ปฏิวัติวงการเครื่องดื่ม โคคา-โคลาผนึกอินโดรามาหนุนใช้ rPET

จากปัญหาขยะที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ส่งผลเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่มีวัสดุส่วนผสมของพลาสติก ซึ่งในประเทศไทยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย ร่วมกับ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส ประกาศร่วมสนับสนุนและเร่งผลักดันให้มีการกำหนดการใช้พลาสติกรีไซเคิล หรือ recycled PET (rPET) มาทดแทนการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic)

ทั้งนั้น ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด ทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของประเทศไทยต้องใช้พลาสติกผลิตใหม่

โดยประเด็นนี้ “วีระ อัครพุทธิพร” อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า ในฐานะศูนย์กลางการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สมาคมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ทันสมัย ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย รวมถึงผ่านการรับรองในมาตรฐานระบบสากล ซึ่งเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมทั่วโลก

“เทคโนโลยีการรีไซเคิลมีความก้าวหน้าไปมาก โดยสามารถนำขวดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม และอาหารได้อย่างปลอดภัย และหลายประเทศใช้แนวทางนี้สำหรับผลิตขวดเครื่องดื่มมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ประเทศไทยยังติดล็อกข้อกฎหมายอยู่ จึงไม่สามารถเดินหน้าได้ แต่หากในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะได้ เพราะขวดพลาสติกที่ผลิตจาก rPET สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100%”

“นันทิวัต ธรรมหทัย” ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลกที่ใช้ขวด PET เป็นจำนวนมาก บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งพันธกิจตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “World Without Waste” ที่มีเป้าหมายหลักในการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานความรับผิดชอบ โดยบริษัทแม่กำหนดให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ภายในปี 2568 และตั้งเป้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2573

“ที่ผ่านมาเรามีผลิตภัณฑ์ขวดแก้วที่สามารถนำกลับมาล้างทำความสะอาด และใช้บรรจุเครื่องดื่มใหม่ได้ รวมถึงมีน้ำดื่มน้ำทิพย์ที่ใช้ขวดพลาสติก PET ชนิดพิเศษ ซึ่งช่วยลดปริมาณพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์แบบเดิมลงได้ถึง 35% มาตั้งแต่ปี 2555”

“อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยใช้พลาสติกเฉลี่ย 200,000 ตันต่อปี (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) หากมีการปลดล็อกทางกฎหมายจะช่วยลดต้นทุนด้านการผลิตถึง 50% ให้กับผู้ผลิตเครื่องดื่ม ขณะเดียวกันยังเป็นการลดปริมาณการใช้พลาสติก ซึ่งจะทำให้ปัญหาขยะถูกแก้ไขตามไปด้วย”

ด้าน “ริชาร์ด โจนส์” รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส เสริมข้อมูลว่า บริษัทมีเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกจากขวดรีไซเคิลที่ทันสมัย สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐานระดับสากล โดยได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และระเบียบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ บริษัทมีกระบวนการนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาคัดแยก เพื่อคัดสิ่งแปลกปลอมออก ต่อด้วยการชำระล้างทำความสะอาดขวดพลาสติกในอุณหภูมิสูงอีกหลายขั้นตอน ผ่านการกำจัดเชื้อโรค และขจัดสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายออก และใช้ความร้อนสูงถึง 285 องศาเซลเซียส เพื่อนำเกล็ดพลาสติกที่ถูกสับละเอียดไปหลอมต่อเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง

“ในการนำพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้ในการบรรจุอาหาร หรือเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งอินโดรามามีกำลังการผลิตพลาสติกรีไซเคิลอยู่ที่ 214,470 ตันต่อปี และได้ส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ และออสเตรเลีย”


“ส่วนประเทศไทยมีขวดพลาสติกไม่ถึงครึ่งที่ถูกจัดเก็บ และเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนที่เหลือถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนเล็ดลอดไปเป็นขยะทางทะเลที่กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างในระดับโลก

ขณะที่หลายประเทศตระหนักถึงปัญหานี้ และส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล อย่างญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ให้การยอมรับในการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร”


โดยในสหภาพยุโรป เยอรมนีเป็นประเทศที่นำพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดถึง 94% ส่วนฝั่งเอเชียเป็นประเทศญี่ปุ่นที่มีอัตราการนำพลาสติกมารีไซเคิลมากที่สุด ซึ่งอยู่ที่ 83%

“เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการนำพลาสติกมารีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายที่ต้องการร่วมลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ ที่จะส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง รวมถึงยังช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลด้วยการสร้างรายได้ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนอีกด้วย”