โลกประจักษ์ “ศาสตร์พระราชา” ขจัดความหิวโหย-100 ปท.ร่วมงานวันดินโลก

ต้องยอมรับความจริงว่า การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวในหลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทยทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้มากกว่าหลายล้านไร่ ทั้งยังทำให้เกิดความเสียหายทางชีวภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

สำคัญไปกว่านั้น ยังทำให้เกิดสภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วมซ้ำซากตลอดมา

ดังนั้น ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืน จึงต้องสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้กลายเป็นเขาหัวจุก โดยนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่องทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม

ตลอดเวลาที่ผ่านมา “ศาสตร์พระราชา” ถูกนำไปแก้ไขปัญหาในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังมีหลายสถาบันการศึกษานำ “ศาสตร์พระราชา” ไปดัดแปลงเป็นหลักสูตรสำหรับการเรียนการสอน แต่กระนั้นยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดคิดก่อตั้งวิทยาลัยศาสตร์พระราชาอย่างจริงจัง

เปิดวิทยาลัยศาสตร์พระราชาปี”62

จนทราบข่าวจาก “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” สมัยยังเป็นประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ว่า ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีความคิดที่จะก่อตั้งวิทยาลัยศาสตร์พระราชาขึ้น แต่ถึงตอนนี้เรื่องกลับเงียบหายไป ดังนั้น เมื่อมาเจอ “วิวัฒน์” อีกครั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีโอกาสอัพเดตถึงเรื่องวิทยาลัยศาสตร์พระราชาและเรื่องอื่น ๆ อีกครั้ง

“เรื่องนี้เป็นความคิดของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาที่ต้องการเห็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำเกี่ยวกับเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปมาเรียนอย่างจริงจัง ตอนแรกเราปรารภกับทาง สจล. ซึ่งทางผู้บริหารสภามหาวิทยาลัยเห็นด้วย และคิดว่าภายในปี 2560 น่าจะเริ่มขึ้นได้”

“แต่พอตอนหลังหลายฝ่ายเริ่มเห็นตรงกันว่า ถ้าจะทำวิทยาลัยศาสตร์พระราชาจริง ๆ ควรทำให้ครอบคลุมทุกเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอุทิศพระวรกายตลอดมา 70 ปี ทรงครองราชย์ สเกลของงานจึงกว้างขวางขึ้นและใหญ่ขึ้น เราจึงมาคุยกันต่อว่าอาจใช้สถานที่อื่น แต่ว่าที่ไหน อย่างไรยังไม่สามารถบอกได้ แต่ถามว่าทำไหม ทำแน่นอน เพราะ ดร.สุเมธท่านก็อยากเห็น ผมเองก็อยากทำ ฉะนั้น ถ้าจะทำทั้งทีต้องทำให้ดีเลย และคิดว่าประมาณต้นปีหน้า หรือราว ๆ กลางปีหน้าคงจะเล่ารายละเอียดให้ฟังได้”

ก.เกษตรฯเตรียมจัดงานวันดินโลกปี”61

นอกจากนั้น “วิวัฒน์” ยังเล่าต่ออีกว่า ภายในวันที่ 5-7 ธันวาคม 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจัดงานมหกรรมวันดินโลก 2561 ณ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหัวข้อ “น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน คืนชีวิตให้แก่ดิน คืนความสุขให้แก่เรา” ทั้งนั้น เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา พร้อมกับรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านการพัฒนาดิน

“เนื่องจากที่ผ่านมา ศ.เกียรติคุณ สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ กรรมการบริหารและอดีตเลขาธิการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences-IUSS) เคยเดินทางมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The HumanitarianSoil Scientist) แก่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2555

ตรงนี้จึงเป็นมูลเหตุที่ทำให้เรามีการมอบรางวัล Bhumibol World Soil Day Award ให้แก่ผู้ที่มีผลงาน และกิจกรรมที่เป็นประจักษ์ ในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อความมั่นคงด้านอาหารโลกอย่างยั่งยืน”

“ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนการเตรียมงาน เพราะภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคีเครือข่าย ยังมีการจัดกิจกรรม ณ ศาลากลาง หรือสถานที่ที่แต่ละจังหวัดเห็นสมควร และล่าสุดทราบข่าวว่าตอนนี้ผู้แทนของคณะทูตานุทูตต่าง ๆ กว่า 70 ประเทศ และประเทศสมาชิกของ ASP (Asian Soil Partnership) 23 ประเทศและ 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างตอบรับเข้าร่วมงานวันดินโลกอย่างคับคั่ง”

