เปิดโพยค่าจ้าง182องค์กร วิศวะค่าตัวแพงสุด”ปวช.-ปวส.”ดาวรุ่ง

เปิดผลสำรวจค่าตอบแทนธุรกิจไทย 182 องค์กร ปี”61/62 ขึ้นเงินเดือนพนักงานเฉลี่ย 5.5-5.8% กลุ่มธุรกิจทรัพยากร-พาณิชยกรรมและบริการจ่ายสูงสุด เผยวิศวะจบใหม่ยังครองแชมป์ค่าตัวแพงสุด ปวช.-ปวส.สาขาพาณิชย์-เทคนิคดาวรุ่ง

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เผยผลสำรวจแนวโน้มการปรับค่าตอบแทนขององค์กรไทย และผลวิเคราะห์เปรียบเทียบการบริหารทรัพยากรบุคคลในประเทศไทยปี 2561/2562 โดยเก็บข้อมูลจาก 182 องค์กร ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง 500-5,000 ล้านบาท พบว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น พิจารณาจาก GDP growth rate และอัตราการว่างงานคงที่ ส่งผลให้อัตราค่าจ้างจะสูงกว่าที่ผ่านมา โดยเฉลี่ย 5.5-5.8% ทั้งพบว่ากลุ่มธุรกิจทรัพยากรและพาณิชยกรรมและบริการ มีแนวโน้มขึ้นเงินเดือนมากกว่ากลุ่มอื่น เมื่อเทียบอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่แนวโน้มโบนัสระยะสั้นจะเพิ่มมากขึ้น

ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ PMAT ทำการสำรวจค่าจ้างในรูปแบบค่าตอบแทนรวม (total remuneration) ที่ใช้ถึง 5 องค์ประกอบ เช่น เงินเดือน, ค่าจ้างมูลฐาน (เงินเดือน+โบนัสคงที่), ค่าจ้างรวม (ค่าจ้างมูลฐาน+ ค่าจ้างเสริม), ค่าจ้างรวมรวมค่าตอบแทนความยากลำบาก ฯลฯ ซึ่งต่างจากเดิมที่สำรวจจาก 2 องค์ประกอบ คือ อัตราเงินเดือนเริ่มจ้าง และเงินเดือนมูลฐานการเก็บข้อมูล

ผลสำรวจอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ตามคุณวุฒิระดับ ม.3, ม.6, ปวช., ปวส., ปริญญาตรี และปริญญาโท มีอัตราเปลี่ยนแปลงช้า ยกเว้นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการจ่ายสูง เมื่อเปรียบเทียบอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ระดับ ปวช. และ ปวส. ย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ทั้ง ปวช.สาขาพาณิชย์ และ ปวช.สาขาเทคนิค อัตราเงินเดือนเพิ่ม 1.34% ต่อปี และ 1.32% ต่อปี ตามลำดับ ส่วน ปวส.สาขาพาณิชย์ และ ปวส.สาขาเทคนิค อัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.50% ต่อปี และ 1.43% ต่อปี ตามลำดับ

อัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ไม่มีประสบการณ์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท ยังคงมีอัตราเงินเดือนสูงที่สุด แต่เมื่อเทียบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนเฉลี่ย 1.47% ต่อปีสำหรับปริญญาตรี ปริญญาโทไม่มีการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน ทั้งยังพบว่าอัตราเงินเดือนปี 2560 ต่ำกว่าปี 2559 อัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ สำหรับผู้จบการศึกษาปริญญาโท สาขาคอมพิวเตอร์ อัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่เฉลี่ย 1.83% ต่อปี แต่สาขาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ไม่เปลี่ยนแปลง และพบว่าสาขาบริหารและสังคม มีอัตราเงินเดือนลดลงเฉลี่ย -1.39% ต่อปีเท่ากัน

ความแตกต่างของอัตราค่าจ้างของพนักงานที่ใช้แรงงาน กับพนักงานที่สำเร็จการศึกษาระดับต่าง ๆ มีแนวโน้มที่ห่างกันน้อยลง แต่กลับแตกต่างจากผู้บริหารระดับสูง ในองค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น จะมีผลให้ชนชั้นกลางและพนักงานที่ใช้แรงงาน มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้น