ธรรมนูญเกาะหมาก ปฏิบัติวิถีสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืน

เกาะหมาก เป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศ โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 9,000 ไร่ ลักษณะรูปร่างคล้ายดาวสี่แฉก ตั้งอยู่ในจังหวัดตราด ซึ่งมีน้ำทะเลใส และความสงบเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้การท่องเที่ยวบนเกาะหมากมีการเติบโต และอยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด จนกลายเป็นที่สนใจของนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาสร้างที่พัก และนำเสนอกิจกรรมทางการท่องเที่ยว เช่น เจ็ตสกี และผับต่าง ๆ

เพียงแต่การนำกิจกรรมประเภทดังกล่าวมาสู่เกาะหมาก กลับสร้างความไม่เห็นด้วยกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะหมาก เพราะพวกเขารู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ และอยากรักษาธรรมชาติที่สมบูรณ์ของเกาะไว้ คนในชุมชนจึงรวมตัวเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน จากจุดนั้นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำ “ธรรมนูญเกาะหมาก” และปัจจุบันได้ข้อสรุปธรรมนูญทั้งหมด 8 ข้อ อันเป็นข้อตกลงร่วมกันทั้งฝ่ายชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวที่จะร่วมกันปฏิบัติ

“นิพนธ์ สุทธิธนกูล” ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2552 มีผู้ประกอบการรายหนึ่งนำเจ็ตสกี 6-7 ลำ พร้อมบานาน่าโบต และเรือลากร่มมาประกอบธุรกิจบนเกาะหมาก ทำให้ชาวบ้านที่ต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติของเกาะหมากไม่เห็นด้วย จึงเกิดการคว่ำบาตร โดยมีมติว่าจะไม่ส่งลูกค้าให้ผู้ประกอบการรายนี้

“ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้มีการประชุมร่วมกันของคนบนเกาะหลายต่อหลายครั้ง และจากการประชุมใหญ่ครั้งหนึ่งที่มีคนในชุมชน ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย ได้เสียงส่วนใหญ่เห็นควรว่า ควรออกข้อตกลงเพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม และบรรยากาศของเกาะหมากอย่างจริงจัง”

“จนกระทั่งปี 2555 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เริ่มมองเห็นความกังวลของชุมชน จึงเริ่มมีการหารือร่วมกันกับชาวบ้าน และผู้ประกอบการบนเกาะ อพท.จึงสนับสนุนการร่างมติชุมชน และออกเป็นข้อปฏิบัติ ทั้งยังจัดการเสวนาส่งเสริมโลว์คาร์บอน และพิธีลงนามปฏิญญาท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนบนเกาะหมาก เพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนระหว่าง อพท.กับตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนของเกาะหมากจำนวน 41 ราย”

“โดยมีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อร่วมกันรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยคาร์บอน อันเกิดจากการท่องเที่ยว จนในที่สุดเมื่อไม่นานที่ผ่านมา อพท.ร่วมกับ อบต. และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก สรุปจัดทำธรรมนูญ 8 ข้อ และให้จัดทำป้ายประกาศต่อชุมชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย”


“นิพนธ์” กล่าวถึงข้อตกลงธรรมนูญเกาะหมากทั้ง 8 ข้อ ว่าเป็นการเน้นย้ำความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ “เกาะหมาก โลว์คาร์บอน เดสติเนชั่น” เพื่อให้ทราบโดยทั่วกันทั้งในและนอกพื้นที่ประกอบด้วย

หนึ่ง ไม่สนับสนุนให้เรือเฟอรี่นำยานพาหนะของนักท่องเที่ยวข้ามมายังเกาะหมาก

สอง รถจักรยานยนต์ให้เช่าต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของจำนวนห้องพักบนเกาะหมาก

สาม ไม่สนับสนุนการใช้วัสดุจากโฟม หรือวัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษเพื่อใส่อาหาร

สี่ ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ของเหลือรับประทานลงในที่สาธารณะ และแหล่งน้ำโดยเด็ดขาด

ห้า ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมีที่มีสารตกค้างสูง

หก ห้ามส่งเสียงดัง หรือกระทำที่เป็นการรบกวน หรือสร้างความเดือดร้อนในเวลา 22.00-07.00 น.

เจ็ด ไม่สนับสนุนกีฬาทางบกและทางทะเล ที่ใช้เครื่องยนต์ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน

แปด ห้ามนำ ห้ามเสพ ห้ามจำหน่ายสารเสพติดผิดกฎหมายทุกชนิดบนเกาะ

“ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเสริมว่า อพท.ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก และชุมชนเกาะหมาก ดำเนินกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เรารับฟังความคิดเห็นของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก ที่เห็นว่าการสัญจรท่องเที่ยวบนเกาะหมากควรเป็นยานพาหนะที่ไม่ปล่อยคาร์บอน เราจึงร่วมส่งเสริมจัดแรลลี่จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกาะหมากเป็นครั้งแรกในปี 2554

