ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ระดมทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์

ถือเป็นพระราชปณิธานสุดท้ายของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” รัชกาลที่ 9 ที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยด้อยโอกาส รวมถึงแก้ปัญหาความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช จึงเป็นที่มาของ “อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา”

โดยอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสูงถึง 25 ชั้น จึงต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐแล้วราว 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมกับงบประมาณในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ดังนั้น โรงพยาบาลศิริราช จึงได้เชิญชวนคนไทยทุกคน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านการสร้างอาคารหลังนี้ให้เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดโครงการระดมทุนมากมายหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกอาชีพ ทุกพื้นที่ และทุกสถานะ

อย่างในปีที่ผ่านมา “โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” (SiPH) ได้จัดกิจกรรม “ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ” ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมระดมทุนเพื่ออาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “วิถีปฏิบัติในด้านการออม” ของรัชกาลที่ 9 จนเกิดเป็นโครงการรณรงค์ให้คนในสังคม “เดินตามรอยพ่อ” ด้วยการส่งเสริมและปลูกฝังนิสัยการออมรวมไปจนถึงการแบ่งปันแก่สังคมไทย ทันทีที่เริ่มโครงการได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนกว่า 139,000 คน มียอดออมสมทบทุนแล้วถึง 111 ล้านบาท และในปี 2561 นี้โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ จึงสานต่อจัดกิจกรรม “ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ปีที่ 2” เพื่อเป็นการสานต่อการให้ สร้างวินัยการออมอย่างต่อเนื่อง ตามรอยพระราชจริยวัตรในการเป็น “กษัตริย์นักออม” ของรัชกาลที่ 9 ด้วยการเชิญชวนคนไทยเป็น “นักออมเพื่อให้” โดยนำเงินออมมาสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา อาคารศูนย์การแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

“ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การจัดกิจกรรมออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ในปีที่ 2 นี้ ถือว่าเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ในการพัฒนาและดูแลความเป็นอยู่ของพสกนิกร อีกทั้งยังร่วมน้อมรำลึกถึงพระราชจริยวัตรในการเป็น “กษัตริย์นักออม” และ “กษัตริย์ผู้ให้” ของรัชกาลที่ 9 ทั้งยังเป็นการต่อยอดการปลูกฝังวินัยการออม และการเป็นผู้ให้แก่สังคมด้วยการนำเงินออมมาร่วมสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา

“โดยการก่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 65 ด้วยการสนับสนุนของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งโครงสร้างอาคารทั้ง 25 ชั้นแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการตกแต่งภายใน รวมถึงการติดตั้งครุภัณฑ์ทางการแพทย์บางส่วน และในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์คาดว่าต้องใช้งบประมาณราว 1,800 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ได้รับการบริจาคมาแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งประชาชนยังสามารถบริจาคเพื่อสมทบทุนได้อย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากงบประมาณในการจัดสร้างอาคาร และจัดซื้อคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์แล้ว อีกส่วนหนึ่งต้องมีเงินไว้บำรุงรักษาอาคารอีกทางหนึ่งด้วย”

“ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” กล่าวอีกว่า เมื่ออาคารแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถรองรับการบริการรักษาผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 500,000 รายต่อปี มีเตียงผู้ป่วยสามัญหรือผู้ป่วยด้อยโอกาส376 เตียง รองรับผู้ป่วยใน 20,000 รายต่อปี มีศูนย์ความเป็นเลิศ 14 ศูนย์ หอผู้ป่วยวิกฤต 62 ห้อง อีกทั้งยังจะมีครุภัณฑ์ทางการแพทย์ใหม่ที่ทันสมัย อาทิ เครื่องฉายแสงสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ที่ในปัจจุบันศิริราชมีอยู่เพียง 3 เครื่อง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรักษา ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวการรักษาถึง6 เดือน และผู้ป่วยบางส่วนต้องไปรักษาที่จ. ราชบุรี โดยจะจัดซื้อเพิ่มอีก 5 เครื่องไว้ในอาคารหลังนี้

“ไม่เพียงเท่านี้ ภายในอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทั้ง 25 ชั้นยังจะมีการบันทึกพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ตลอดจนพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อให้คนไทยรุ่นหลัง ในอีก 30-40 ปีได้ซาบซึ้งและระลึกถึงพระองค์ท่านอีกทั้งยังจะมีประติมากรรมของศิลปินแห่งชาติ ที่มาพร้อมกับการถ่ายทอดเรื่องราวแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะมาติดตั้งในอาคารหลังนี้อีกด้วย”

“อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือนมีนาคม 2562 อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา จะเปิดให้บริการบางส่วนเพื่อลดปัญหาความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช ทั้งยังเป็นการทดสอบระบบความพร้อมของอาคารก่อนที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ซึ่งเหตุผลที่เลือกวันนี้เพราะไม่อยากให้คนไทยลืมพระองค์ท่าน และตึกหลังนี้จะช่วยให้พสกนิกรได้รับโอกาสในการรักษา ช่วยกู้ชีวิต คืนความสุขให้กับครอบครัวของผู้ป่วยนับแสน นับล้าน”

ขณะที่ “ศ.คลินิก นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ถือเป็นกิจกรรมระดมทุนที่ต่างจากโครงการอื่น เพราะเป้าหมายหลักคือ ต้องการปลูกฝังการออมให้แก่ประชาชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ในปีนี้จึงได้จัดกิจกรรมขึ้นอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการออมอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

“ในปีนี้เราได้มีการปรับรูปแบบของกิจกรรมให้ตอบโจทย์กับเป้าหมายของโครงการมากขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ โดยธนาคารกรุงเทพได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตลอดกระบวนการ เพื่อให้สามารถกระจายไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ ทำให้คนที่เข้าร่วมโครงการไม่ต้องมารับกระปุกที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างปีที่ผ่านมา”

“กระปุกออมเงินสัญลักษณ์จำลองอุปกรณ์ทรงงาน 3 แบบ ได้แก่ วิทยุสื่อสาร กล้องถ่ายรูป และพระราชพาหนะทรงงาน จัดทำขึ้นแบบ 1 แสนชิ้น รวมทั้งสิ้น 3 แสนชิ้น โดยทั้งหมดเป็นการผลิตขึ้นใหม่ ซึ่งกระปุกทั้ง3 แบบ นอกจากสื่อถึงการออม ยังสื่อถึงหลักการทรงงานของรัชกาลที่ 9 โดยรถเปรียบเหมือนการเข้าไปถึงทุกพื้นที่ เข้าไปแล้วจึงรู้ปัญหา ส่วนกล้องเป็นอุปกรณ์ที่ถ่ายภาพเก็บไว้ให้เห็นถึงพัฒนาการและการแก้ไขปัญหา สุดท้ายวิทยุสื่อสารเป็นเครื่องมือสื่อสารติดต่อกัน ต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา”

ด้าน “พจณี คงคาลัย” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พันธกิจที่สำคัญประการหนึ่งของธนาคารกรุงเทพ คือ การสร้างจิตสำนึกให้คนไทยมีวินัยทางการเงิน ใช้เงินอย่างรู้คุณค่า การเข้ามาร่วมสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดพฤติกรรมการออมที่ดีแล้ว ยังเป็นรากฐานแห่งความพอเพียงและมั่นคงทางการเงินให้กับสังคมไทย

“อีกทั้งยังเป็นการนำเอาความถนัด ศักยภาพ ตลอดจนความพร้อมด้านเครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,163 สาขาในการร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีแก่สังคม เป็นช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงกิจกรรมดี ๆ ได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีระบบออนไลน์แบงกิ้งที่รองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากได้ และได้พัฒนาโปรแกรมพิเศษเพื่อรองรับโครงการนี้โดยเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ”

“เราเชื่อว่าการเก็บออม นอกจากจะทำให้เกิดความมั่นคง เกิดความเพียร รู้จักใช้จ่ายพอเพียงแล้ว สิ่งที่จะตามมาต่อไป คือ ความมั่งคั่ง ซึ่งธนาคารกรุงเทพอยากที่จะกระจาย หรือเผยแพร่วัฒนธรรมการออมเหล่านี้ออกไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะสอดคล้องกับนโยบายและบทบาทหน้าที่ของฐานะสถาบันการเงินที่มีความมุ่งมั่น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย”

นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นอกจากจะปลูกฝังวินัยในการออม แต่ยังสร้างจิตสำนึกการเป็นผู้ให้แก่สังคม ด้วยการนำเงินออมมาร่วมสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ซึ่งตึกหลังนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสได้รับโอกาสในการรักษา ช่วยกู้ชีวิต ส่งต่อเป็นความสุขให้กับครอบครัวของผู้ป่วยต่อไป

  • 4 ขั้น ฝึกฝนการออมทุกวัน

สำหรับรูปแบบของการออมในปีนี้ จะเน้นประชาชนได้ฝึกฝนการออมทุกวัน โดยขั้นที่ 1 เริ่มจากการลงทะเบียนเป็น “นักออมเพื่อให้” ซึ่งสามารถสมัครได้ด้วยตนเองที่ธนาคารกรุงเทพ 1,163 สาขาทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 16-25 พฤศจิกายน 2561 หรือจะสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.savingforgiving.com ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2561 โดยมีเงื่อนไขการสมัคร คือ 1 บัตรประชาชน ต่อ 1 สิทธิ เพื่อแลกรับกระปุกได้ไม่เกิน 3 กระปุกโดยไม่ซ้ำแบบ

ขั้นที่ 2 ออมเงินทุกวันที่บ้าน โดยมีระยะเวลากำหนด คือ นับตั้งแต่วันนี้-15 มกราคม 2562 โดยกำหนดเป้าหมายเงินออม 450 บาทต่อ 1 กระปุก

ส่วนขั้นที่ 3 โอนเงินออมจากความมีวินัย และความเพียรผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การสแกน QR code, barcode ผ่านโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม หรืออินเทอร์เน็ตแบงกิ้งของทุกธนาคาร หรือโอนด้วยตัวเองที่สาขาธนาคารกรุงเทพได้ในช่วงวันที่ 16-22 มกราคม 2562

และสุดท้าย ขั้นที่ 4 รับกระปุกออมเงินสัญลักษณ์จำลองอุปกรณ์ทรงงาน 3 แบบนั้น สามารถรับด้วยตนเองได้ที่สาขา ระหว่างวันที่ 16-22 มกราคม 2562 หรือทางไปรษณีย์ ซึ่งจะเริ่มจัดส่งตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป