‘ซีไลฟ์ฯ’ องครักษ์ท้องทะเล เก็บขยะ-เพิ่มพื้นที่ป่าสร้างสมดุล

สถานการณ์ขยะในทะเลไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากสถิติพบว่าไทยติดอันดับท็อปเทนที่มีปริมาณขยะในทะเลจำนวนมาก และที่น่ากลัวคือพบว่ามีสัตว์ทะเลที่ตายโดยไม่รู้สาเหตุ แต่เมื่อมีการตรวจสอบด้วยการผ่าท้อง พบขยะพลาสติกไปจนถึงอวนประมงในท้องของสัตว์ทะเลเป็นจำนวนมาก

ประเด็นนี้จึงทำให้หลายองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องหาวิธีแก้ไข เยียวยา เพื่อให้ทะเลไทยกลับมาสะอาด สวยงามดังเดิม อย่างเช่นภาคเอกชนอย่าง “บริษัท เมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ส จำกัด” เจ้าของแบรนด์ซีไลฟ์ฯที่มีอควาเรียมอยู่ใน 130 แห่งทั่วโลก รวมถึงอควาเรียมในไทยที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนอีกด้วย

“นพดล ประพิมพ์พันธ์” ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจกรุงเทพ ภายใต้บริษัท เมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ส จำกัด และผู้บริหารแบรนด์ซีไลฟ์ แบงคอกฯบอกว่า ในทุกปีซีไลฟ์ฯจะมีโครงการด้าน CSR เพื่อดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับทะเลก่อนเป็นอันดับแรก ในปี 2560 ที่ผ่านมาซีไลฟ์ฯจัดกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะ รวมปริมาณขยะที่เก็บได้มากถึง 200 กิโลกรัม


“เราตกใจกับขยะที่เก็บขึ้นมาได้จากทะเล ในขณะที่ไทยมีจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคน เท่ากับว่าแต่ละคนยังทำให้เกิดขยะมากขึ้นอีก ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือต้องเริ่มจากการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ท้องทะเลจากจุดเล็ก ๆ และขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นเป็นเครือข่าย”

“ในฐานะที่ทำธุรกิจอควาเรียม ที่จำลองท้องทะเลมาไว้กลางใจเมืองที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ที่ต้องร่วมกันดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจึงเริ่มต้นจากกำหนดเป็นนโยบายจากบริษัทแม่ที่ชัดเจนว่า “ห้ามใช้” ถุงพลาสติก ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3 ปี โดยหันมาใช้ถุงกระดาษที่ย่อยสลายได้เร็ว และเตรียมแผนที่จะเลิกใช้หลอดพลาสติกในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย”

“นอกเหนือจากนั้นยังผลักดันโครงการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลูกป่าชายเลน และปล่อยสัตว์น้ำลงสู่ทะเล เช่น ปูดำ เพื่อสร้างความสมดุลให้ป่าชายเลนและท้องทะเล ตอนนี้มีหลายแนวทางที่ซีไลฟ์ฯอยู่ระหว่างพิจารณาถึงความเป็นไปได้ อย่างเช่น ที่บริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกบางราย ได้นำพลาสติกมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าและกระเป๋า ซึ่งมองว่าเป็นไอเดียที่ดี และยังเป็นการใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า เป็นต้น”

สำหรับแนวทางแก้ไข “นพดล” บอกว่า ต้องให้การศึกษา ให้ความรู้ที่ถูกต้องกับคนรุ่นต่อไปว่าคนรุ่นใหม่จะต้องช่วยดูแลโลก ส่วนองค์กรอย่างเราก็ไม่ใช้ถุงพลาสติกมา 2-3 ปีแล้ว ไม่ว่าจะซื้อของเล็กแค่ไหนที่ร้านของซีไลฟ์ฯก็จะได้รับถุงกระดาษไป นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะขยายไปถึงการ “ไม่ใช้” หลอดกับเครื่องดื่มด้วย แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้แค่ซีไลฟ์ฯในไทยอาจยังไม่เห็นอิมแพ็กต์ที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ซีไลฟ์ฯมีสาขาทั่วโลกกว่า 50 แห่ง ซึ่งมองว่าจะเริ่มมีอิมแพ็กต์เข้ามามากขึ้นแน่นอน อย่างไทยขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของทะเล ถ้ามีขยะเต็มไปหมดก็ไม่น่าจะเชิญชวนให้เขากลับมาอีก และจะส่งผลกระทบการท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ทั้งที่เราควรให้ประสบการณ์ที่ดีให้นักท่องเที่ยว รวมถึงในระยะยาวปัญหาอาจจะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีการแก้ไขจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย”

