เทรนด์อาหารแห่งอนาคต “เราต้องหากระบวนการผลิตที่ยั่งยืน”

จากการที่องค์การสหประชาชาติประมาณการว่าในปี 2030 ประชากรโลกจะเพิ่มจำนวนเป็น 8,500 ล้านคน จนทำให้โลกต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต โดยคาดว่าในปี 2050 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะสูงถึง 4 เท่าของปริมาณทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการผลิต และการบริโภคที่เพิ่มขึ้นแบบเท่าทวีคูณ

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย เนื่องจาก circular economy เป็นนวัตกรรมที่มุ่งให้เกิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่มีของเหลือทิ้งในกระบวนการตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการของเสีย ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิต การใช้งานแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการใช้ซ้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

กระทั่งล่าสุด สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ จัดงาน “Global Business Dialogue 2018” ภายใต้แนวคิด “Innovating the Sustainable Future” เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์โลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน sustainable development goals (SDGs)

โดยมีวิทยากรผู้มีชื่อเสียง และประสบการณ์จากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนถึงแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “มาร์ค บัคลีย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Adaptive Nutrition Joint Achievements (ANJA GmbH & Co. KG), Germany และ ALOHAS ECO-Center บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ที่นำเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตและการบริหารธุรกิจ

ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้คำปรึกษาด้านระบบนวัตกรรม การรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ ออร์แกนิก และผลิตภัณฑ์ ที่มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Circular Economy : The Future of Food”

เบื้องต้น “มาร์ค บัคลีย์” กล่าวว่าอาหารถือว่าเป็นปัจจัยจำเป็นมากที่สุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งยังเป็นฐานพีระมิดความต้องการของมนุษย์ หรือรู้จักกันในชื่อ ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow”s Hierarchy of Needs) ซึ่งถ้าหากคนในสังคมผลิตอาหารเพื่อความยั่งยืนแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือสุขภาพ สังคม ตลอดจนเศรษฐกิจที่อยู่บนยอดพีระมิดจะมีความยั่งยืนตามไปด้วย

ยิ่งหากกล่าวถึงเทรนด์อาหารโลก หลายคนมักจะพูดถึงการรับประทานอาหารวีแกน คีโต มังสวิรัติ ออร์แกนิก หรืออาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล แต่ในอีกทางหนึ่งผมคิดว่าอาหารแห่งอนาคต (the future of food) ต้องให้ความสำคัญกับการคิดค้นกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนมากกว่าประเภทของอาหาร และควรทำในลักษณะเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) โดยทำให้แร่ธาตุ และวิตามินของอาหารอยู่ครบ แต่สูญเสียทรัพยากรให้น้อยที่สุด ที่สำคัญต้องนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้

“เราจำเป็นต้องปฏิรูประบบการผลิตอาหาร เพื่อให้ประชากรโลกได้รับอาหารที่มีคุณภาพดี เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งยังต้องดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งในปัจจุบันการผลิตอาหาร และระบบการเกษตรยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประชากร 1 ใน 3 ของโลกต้องเผชิญภาวะการขาดวิตามิน และแร่ธาตุ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และการพัฒนา (micronutrient deficiencies) ดังนั้น ประชาชนกว่า 2 พันล้านคนต้องประสบปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ทั้ง ๆ ประชากรทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในเมืองเดียวกัน ในภูมิภาคเดียวกัน”

ขณะที่กระบวนการผลิตส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ “การประหยัดต้นทุน” มากกว่าวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการผลิตอาหารใหม่ ๆ ในทั่วโลก แต่เมื่อตั้งคำถามว่ากว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าต่าง ๆ นั้นมีที่มาอย่างไรบ้าง ต้องใช้วัตถุดิบ น้ำ พลังงานมาจากไหน

“อย่าง 30% ของกระบวนการผลิต ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และการเกษตรนั้นต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ(exponential growth) ซึ่งไม่เพียงแต่ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ พลังงาน ดิน ยังรวมไปถึงแรงงาน การผลิต การทำการตลาด การบรรจุภัณฑ์ การขนส่งและอื่น ๆ อีกด้วย”

“ทั้งนี้หากเรามีกระบวนการผลิตที่ดี จะทำให้สิ่งที่สูญเสียไปจากการผลิตสามารถยุติปัญหาการขาดแคลนอาหารได้ทั่วโลก ทั้งยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการผลิตอาหารและเครื่องดื่มในปัจจุบัน จะมีของเหลือจากการผลิตมากถึง 1 ใน 3 และของเหล่านั้นถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งการฝังกลบ เผา และทิ้งลงน้ำ ตรงนี้ทำให้ผืนดินขาดออกซิเจน จนก่อให้เกิดก๊าซมีเทนที่ทำให้เกิดความร้อนมากยิ่งกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย”

“มาร์ค บัคลีย์” กล่าวเพิ่มเติมว่าการจะทำให้เกิดกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ด้วยการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจก่อนว่า circular economy คือเศรษฐกิจแบบ close loop ซึ่งในระบบเศรษฐกิจจะไม่มีขยะ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน ทั้งยังให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และราคาต้องสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง

“Circular economy สามารถทำได้ทั้งในระดับบุคคล ภาคธุรกิจ สังคม ประเทศ จนนำมาประยุกต์ได้ในทุกภาคส่วน อย่างในระดับบุคคล เพียงแค่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด ขณะที่ภาคธุรกิจ ถือเป็นความรับผิดชอบที่ต้องคำนึงถึงผู้บริโภค ด้วยการทำให้สินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตออกมาให้ย่อยสลายได้มากที่สุด หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้”

“อย่างกระบวนการผลิตของเรานั้น จะเน้นวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการทำการเกษตรแนวดิ่ง (vertical farming) แบบระบบปิด ที่ใช้น้ำฝนมารดต้นไม้ ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดปี ทำให้สามารถเพาะปลูกทำการผลิตได้ถึง30 ครั้ง/ปีเมื่อเทียบกับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ที่พึ่งพึงธรรมชาติ”

“อีกทั้งยังมีกระบวนการผลิตทางเลือกอีกมากมาย ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เกิดจากวิธีการทำการเกษตร หรือประมงที่ไม่มีความยั่งยืน ทั้งการปลูกพืชควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลา (aquaponics) การทำเนื้อสัตว์เทียม (memphis meats) และการผลิตเนื้อสัตว์จากพืช (plant-based meat) เป็นต้น”

ถึงตรงนี้ “มาร์ค บัคลีย์” ยกตัวอย่างนวัตกรรมที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตอาหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จนสามารถนำมาประยุกต์ในประเทศไทยได้ อย่าง safety net ที่เป็นนวัตกรรมอวนที่มีแสงสเปกตรัมเฉพาะ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อดึงดูดประเภทปลาที่ผู้ประกอบการต้องการ ช่วยป้องกันปลาประเภทอื่นที่ไม่ต้องการติดอวนขึ้นมา หรืออย่างประเทศไทยเป็นประเทศที่ฝนตกชุก และมีอากาศชื้น ควรนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การนำเอาความชื้นในอากาศมาใช้ในการผลิตเครื่องดื่มได้

“ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การหากระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งผมยอมรับว่าค่อนข้างยาก และมีความซับซ้อน แต่หากทุกคนหาเจอแล้ว นอกจากทำให้เกิดความยั่งยืน ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย พิสูจน์ได้จากผลิตภัณฑ์ที่บริษัทของผมได้ผลิตขึ้นมา พบว่าวิธีการผลิตเพื่อความยั่งยืน ไม่ได้ใช้ต้นทุนมากเช่นในอดีตที่ผ่านมาอีกด้วย”