พลิกมิติ ‘SC’ สู่ดิจิทัล ชู ‘By Design’ ผลักดันผู้นำรุ่นใหม่

ตลอดปีสองปีผ่านมา กระแสของการนำพาองค์กรของตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซนแบบเดิม ๆ มีให้เห็นทั่วไป บางองค์กรทำได้ดี แต่บางองค์กรยังคลำทางเดินเพื่อจะไปสู่จุดหมาย

หากหลาย ๆ ธุรกิจมองเห็นแล้วว่าการย่ำเท้าอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ใช่เรื่องน่าจะดี เพราะทุกวันนี้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น


“ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น living solutions provider จึงกำหนดทิศทางวัฒนธรรมองค์กรใหม่เพื่อหล่อหลอมพนักงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งในด้านการทำงาน ความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดี

“นอกจากตอบสนองความต้องการขององค์กรโดยตรงแล้ว ยังสามารถสื่อสารความตั้งใจนี้ไปยังลูกค้า โดยยึดถือหัวใจหลัก “สร้างทุกเช้าที่ดีให้กับลูกค้าทุกคน ภายใต้คอนเซ็ปต์รู้ใจ”

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและการแข่งขันในโลกปัจจุบัน เอสซีฯจึงกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ด้วย 4 กลยุทธ์ คือ

หนึ่ง reinvention : ด้วยหลัก 3 D

– digitize ปรับเปลี่ยนการทำงานเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อเก็บ data หาความต้องการลูกค้า วิเคราะห์และพัฒนา

– design ใช้หลัก human-centric เข้าใจปัญหาของลูกค้า เพื่อออกแบบสินค้าและบริการ รวมถึงโซลูชั่นในการตอบโจทย์ลูกค้า

– developer ประสานนวัตกรรม และพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพในทุกระดับราคา

สอง Cocreation : ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจหลากหลายใน ecosystem เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

สาม quality first : สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องคุณภาพสินค้าและบริการ

สี่ top-line growth : บริหารรายได้และยอดขาย ขับเคลื่อนให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

“ณัฐพงศ์” กล่าวต่อว่า เราเคยทำ SC reculture วัฒนธรรมองค์กรของเราเมื่อปี 2550 หรือประมาณ 10 ปีผ่านมา ตอนนั้นเรามีการกำหนด core value  คือ “2C2A” เป็นกรอบในการทำงาน ได้แก่ ช่างคิด ช่างสร้างสรรค์ผลงาน (create), ใส่ใจลูกค้า (care), ตอบสนองต่อความต้องการอย่างรวดเร็ว มีความกระตือรือร้น (active) และมีความเป็นมืออาชีพ (ability)

“แต่มาถึงตอนนี้ เราขยับแนวทางการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้บรรลุเป้าหมายยิ่งขึ้น เราจึงสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยรูปแบบบายดีไซน์ (by design)

คือเน้นสิ่งที่ต้องการให้คนเป็นไปตามที่องค์กรต้องการ โดยเกิดจากการออกแบบพฤติกรรมย่อย รวมกันเป็นค่านิยม และเมื่อค่านิยมถูกขมวดรวมกันจนทำต่อมาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมก็จะถูกออกแบบด้วย 4 หลักการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดวิสัยทัศน์ และเป้าหมายให้ชัดเจน, การกำหนดยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ที่สอดคล้องกัน, การนำแบบแผนไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน จนนำไปสู่ความสำเร็จ”

“ผมมองว่าหัวใจสำคัญของการทรานส์ฟอร์มองค์กร คือการกำหนดทิศทาง และร่วมกันออกแบบวัฒนธรรมองค์กรใหม่ โดยครั้งนี้ผมได้รับความร่วมมือจากบริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ที่ปรึกษาและผู้ให้บริการด้านการพัฒนาผู้นำ และการจัดการองค์กร ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การศึกษา สำรวจและการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ปรึกษา, คณะผู้บริหารระดับสูง, ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และฝ่ายสื่อสารองค์กร รวมไปถึงพนักงานทุกระดับ เพื่อให้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้โดยไม่หลุดกรอบที่องค์กรตั้งไว้”

“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จํากัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้นำ และการจัดการองค์กร กล่าวเสริมว่า หลักการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรต้องมีการวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ล่วงหน้า และคงไม่สามารถสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ ต้องเริ่มต้นจากการค้นหา และศึกษาทั้งปัจจัยภายในและภายนอกมาผสมผสานกัน

“นอกจากผู้บริหารและที่ปรึกษาจะมาร่วมกันกำหนดค่านิยมใหม่ ยังต้องลงลึกถึงการสัมภาษณ์ความคิดเห็นจากลูกค้าและลูกบ้าน รวมถึงการจัดทำแบบสำรวจกับพนักงานทั้งองค์กร เพื่อเป็นการกำหนดกรอบพฤติกรรม ค่านิยม ความคิด ให้ซึมซับไปกับการทำงาน”

ถึงตรงนี้ “ณัฐพงศ์” จึงสรุปว่า นอกจากความท้าทายใหม่ในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องใช้เวลาค้นหาค่านิยมใหม่ ๆ ร่วมกัน และริเริ่มไปพร้อมกันกับองค์กร สิ่งสำคัญอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานทุกคน เอสซีฯจึงจัดทำแอปพลิเคชั่น “SC in one” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะใช้สื่อสารระหว่างพนักงาน เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ในรูปแบบใหม่ สำหรับพนักงานทุกคน โดยมีฟังก์ชั่นต่าง ๆ อาทิ TOOK 9 ที่จะมาช่วยในการนับก้าว มีการจัดอันดับเพื่อสนับสนุน wellness pro-gram, flexible benefit สวัสดิการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของพนักงาน โดยพนักงานเป็นผู้เลือกเอง และ flexible time พนักงานสามารถเลือกเวลาทำงานได้

“นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น โดยการคัดเลือกกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ “SC team robin” เพื่อเป็นตัวแทนในการสร้างการเปลี่ยนแปลง สื่อสารกับเพื่อนพนักงานภายใต้ภารกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ทั้งนั้น เพราะเอสซีฯเชื่อว่าคนคือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร”

ดังนั้น พนักงานทุกระดับจึงต้องมีส่วนร่วมเพื่อจับมือเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้อยู่คู่กับองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป