“พรรณพิมล ปันคำ” ปราชญ์ชาวบ้าน เชียงราย สร้างเครือข่ายภูมิปัญญาเกษตรทฤษฎีใหม่ สืบสานเศรษฐกิจพอเพียง

พรรณพิมล ปันคำ

จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ภาคการเงิน-อุตสาหกรรมเดินมาถึงทางตัน แรงงานในเมืองหันหลังให้กับภาคอุตสาหกรรมมุ่งหน้าสู่ภาคเกษตรกรรมในชนบท

“พรรณพิมล ปันคำ” ประธานศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผู้บุกเบิก “โรงเรียนชาวนา” และ “ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน” เล่าวินาทีชีวิตที่ตกต่ำสุดขีดให้กับ “ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล” คณะของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ให้ฟังว่า

“เราอยู่กับอีกสังคมหนึ่ง เป็นสังคมที่หลงไปตามกระแส บ้านไหนมีงานบุญ งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่ง พรรณพิมลต้องไป ต้องจับไมค์ให้ได้ ไม่จับไมค์แสดงว่างานไม่สนุก ใช้ชีวิตสนุกสนาน ไม่ได้คิดอะไร”เธอเล่าจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่

“ภาระที่ต้องรับผิดชอบดูแล ลูกต้องเรียนหนังสือ พ่อ แม่ พ่อ-แม่ของสามีต้องดูแล หนี้สินที่เกิดจากการกู้เงิน 1.5 ล้านบาทเพื่อซื้อที่ดินทำการเกษตรต้องขาดทุนและไม่สามารถใช้หนี้เงินกู้ได้ ตั้งแต่ปี 2538 – 2545 ดอกเบี้ยและต้นเงินกู้พุ่งสูงขึ้นเท่าตัวและต้องนำบ้านและที่ดินแปลงอื่นไปจำนองธนาคารเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ซึ่งสามารถชำระได้เพียงแค่ดอกเบี้ย จนปี 2545 มีหนี้เงินต้นรวมดอกเบี้ย 5 ล้านบาท ถูกฟ้อง ถูกยึด ขายทอดตลาด”

สวนไร่นาของชาวบ้านในจังหวัดเชียงราย

ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ “พรรณพิมล” เริ่มปรับวิถีชีวิตของตัวเองตั้งแต่ปี 2543 จากการรวมตัวกันของเกษตรกรที่เป็นหนี้ทั้งหมดในจังหวัดเชียงรายจาก 1 หมู่บ้าน 60 หลังคาเรือน ยอดหนี้ 30 ล้าน โดยรวมกลุ่มย่อยของตัวเอง 32 ครอบครัว 22 ล้านบาท เพื่อของความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการพักหนี้เกษตรกร แต่ก็ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือ เพราะเป็นการเป็นหนี้เพื่อการลงทุน

โชคชะตาไม่สู่มานะคน เธอไม่ยอมแพ้ต่อฉากรันทด โดยได้รวมกลุ่มกันอีกครั้งเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์-ถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ต้องมายืนในจุดที่ยากลำบากสุด ๆ

ปี 2547 “พรรณพิมล” เริ่มปรับวิถีชีวิตสู่ “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อความอยู่รอดและเนตรมิตรคุณค่าบนเนื้อที่ 14 ไร่ ของศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถูกนำมาเป็น “แปลงทดลอง” ลองผิดลองถูก จนสามารถคิดค้น-วิจัยออกมาเป็น “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ทวนกระแสทุนนิยมเป็นใหญ่

“เราหยุดที่จะก้มมองตัวเอง บันทึกรายรับ รายจ่าย สิ่งที่ได้ คือ ครอบครัวไม่ทะเลาะกัน ทำให้รู้ว่าแต่ละเดือนมีรายจ่ายอะไรบ้าง ยาสีฟันก็ซื้อ สบู่ก็ซื้อ แชมพูก็ซื้อ ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำก็ซื้อ ทั้งที่เมื่อก่อนไม่ต้องซื้อ”

“ตอนเป็นเด็กเวลาล้างจานก็ต้มน้ำล้างไขมันออกก่อนและใช้น้ำขี้เถ้า น้ำด่างมาล้างก็จะขจัดคราบไขมัน เราถึงบอกกับตัวเองว่า เราต้องทำน้ำยาล้างจานเอง”

ผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาชาวบ้าน

“ภูมิปัญญา” แรกที่เกิดจากการเรียนรู้ในอดีตทำให้เกิดการ “คิดค้น” ต่อยอดเป็นน้ำยาซักผ้า-ล้างจาน-ล้างห้องน้ำ-ล้างรถ จากน้ำด่าง-น้ำเกลือ-น้ำมะเฟืองเพราะมีสารขจัดคราบฝังแน่นในเสื้อผ้าได้ดี

