มองมุมใหม่ “ทุนมนุษย์” เชื่อมการศึกษา-ธุรกิจเพื่อคนดิจิทัล

ต้องยอมรับว่าแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ไม่เพียงเกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร หากยังเกี่ยวข้องกับภาคบริการ, ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา อย่างมีความสัมพันธ์กัน

เพราะทิศทางนับจากนี้ไปเป็นเรื่องของการพัฒนาทักษะการทำงานของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากหลายภาคส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้าง ดังนั้น แนวทางในการพัฒนาบุคลากรจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดมุมมองเชิงมหภาคของการผลิต และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยระบุว่า ประเทศไทยยังมีกลิ่นอายของประเทศที่มีประชากรทำมาหากินในภาคเกษตรอยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 11.6 ล้านคน (ลดลงไป 1 ล้านคนใน 10 ปี) แต่สร้างรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปี 2560 เพียง 0.61 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 5.9 ของ GDP โดยรวมเท่านั้น เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ

“ภาคเกษตรจึงไม่ใช่แหล่งรายได้ที่สำคัญอีกต่อไป แต่เป็นวัตถุดิบที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศพัฒนา พูดง่าย ๆ คือทางออกเหลือไม่มากที่จะพัฒนาเกษตรกร เราจึงต้องแบ่งเกษตรกรออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก พวกที่ตั้งเป้าเพียงทำอย่างไรให้มีกิน หมดหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น โดยวิธีการคือปฏิบัติตามแนวทางรัฐบาล ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาด้วยศาสตร์พระราชา หรือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผสมผสานกับทฤษฎีใหม่”

“ผมมองว่ารัฐบาลอาจต้อง set zero เกษตรกรเหล่านี้ก่อน คือ หยุดพักหนี้ และดอกเบี้ยอย่างน้อย 5 ปีก่อน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เข้าโครงการฟื้นชีวิต ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาจะมีกิน และมีเงินทยอยใช้หนี้-ดอกเบี้ยคืนได้ตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป ภายในระยะเวลาอีก 10 ปี ก็น่าจะปลดหนี้ได้ ส่วนกลุ่มที่ 2 พวกที่พอมีความรู้ โดยเราจะเน้นทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ ด้วยการทำการเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการฟาร์มสมัยใหม่ และสนับสนุนให้รวมแปลงให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่”

“ตามแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการมาบ้างแล้ว โจทย์ที่เหลือจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องทุ่มเทให้กลุ่มเกษตรกรทำการผลิตเชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ (เกษตร 4.0) โดยใช้ตลาดนำทาง หากดำเนินการจนประสบผลสำเร็จจะทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถปลดหนี้ มีเงินออมเพื่อคุณภาพชีวิตของครอบครัว และแรงงานกว่า 2 ล้านคนที่ขายแรงงานอยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันได้ค่าแรงค่อนข้างต่ำเฉลี่ยประมาณ 5,000 บาท หรือประมาณ 200 บาทต่อวัน ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะพลอยได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นตามไปด้วย”

“ดร.ยงยุทธ” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาขาบริการ ซึ่งเป็นสาขาใหญ่ที่สุดเพราะมีสัดส่วนใน GDP 6.03 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 58.5 ทั้งยังมีแรงงานที่อยู่ในสาขานี้มากกว่าสาขาการเกษตร และอุตสาหกรรม โดยต้นปี 2561 มีแรงงานจำนวนประมาณ 17 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 45.5 สาขา ซึ่งสาขาบริการสามารถดูดซับกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปี และแรงงานที่เคลื่อนย้ายมาจากสาขาเกษตรไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน

“สาขานี้มีผู้จบระดับสูงกว่าระดับประถมศึกษา ประมาณ 12 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ทั้งยังเป็นแหล่งรองรับผู้จบปริญญาตรี และปริญญาโทสูงที่สุดเทียบกับทุกสาขาบริการ จำนวน 4.7 ล้านคน หรือร้อยละ 28 โดยสาขาย่อยที่เป็นองค์ประกอบใหญ่ ๆ คือ สาขาขายส่งขายปลีก และซ่อมบำรุง มีแรงงานมากกว่า 6 ล้านคน และสาขาโรงแรม ท่องเที่ยว และภัตตาคาร เกือบ 3 ล้านคน ส่วนใหญ่มีภูมิหลังการศึกษาค่อนข้างดี น่าจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และบริการ 4.0 ได้ดีในภาพรวม”

“ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่เป็นความหวังของประเทศ ต้องเผชิญกับการแข่งขันทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยภาพรวมมีความสำคัญต่อประเทศ มีผลต่อปริมาณ GDP คิดเป็น 3.67 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.6 เน้นเฉพาะสาขาย่อยที่สำคัญที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า GDP 2.82 ล้านล้านบาท ในปี 2560 และมีแรงงานอยู่ประมาณ 6.3 ล้านคน ในต้นปี 2561 ภูมิหลังการศึกษาระดับล่าง (ม.ต้น หรือต่ำกว่า) ถึง 3.47 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.2 ระดับกลาง (ปวช. ม.ปลาย ปวส.) จำนวน 1.83 ล้านคน หรือร้อยละ 29.0 และระดับสูง (ป.ตรีขึ้นไป) จำนวน 1 ล้านคน หรือร้อยละ 15.8”

“ดังนั้น เมื่อคิดเป็นมูลค่าเพิ่มต่อหัว สาขาการผลิตนี้มีค่า 447,619 บาทต่อคนต่อปี เปรียบเทียบกับสาขาบริการ และสาขาเกษตร คือ 354,706 บาท และ 51,758 บาท ตามลำดับ ฉะนั้น การมุ่งเป้าไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับรายได้โดยภาพรวมจากประมาณ 276,300 บาทต่อคนต่อปี เป็น 480,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยอาศัยอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเน้นไปที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม และ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ จึงเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศที่เป็นไปได้”

“เพราะจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า การขยายตัวของผลิตภาพควรเกินร้อยละ 4 หรือ 5 ต่อเนื่องกันนับ 10 ปี ทำให้ประเทศไทยพ้นกับดักของประเทศกำลังพัฒนาได้ ผมจึงมองว่าทางออกของประเทศไทย นอกจากต้องปรับเปลี่ยนประเทศไทยด้วยอุตสาหกรรมการผลิตระบบใหม่ คือ อุตสาหกรรม 4.0 และการที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยให้น้ำหนักกับอุตสาหกรรม 4.0 ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่มากนักที่พัฒนาตัวเองมาถึงอุตสาหกรรม 3.5”

“ผมจึงมองว่าการที่มีจำนวนอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถสูง พร้อมที่จะปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจำนวนไม่มาก จึงต้องการแรงงานเลือดใหม่มากกว่าแรงงานเดิมที่มีอยู่ในระบบ ซึ่งมีเพียงประมาณร้อยละ 45 ที่จะพัฒนาผ่านระบบการฝึกอบรมที่เข้มข้นเพื่อปรับให้เป็นแรงงานผลิตภาพสูง ส่วนของแรงงานรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูงพอที่จะทำงานในอนาคตต้องเป็นแรงงานที่มีทั้งศาสตร์ และศิลป์ มีความรอบรู้ โดยผ่านการศึกษาในระบบ STEAM education หรือผ่านการฝึกฝนภายใต้กรอบของ twenty first century skills จึงจะทำงานที่ต้องใช้สมรรถนะ ด้าน broblem solving skills, critical thinking skills, communication skills และอื่น ๆ”

เพราะการทำงานอย่างสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ หรือการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ จนเกิดเป็น “creativeworkforce” ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับ “innovativeworkforce” ในที่สุด