“นพดล” ยังบอกถึงนโยบายของบริษัทแม่ คือ บริษัท เมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ส ด้วยว่า นับตั้งแต่เข้าซื้อกิจการอควาเรียมในประเทศออสเตรเลีย ภายในอควาเรียมที่มีอยู่ทั่วโลกจะต้องไม่มี “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” แต่ภายหลังจากเมอร์ลินฯซื้อกิจการอควาเรียมมี “ปลาวาฬเบลูกา” ติดมาด้วย 2 ตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมที่จะปล่อยลงสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ทะเลที่ปิดปากอ่าว เพราะปลาวาฬทั้ง 2 ตัวเกิดและเติบโตอยู่ในอควาเรียม ซึ่งหากปล่อยลงสู่ทะเลทันทีอาจจะปรับตัวไม่ได้และตายในที่สุด

“เราหาวิธีที่จะนำปลาวาฬเบลูกาคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งใช้เงินสูงมากในระดับล้านปอนด์ เพราะปลาวาฬอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เด็ก จึงสวนทางกับคนที่ไม่มีความเข้าใจมากพอ หากปล่อยลงสู่ธรรมชาติก็ตายแน่นอน เพราะไม่รู้วิธีหากินตามธรรมชาติ จึงร่วมมือกับรัฐบาลไอส์แลนด์ เพื่อคืนปลาวาฬเบลูกาลงสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ทะเลปิดปากอ่าว เพราะประเด็นเหล่านี้ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ที่ผ่านมาเราไม่แตะสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เนื่องจากมีความซับซ้อนทางพฤติกรรมและความคิด”

นอกจากนั้น “นพดล” ยังเล่าให้ฟังถึงภาพธุรกิจในปัจจุบันว่า สำหรับประเทศไทยจะมี 2 แบรนด์ที่เน้นลูกค้าตลาดบน คือ 1) ซีไลฟ์ฯ ที่มีอควาเรียมใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และ 2) หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ ที่สามารถทำรายได้ให้ต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมจำนวนมาก แม้บางช่วงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะหดตัวก็ตาม

“ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากที่ตั้งของอควาเรียมอยู่ในห้างสรรพสินค้าพารากอน ใจกลางกรุงเทพฯ การเดินทางที่สะดวก และใช้เวลาเข้าชมประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาเยี่ยมชม อีกทั้งการพัฒนาหลาย ๆ อย่างล้วนส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวในไทยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของซีไลฟ์ฯ เราจึงต้องวางแผนการตลาดใหม่เพิ่มเติม และเชื่อมโยงกับสาขาอื่น ๆ ในเอเชียทั้งหมด เพื่อทำโปรแกรมท่องเที่ยวร่วมกันแบบแพ็กคู่ เป็นต้น”

“เพราะปัจจุบันสัดส่วนนักท่องเที่ยวในไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนอยู่ที่ 60 : 40 และในขณะนี้โจทย์สำคัญของซีไลฟ์ฯคือการทำตลาดที่เป็นเป้าหมาย เช่น จีน, อินเดีย และยุโรป โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ซีไลฟ์ฯได้ตั้งทีมเพื่อทำหน้าที่จัดโปรแกรมท่องเที่ยว และประสานกับสำนักงานในสิงคโปร์อีกด้วย ส่วนการลงทุนใหม่ ๆ นั้นยังอยู่ในระหว่างหารือกับบริษัทแม่ หากต้องลงทุนขยายอควาเรียมในต่างจังหวัดจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่”

“ยกตัวอย่างที่ซีไลฟ์ฯได้ศึกษาในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดภูเก็ต แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้ามาชมอควาเรียม ซึ่งถ้ามองจากวันนี้ไม่คุ้มค่าลงทุนแน่นอน”


สำหรับซีไลฟ์ฯเป็นบริษัทในเครือเมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ส จำกัด ที่ทำธุรกิจบันเทิงใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มี 130 สาขาทั่วโลก สำหรับสาขาในไทยตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ด้วยสัญญาระยะยาว 30 ปี