ทั่วโลกร่วมเปิดศูนย์วิจัยดินแห่งเอเชีย

“วิวัฒน์” กล่าวต่อว่า เพราะเป้าหมายที่เราวางต่อคือต้องการให้ผู้แทนของคณะทูตานุทูต และกลุ่มประเทศสมาชิกต่าง ๆมาร่วมกันเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งเอเชีย (Center of Excellence for Soil Research in Asia-CESRA)ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 บริเวณลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์แห่งแรกของประเทศไทยที่มีพื้นที่กว่า 600 ไร่ เพื่อที่จะให้ศูนย์แห่งนี้ทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มสมัชชาความร่วมมือด้านดินของโลก และกลุ่มความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย

“ที่สำคัญศูนย์แห่งนี้ยังมีการสร้างระบบข้อมูลดินของเอเชียที่เชื่อมโยงกับระบบข้อมูลดินของโลก พร้อม ๆ กับสนับสนุนงานวิจัยทางด้านดินที่ตอบโจทย์ปัญหา ความจำเป็น และมีความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียที่ล้วนมีความร่วมมือระหว่างนักวิชาการทางด้านดินแห่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งศูนย์แห่งนี้ถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของประเทศไทย”

“เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม รวมถึงรางวัลต่าง ๆ อีกกว่า 40 รางวัล ที่สำคัญพระองค์ทรงมีทฤษฎีใหม่ ๆ กว่า 40 ทฤษฎี เราอยากให้คนทั่วโลกมาดู มาศึกษาหาความรู้ และเอาไปทำ เพื่อจะได้นำองค์ความรู้เหล่านี้ไปช่วยคนในประเทศของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ เพื่อจะได้มีกินมีใช้อย่างยั่งยืน”

บรูไนพลิกโฉมนำศาสตร์พระราชาปลูกข้าว

ซึ่งใครจะเชื่อล่ะว่าผลสัมฤทธิ์ในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงทำให้โลกประจักษ์ หากยังทำให้ประเทศที่มั่งคั่งน้ำมันอย่างบรูไนสนใจเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากเอกอัครราชทูตบรูไนประจำประเทศไทยเดินทางมาพบ “วิวัฒน์” ผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้เขาเดินทางไปช่วยสอนเรื่องการฟื้นฟูดินกรด เพื่อให้คนในประเทศทำนาไว้กินเอง

“เขาเชื่อว่าในอนาคตน้ำมันจะต้องหมดไป และเขารู้ว่าอนาคตลำบากแน่ เพราะประชากรของเขาทำอาหารไม่เป็น เลี้ยงสัตว์ไม่เป็น ผลิตอาหารเองก็ไม่เป็นเลย เขาจึงพยายามดิ้นรนศึกษาเรื่องดิน น้ำ และการผลิตอาหาร ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯเคยส่งคนไปช่วยเขาเมื่อ 2 ปีกว่าแต่ไม่สำเร็จ เขาจึงเดินทางมาหาผมเพื่อขอให้ไปช่วย”

“ผมจึงคิดว่าจะไปช่วยตอนอยู่ในตำแหน่งนี้สักครั้งหนึ่งก่อน และอีกครั้งหนึ่งคงหลังจากลงจากตำแหน่งแล้วคิดว่าจะไปช่วยสอนสักเดือน และจะพาทีมงานไปช่วยเขาด้วย เพราะตอนนี้ปัญหาเรื่องปากท้องของคนในโลกเป็นสิ่งสำคัญ โลกกำลังประสบปัญหากับความหิวโหย ที่สำคัญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นทูตพิเศษ(special ambassador) ของสหประชาชาติ ด้าน zero hunger(การขจัดความหิวโหย) ด้วย ผมจึงคิดว่าจะไปช่วยประเทศของเขา”


อันเป็นคำตอบของ “วิวัฒน์ ศัลยกำธร”ผู้ที่เชื่อว่าศาสตร์พระราชาเท่านั้นที่จะช่วยขจัดความยากจนของมวลมนุษยชาติได้