“ต่อมาในปี 2556 เราร่วมกันผนึกกำลังจัดงานนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ ในเรื่องเปิดโลกพลังงานทางเลือก และจัดเวทีเสวนาหัวข้อ ทำ low carbon แล้วได้อะไร ? และเกาะหมากจะเป็น low carbon ได้ในปีไหน ? เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากแนวคิดสู่ความเข้าใจ การรับรู้ของชุมชนท้องถิ่นบนเกาะหมาก เพื่อทำให้ชุมชนมีความเชื่อมั่น โดยให้มีธรรมนูญเกาะหมาก”

“นอกจากนั้น เราต่อยอดการสร้างภาพลักษณ์ low carbon destination ผ่าน 3 แคมเปญ ได้แก่ Eat it Fresh หน้าบ้านน่ามอง และกิจกรรม Mega Clean Up และเปิดตัวเส้นทางจักรยาน 2 เส้นทาง พร้อมทั้งผลิตแพ็กเกจทัวร์คาร์บอนต่ำชื่อว่า โลว์ คาร์บอน ฮอลิเดย์ จำหน่ายนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ สร้างรายได้อย่างเป็นรูปแบบ จนได้รับรางวัลพาต้า โกลด์ อะวอร์ด 2559 ประเภทสิ่งแวดล้อมในสาขาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”

“ปีนี้เราผลักดันการใช้จักรยานสำหรับเดินทางในเกาะหมากยิ่งขึ้น โดยมอบจักรยานจำนวน 100 คัน ให้แก่วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการรถจักรยานได้ 2 แบบ คือ ฟรี และเสียค่าเช่าในอัตราสูงสุดไม่เกินคันละ 50 บาทต่อวัน ทั้งยังมีกิจกรรมเก็บขยะบนชายหาดร่วมกับ อบต. และนักท่องเที่ยวทุกวันเสาร์ ภายใต้ชื่อ Trash Hero รวมถึงช่วยกันดูแลเรื่องความปลอดภัยของคนบนเกาะและนักท่องเที่ยว”

“ธานินทร์ สุทธิธนกูล” รองประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เกาะหมาก กล่าวเสริมว่า บนเกาะหมากมีสถานที่ให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และได้รับรู้ถึงที่มาที่ไปของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบนเกาะหมากมากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเอกชนที่ดัดแปลงจากบ้านเก่าของคุณพ่อคุณแม่ของผม ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตระกูลดั้งเดิมของเกาะหมาก


“พิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวเกาะหมาก และขนบนิยมในท้องถิ่น ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปหัตถกรรม อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนซึ่งอาศัยอยู่ในเกาะหมาก ที่จะพาเรากลับไปสู่อดีตในวันวานอีกครั้ง โดยเปิดให้ความรู้ทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น.”

“นอกจากนั้น บนเกาะยังมีเกาะหมาก ดิสก์กอล์ฟ ซึ่งเป็นพื้นที่เล่นกีฬาจานร่อน ที่นิยมเล่นกันในอเมริกา และหลายประเทศทางยุโรป โดยประเทศไทยมีเล่นกัน 2 แห่งเท่านั้น คือ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่เกาะหมาก จังหวัดตราด การเล่นดิสก์กอล์ฟใช้กติกาเดียวกันกับกอล์ฟ เพียงแต่เปลี่ยนจากใช้ไม้กอล์ฟตีลูกให้ลงหลุม เป็นร่อนจานให้ลงตะกร้าแทน โดยจะแข่งกันทีละ2 คน หรือทีมละ 3-4 คนก็ได้”

“โดยทุกเดือนตุลาคมที่เกาะหมากจะมีการจัดทัวร์นาเมนต์แข่งดิสก์กอล์ฟประจำปี เปิดกว้างทั้งระดับมืออาชีพและคนทั่วไป อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้แก่นักท่องเที่ยวไม่แพ้กิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ บนเกาะยังมีสวนเกษตรอินทรีย์ของเกาะหมากรีสอร์ท ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรม เช่น เก็บไข่, เก็บผัก, ปลูกข้าว, ทำอาหารจากพืชผัก เป็นต้น”


โดยเกาะหมากรีสอร์ทเป็นผู้ริเริ่มทำเกษตรอินทรีย์บนเกาะ เพราะตั้งใจที่จะลดการนำเข้าพืชผักจากฝั่ง ทั้งยังช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอน พร้อมกับปลูกผักและผลไม้แบบปลอดสารพิษเพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปใช้ในการประกอบอาหารให้กับลูกค้าของรีสอร์ต รวมถึงการสร้างกลุ่มไลน์เพื่อให้คนในชุมชนซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในราคายุติธรรม

เพราะเกาะหมากได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญของจังหวัดตราด โดยปัจจุบันมีสวนมะพร้าวออร์แกนิกเพื่อนำมาทำเป็นน้ำมะพร้าวสกัดเย็น ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้การสอยมะพร้าว ปอกมะพร้าว และปลูกมะพร้าวจากคนท้องถิ่น

จึงนับว่าธรรมนูญ 8 ข้อของเกาะหมากเป็นการต่อจิ๊กซอว์ในการสร้างภาพลักษณ์แก่การท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น