“ช่วงที่วิกฤตจริง ๆ คือ บางวันบ้านทั้งบ้านไม่มีเงินเลย จึงเกิดการรวมตัวกัน ทำยาสีฟัน สบู่ แชมพู น้ำยาปรับผ้าหนุ่ม น้ำยาปรับผ้าหนุ่ม ตอนนี้ในบ้านมีเกือบจะครบทุกอย่าง”เมื่อภูมิปัญญาบวกกับความรู้ที่ได้เรียนมามาปรับกับสูตรลับเฉพาะของตัวเอง

จากการรวมตัวกันเมื่อปี 47 ได้ก่อตั้ง “โรงเรียนชาวนา” หรือ “ศูนย์ภูมิปัญญาชาว” เปิดสอนให้กับเกษตรกรเพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาที่ถูกทิ้งไปในอดีต

“ช่วงแรกก็เกิดการต่อต้าน แต่เราบอกว่าไม่ได้จะสอนให้ไถนา แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะฟื้นฟูภูมิปัญญาของเรา จากสิ่งที่เราทิ้งมันไปนาน”

องค์ความรู้ที่ทำวันนี้ชัดเจน เกิดการลองผิดลองถูกมาแล้วเป็น 10 ครั้ง จนสามารถเรามาใช้ได้ เรามีนักวิจัยอาสาที่เป็นขาวนามาทำงานร่วมกัน”

ผลิตภัณฑ์ของศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกิดจากการทดลองแก้ปัญหา “ข้าวดีด-ข้าวเด้ง” ที่ จ.อ่างท่อง จนเกิดเป็นสูตร “ฮอร์โมนน้ำนมข้าวดีด” เพื่อใช้บำรุงข้าวทำให้ข้าวมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30 % มีกลิ่นหอม-รสชาติดี เม็ดไม่แตก

นอกจากนี้ยังสามารถนำไปฉีดในแปลงกะล่ำปี บล็อกเคอรี่ คะน้า สตอร์เบอร์รี่ ทำให้ผลผลิตรสชาติดี-ผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพ จนสามารถนำภูมิปัญญานี้ไปเผยแพร่ให้กับหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง

“ภูมิปัญญาเกิดจากสถานการณ์ ปัญหา ณ เวลานั้น ไม่ได้เกิดปัญหาข้าวดีด ข้าวเด้งอย่างเดียว เกิดน้ำท่วม โรค-แมลงระบาด เพลี้ยระบาด เมล็ดสะเดาทำให้เพลี้ยกระโดดตาย”

นอกจากนี้ ยังมี “จุลินทรีย์สูตร 4 สหาย” หรือ “สารอินทรีย์ระเบิดดินดาน” แก้ปัญหายาฆ่าหญ้า ทำให้รากไม่แตก รากไม่กินปุ๋ย ปัญหาต้นเหลืองตาย สามารถแตกรากใหม่ได้ภายใน 2 วัน หรือ “สูตรฮอร์โมนซุปเปอร์จิ๊บ” หรือ “สูตรรวยไม่เลิก” เป็นตัวอย่างที่ยกมาเพียงไม่กี่สูตรที่ศูนย์ภูมิปัญญา ฯ คิดค้นได้ จากทั้งหมด 100 กว่าสูตร

“เกษตรกรที่เข้ามาเรียนโรงเรียนชาวนาพอใจเพราะสามารถนำสูตรกลับไปใช้ได้จริง ทำให้ต้นทุนต่ำ ลดลงเกินครึ่ง จากต้นทุน 3 แสนบาทต่อ 1 แปลง (10 กว่าไร่) ลดลงเหลือ 3 หมื่นบาท”

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบให้เปิดอบรมเกษตรกรเฉพาะจังหวัดเชียงราย 200 คนต่อปี เป็นหลักสูตร 3 คืน 4 วัน เริ่มเรียนตั้งแต่ 04.00-21.00 น. แต่ศูนย์ภูมิปัญญา ฯ  ได้เปิดอบรมเพิ่มเติมหลักสูตร6 เดือน “เรียนฟรี” ปีละ 2 รุ่น รุ่นละ 90-100 คน เรียนทุกวันศุกร์

“พรรณพิมล ปันคำ” สร้างเครือข่ายเกษตรทฤษฎีใหม่

โดยรองรับเกษตรกรทั่วประเทศ อาทิ การสำรวจแปลงนา การผลิตปุ๋ยนมวัว การผลิตฮอร์โมนไข่ การทำถ่านพลังแกลบ การทำน้ำมันไบโอดีเซล เน้นการเรียนรู้เรื่องข้าวเป็นหลักรองลงมาคือความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดอื่น เช่น กล้วย เสาวรส

เมื่อจบหลักสูตร 6 เดือนแล้ว สามารถเรียนต่อในหลักสูตรนักวิจัยอาสา หลักสูตร 2 ปี และสามารถเข้ารับการอบรมการเป็นวิทยากรกระบวนการและเชิญมาเป็นวิทยากรประจำศูนย์ต่อไป

ปัจจุบันศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน มีเครือข่ายส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง อาทิ จ.อ่างทอง สุพรรณบุรี และในปีนี้จะสร้างศูนย์เครือข่ายอำเภอเพิ่มอีกหลายแห่ง

สำหรับผลิตภัณฑ์หลักของศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น สบู่ ชมพูและยาสีฟัน 2.สมุนไพร และ 3.ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ฮอร์โมนที่ใช้บำรุงพืช

“อาชีพเกษตรต้องการคนที่มีแรงมาทำ ถ้าเราหมดแรง มีแต่ใจ มีแต่ความคิด มีแต่ความอยาก แต่ไม่มีแรงทำ สุดท้ายต้องไปจ้างแรงงาน ไม่คุ้ม ถ้าคิดจะทำเกษตร อย่าปล่อยให้เกษียณ”

เธอน้อมนำศาสตร์พระราชา-เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร (ร.9) มาปรับใช้ในชีวิตทุกขั้นตอน

“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้หมายความว่าต้องอดมื้อกินมื้อ เราจะกินอิ่มนอนอุ่น ถ้าเรายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เราจะมีความสุข เป็นความสุขที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง เป็นความสุขอย่างแท้จริง เป็นความสุขที่เราสัมผัสได้ ถ้ายึดหลักและปฏิบัติจริง จะมีความรู้สึกเบาสบาย ทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่เรามีแรงทำ”

“ยึดการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ปรับวิถีชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการผลิต โดยใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกผักตามฤดูกาล ใช้เวลา 10 ปีในการปรับวิถีการอยู่ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรับแปลงเกษตรสู่เกษตรทฤษฎีใหม่”

“ใช้เวลา 10 ปี ใช้หนี้ 5 ล้านหมด ปี 57 ซื้อที่ดินเพิ่มเกือบ 10 ไร่ เป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ปี 58 ปลูกล้านได้ 1 หลัง สมาชิกที่รวมกลุ่มก็ปลดหนี้ หรือ มีหนี้ที่จัดการได้”

ปัจจุบันศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านนอกจากเป็นแสงสว่าง-ทางออกให้กับเกษตรกรไร้ที่พึ่งแต่ยังรับซื้อสินค้าเกษตร เช่น ข้าว เพื่อส่งออกผ่านบริษัทแอกโกร พลับลิก อินเตอร์เนชั่นเนล-บริษัทสัญชาติจีนเพื่อส่งต่อไปประเทศจีน

ปัจจุบัน “พรรณพิมล” ภายหลังได้รับเลือกให้เป็นศูนย์ปราชญ์ประจำจังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2551 ทำให้บริษัทแอกโกร พลับลิก อินเตอร์เนชั่นเนล ชักชวนให้เข้าไปเป็นนักวิชาการประจำบริษัท ฯ เพื่อให้คำปรึกษา ค้นคว้า วิจัยปุ๋ยอินทรีย์ตามภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านเพื่อปลูกกล้วย เสาวรส และพืชอื่น ๆ

เธอเปิดเผยถึงปัจจัยความสำเร็จ คือ 1.ลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 50 % และ 2.สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง อย่างไรก็ตาม “พรรณพิมล” ยอมรับว่า ผลิตภัณฑ์-ฮอร์โมนที่คิดค้นเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร ทั้งข้าวและพืชสวน-พืชไร่ต่าง ๆ “ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย”

“ผลิตภัณฑ์การกำจัดโรคและวัชพืชเป็นคำตอบสุดท้าย แต่การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับการจัดการธาตุอาหารด้วย โดยการให้ความรู้ในเชิงวิชาการและเป็นวิทยาศาสตร์ให้กับเกษตรกร”

“ขอให้พึ่งตัวเอง ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำแบบพออยู่พอกิน ไม่ต้องหวังรวย แต่ขอให้เป็นอิสระ มีอิสระทางความคิด อย่าให้ใครครอบ มีเกียรติ เกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มั่นคง ขอให้ขยัน ไม่ตกงาน อาชีพเกษตรมั่งคงและสามารถทำให้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีได้ อดีตที่จนเพราะเกษตรกรถูกกระทำ ทำให้จน” เธอทิ้งท้ายไว้เป็นข้อคิดให้กับเกษตรกรอาชีพในวันที่ภาคเกษตรกรรมยังเป็นสันหลังของประเทศไทยและยังมีคน “ทำนาบนหลังคน”