บริหารแบบ “บรอมส์โกรฟ” ดึงครูต่างชาติเสริมทัพองค์กร

เดือนเพ็ญ ภวัครานนท์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ ประเทศไทย

ในธุรกิจการศึกษา ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ถือว่าเป็นฝ่ายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากธุรกิจหรือองค์กรอื่น ๆ เพราะเนื้องานหลักจะต้องทำหน้าที่ในการเตรียมคนให้พร้อมกับภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการสร้างเด็กและเยาวชนที่จะมาเป็นอนาคตของสังคม

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “เดือนเพ็ญ ภวัครานนท์” ผู้อำนวยการ โรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ ประเทศไทย ถึงมุมมองการบริหารคน รวมถึงการบริหารองค์กรในธุรกิจการศึกษา “เดือนเพ็ญ” บอกว่า เอชอาร์ในโรงเรียนมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นส่วนที่จะเชื่อมโยงระหว่างความต้องการของพนักงาน ครู ผู้บริหาร และเชื่อมโยงไปถึงประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับด้วย

“การก่อร่างสร้างโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีฝ่ายเอชอาร์เป็นองค์ประกอบ ผนวกกับความแข็งแกร่งของผู้บริหาร ครูที่มีความทุ่มเท และพนักงานมีความรอบรู้่ ทั้งนั้น แต่ละองค์กรต้องใช้เอชอาร์เป็นกลไกในการสร้างกระบวนการดึงดูด พัฒนาคน ประเมิน รวมไปจนถึงเรื่องค่าตอบแทน และรักษาทรัพยากรบุคคลที่สำคัญเหล่านี้เอาไว้”

ทั้งนี้ “เดือนเพ็ญ” ยังได้อธิบายถึงกระบวนการสรรหาบุคลากรของโรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ ว่า โรงเรียนต้องใช้หลักสูตรจากประเทศอังกฤษ ที่เน้นย้ำในเรื่องของครูว่า ต้องได้มาตรฐานสากลในแบบฉบับของอังกฤษด้วย อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนสรรหาครูนั้น ต้องใช้การลงทุน “สูง” ฉะนั้นในอันดับแรก จะคัดเลือกครูจากเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์รวมนานาชาติโดยเฉพาะ หลังจากนั้นจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติและสัมภาษณ์ผ่านกล้องด้วยระบบออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องใช้วิธีการไปดูครูจากต่างประเทศด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมกับทั้งโรงเรียน และสามารถทำงานในองค์กรที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ด้วย

ปัจจุบันจำนวนครูของโรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ มีรวมทั้งสิ้น 90 คน อายุเฉลี่ย 30 ปี สัดส่วนครูผู้ชายและผู้หญิงเท่ากัน เป็นครูชาวอังกฤษ 75 คน และครูสัญชาติอื่นอีก 15 คนที่เป็นครูเจ้าของภาษาเพื่อสอนภาษาต่างชาติ เช่น ภาษาจีน และภาษาเกาหลี และเป็นครูผู้ช่วย จากจำนวนครูดังกล่าวถือว่าเพียงพอกับการดูแลเด็ก หรือสัดส่วน ครู 1 คนต่อนักเรียน 5 คน

“ครูที่มีความสนใจทำงานในต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหลายประเทศในแถบเอเชียก็มีความต้องการครูเจ้าของภาษาอังกฤษที่มีความสามารถสูง และมากประสบการณ์ ดังนั้น กลยุทธ์การดึงดูดครูต่างชาติให้มาทำงานกับเราเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารให้ความสำคัญ”

“เดือนเพ็ญ” ยังฉายภาพให้เห็นถึงวิธีการดึงคนเข้ามาทำงาน และรักษาคนทำงานไว้ในองค์กรอีกว่า สิ่งที่ครูต่างชาติสนใจคือ การได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ และที่สำคัญคือรายได้ต้องไม่น้อยกว่าเดิมที่เคยได้ ฉะนั้นที่โรงเรียนบรอมส์โกรฟ จึงกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ครูพอใจ นอกจากนั้น ยังให้โอกาสครูในการเติบโตในเส้นทางอาชีพ นั่นคือการก้าวไปถึงตำแหน่งครูบริหารด้วย โดยเชื่อมั่นว่าการให้ครูต่างชาติมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน จะทำให้พวกเขารู้สึกผูกพัน และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และอยากทำงานร่วมกันไปอีกนาน

สำหรับความท้าทายในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น “เดือนเพ็ญ” กล่าวว่า โรงเรียนนานาชาติเป็นแหล่งรวมบุคลากรที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติ และวัฒนธรรม ดังนั้นเอชอาร์ต้องพยายามสร้างความสมดุลในองค์กร ด้านการทำงานร่วมกันระหว่างคนต่างเชื้อชาติ และต้องให้ได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ในการพัฒนาโรงเรียน และนักเรียนด้วย นอกจากนี้ฝ่ายเอชอาร์จะต้องเข้าใจคน และเคารพในความแตกต่างของแต่ละบุคคลด้วย

นอกเหนือจากนี้ยังต้องเน้นการสื่อสาร โดยจัดให้มีการประชุมระหว่างพนักงานต่างเชื้อชาติ เพื่อให้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยกลุ่มผู้บริหารต้องทำเป็นแบบอย่าง เพราะโรงเรียนบรอมส์โกรฟมีความเชื่อมั่นว่า การจัดประชุมทุกสัปดาห์ จะช่วยทำให้คนทำงานได้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรม รวมไปจนถึงมุมมองความคิดที่หลากหลาย ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการอะไรก็ตาม วิธีนี้จะช่วยทำให้พนักงานทุกคนได้รับรู้และได้ร่วมกันตัดสินใจอีกด้วย

โรงเรียนบรอมส์โกรฟ มีวัฒนธรรมองค์กรที่เน้น 3 หลักการคือ อันดับแรก ต้องมุ่งมั่นฝ่าฟันสู่ความสมบูรณ์แบบ ผลงานของพนักงานจะต้องจับต้องได้ มีคุณภาพ นอกจากนั้นยังต้องให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน อันดับสองคือ ต้องมีความเป็นมืออาชีพ และสาม ครูต้องเป็นแม่แบบให้นักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การพูดจาด้วยความสุภาพ และมีมารยาท

และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในองค์กร ฝ่ายเอชอาร์จะต้องจัดหาเครื่องมือและหลักสูตรในการขัดเกลาพนักงานให้มีความสามารถรอบด้าน มีระบบการประเมินที่ช่วยกระตุ้นการพัฒนา โดยในส่วนนี้โรงเรียนบรอมส์โกรฟจะมีการประเมินครู 2 ครั้งต่อปี ตัวชี้วัดที่ต้องพิจารณารวมในแบบประเมินด้วยคือ ผลการเรียนของนักเรียน การปฏิบัติวิชาชีพ ความรู้ความชำนาญ และการมีส่วนร่วมในวิชาชีพครู เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้วัดศักยภาพของคนทำงาน และยังจะช่วยยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูอีกด้วย