แก่นมะกรูดโมเดล ชูชุมชนสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แก่นมะกรูดโมเดลเป็นแบบอย่างความสำเร็จในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนและหน่วยงานในชุมชนที่ช่วยกันคลี่ปัญหา และผนึกกำลังหาทางออกอย่างจริงจัง จนสามารถสร้างตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ ให้กลายเป็นแม็กเนตอีก 1 แห่งของจังหวัดอุทัยธานี

ก่อนที่จะมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวฮอตฮิตบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หมู่บ้านแห่งนี้เคยเผชิญหน้ากับปัญหาการบุกรุกและทำลายป่า เพราะชาวบ้านนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งจากสาเหตุนี้ได้ขยายผลไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อย่างสุขภาพที่ย่ำแย่ และหนี้สินครัวเรือน เป็นต้น

“เผด็จ นุ้ยปรี” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี เล่าว่า การแก้ปัญหาชุมชนแก่นมะกรูดเริ่มต้นเมื่อปี 2556 หลังจากที่เล็งเห็นว่าจังหวัดอุทัยธานีเริ่มมีสถานการณ์ที่เหมือนกับจังหวัดน่านและแพร่ คือ มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพด ซึ่งหากปล่อยให้วัฏจักรแบบเดิมยังคงอยู่ต่อไป ก็อาจทำให้ชุมชนมีผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างจากจังหวัดอื่นที่มีปัญหามาก่อน

“เราจึงไปดูงานที่ดอยตุง ได้เห็นภาพการปลูกป่า ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ของแก่นมะกรูดเป็นเหมือนดอยตุงให้ได้ จึงติดต่อกับทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงให้ช่วยเข้ามาดูพื้นที่ หลังจากนั้นได้เสนอโครงการการแก้ปัญหาไปยังมูลนิธิปิดทองหลังพระ”

จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่เมื่อปี 2556 ของ ต.แก่นมะกรูดทั้ง 4 หมู่บ้าน จำนวนประชากรกว่า 2,000 คน พบปัญหาหลักคือ การบริหารจัดการน้ำ, การเกษตรและพัฒนาอาชีพ และการกำหนดเขตที่ดิน จึงจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ก่อนที่ขยายขอบเขตการทำงานมาสู่ด้านการจัดการการท่องเที่ยวในปี 2558

“การสำรวจยังพบอีกว่า ชาวบ้านมีปัญหาหนี้สินรวมประมาณ 80 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการออกรถไถมาไว้ที่บ้าน ทั้ง ๆ ที่การใช้งานปีนึงไม่ถึง 3 เดือน ทำให้ปัญหาหนี้สินพอกพูน นำไปสู่การบุกรุกทำลายป่า เพื่อปลูกข้าวโพดให้ได้มากที่สุด ผลที่ได้จากการทำเช่นนี้ยังทำให้สุขภาพย่ำแย่จากการใช้ยาฆ่าแมลงและพาราควอต”

ทั้งนั้น หลังจากมีคณะทำงานอย่างจริงจัง ปัญหาต่าง ๆ ก็ถูกแก้อย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างการสร้างฝายชะลอน้ำ และสระพวง รวมถึงการจัดทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล ซึ่งช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน และน้ำแล้งในหน้าร้อน หรือเรื่องของเขตทำกินด้วยที่พื้นที่ตั้งของชุมชนอยู่บนพื้นที่ป่าสงวนฯ แต่ชาวบ้านได้อาศัยมานานแล้ว ดังนั้น จึงมีการทำข้อตกลงร่วมกับชาวบ้านในการจัดทำพื้นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย พร้อมกับห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติม

ขณะที่ด้านการเกษตรและพัฒนาอาชีพ เกษตรและสหกรณ์ จ.อุทัยธานีมีการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายประเภท ทั้งกล้วย เงาะ ทุเรียน อะโวคาโด โดยเฉพาะสตรอว์เบอรี่ที่เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากให้กับชาวบ้าน ซึ่งได้ต่อยอดสู่การขยายพันธุ์ต้นไหลเอง แล้วจำหน่ายไปยังชุมชนต่าง ๆ และลูกค้าที่ซื้อกลับไปปลูกที่บ้าน

“การดำเนินงานต่าง ๆ ทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เพราะเราแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านจริง ๆ โดยทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น สุขภาพแข็งแรง ซึ่งเมื่อพวกเขาเห็นด้วยตาของตัวเองว่า เมื่อปรับวิถีการทำอาชีพแล้วคุณภาพชีวิตดีขึ้น เขาก็จะไม่กลับไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวอีกแล้ว ทำให้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าลดลง”


ต่อเรื่องนี้ “ตุลาพัฒน์ วัฒนทรัพย์ตระกูล” หัวหน้างานพื้นที่ จ.อุทัยธานี สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ขยายความว่า จากเดิมในพื้นที่แก่นมะกรูดมีการปลูกข้าวโพด 12,000 ไร่ ตอนนี้ลดลงเหลือ 9,000 กว่าไร่ โดยมีการทำข้อตกลงกันว่าจะไม่มีกลับมาปลูกข้าวโพดอีก และจะพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น

“การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดต้องใช้เวลา เพราะส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรพันธสัญญา หรือ contract farming อีกทั้งรายได้หลักของพวกเขายังมาจากการเกษตร สิ่งที่เราทำคือส่งเสริมให้เขามาทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าการปลูกข้าวโพด”

ขณะเดียวกัน ได้สนับสนุนให้ต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยว ทั้งการเปิดโฮมสเตย์ และตลาดชุมชน โดยจากการดำเนินงานเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เห็นได้จากช่วงปีใหม่ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 2560-1 ม.ค. 2561 มีนักท่องเที่ยวราว 50,000 คน มีเงินสะพัดกว่า 3 ล้านบาท

สำหรับแผนงานถัดไปของชุมชนคือพัฒนาให้สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี โดยไม่ต้องรอเฉพาะหน้าหนาวเท่านั้น ซึ่งจะปรับเปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วยความที่อยู่ใกล้ห้วยขาแข้งก็ถือว่าเป็นจุดแข็งหนึ่ง พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชประเภทอื่นเพิ่มเติมนอกจากไม้เมืองหนาว พร้อมกับนำเรื่องวัฒนธรรมชุมชนมาชูเป็นจุดเด่นและจุดขายใหม่

“ตุลาพัฒน์” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเกษตรกรของ จ.อุทัยธานีมีหนี้สินรวมประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าการจัดทำแก่นมะกรูดโมเดล ซึ่งเป็นเพราะเมื่อพวกเขามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และมีเครดิตดีขึ้น ก็นำเงินไปลงทุนด้านอื่น ๆ เช่น ซื้อรถยนต์ใหม่ หรือการส่งลูกหลานไปเรียนในเมือง กระนั้น ตนมองว่าชาวบ้านกำลังอยู่ระหว่างการเรียนรู้การวางแผนทางการเงิน โดยทางมูลนิธิปิดทองหลังพระก็ได้เข้ามาให้ความรู้ด้านการทำบัญชีครัวเรือนด้วย

“การพัฒนาต้องใช้เวลา บางพื้นที่ของโครงการหลวงต้องใช้เวลา 10-20 ปีในการพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคง แก่นมะกรูดโมเดลเพิ่งเริ่มมาได้เพียง 5 ปี ถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้นที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ซึ่งเราพยายามปรับเปลี่ยนหลายมิติ สร้างทางเลือกที่ตอบโจทย์ชุมชน เพื่อให้พวกเขาเดินไปในแนวทางใหม่ที่ไม่ต้องทำลายป่าไม้ และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาวได้”