรือนในชุมชน ที่รวบรวมโดยเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง มาใช้ทดสอบเป็นส่วนผสมสำหรับสร้างถนนยางมะตอยภายในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล

จากการทดสอบพบว่า คุณสมบัติของพลาสติกช่วยให้ถนนแข็งแรงและต้านทานการกัดเซาะของน้ำได้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการสร้างคุณค่าให้กับพลาสติกที่ใช้แล้ว และเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

ถือว่าเป็นการหาโซลูชั่นในการเพิ่มคุณค่าให้กับขยะพลาสติก ด้วยการนำกลับไปใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน ในอีกทางหนึ่ง นอกจากการรณรงค์สร้างจิตสำนึก สร้างความตระหนักแล้ว การหาทางออกหรือวิธีการใหม่ ๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยี หรือทักษะ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรที่มีอยู่ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลย