2 กลยุทธ์ยั่งยืน “ดีแทค” มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน

นอกจากการตั้งเป้าที่จะเป็น “ผู้นำด้านดิจิทัลในประเทศไทย” บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพสังคมด้วยอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นแก่นสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

ดีแทคจึงกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ ๆ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตอย่างดีที่สุด รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตประกอบด้วย

หนึ่ง การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (responsible business)

สอง การเสริมสร้างศักยภาพสังคม (empowering societies)

โดยกลยุทธ์ด้าน “responsible business” ดีแทคคำนึงถึงผลกระทบทางลบของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัล จึงริเริ่มโครงการอินเทอร์เน็ตปลอดภัย (safe internet) เพื่อรณรงค์ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 90% มีภูมิคุ้มกันในการใช้อย่างปลอดภัย ซึ่งดีแทคได้จัดกิจกรรมโรดโชว์และออกแคมเปญรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนไทยรู้เท่าทันต่อการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย

ขณะที่กลยุทธ์ด้าน “empowering societies” ดีแทคตระหนักถึงบทบาทในการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร จึงเป็นที่มาของโครงการ dtac Smart Farmer ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร ยิ่งเรื่องการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ผ่านการทำเกษตรแม่นยำ ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในเฟสของการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างเศรษฐกิจกับสังคม ตามแนวทาง Creating Shared Value (CSV)

นอกจากนี้ดีแทคยังเล็งเห็นถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสาร (digital divide) จึงได้ริเริ่ม “โครงการเน็ตอาสา” เพื่อให้ความรู้และสอนเทคนิคการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจากการดำเนินงานมากว่า 4 ปี ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตไปแล้วกว่าล้านราย

เฉกเช่นเดียวกับ “โครงการพลิกไทย” ที่เริ่มต้นจากแนวคิด “civic crowdsourcing” ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เพื่อเชื่อมโยง “active citizen” เข้าสู่โครงการ “พลิกไทย” แพลตฟอร์มในการสร้างความร่วมมือของภาคพลเมืองที่มีความต้องการความคิด หรือโครงการที่จะแก้ปัญหาในชุมชนของตนเข้ากับการระดมทุน และพลังอาสาสมัครที่มีหลากหลายทักษะและความเชี่ยวชาญ เพื่อการพัฒนาการอย่างสมดุลและเท่าเทียม

เครื่องตะบันน้ำ

ทั้งนี้ ดีแทคคัดเลือก 10 ไอเดียสุดท้าย จาก 500 ไอเดียที่เสนอเข้ามา โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ ความสามารถขยายผลของโครงการ การนำเอาเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการขยายแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคม และ 1 ใน 10 ไอเดียที่ได้รับคัดเลือก คือ “โครงการติดตั้งซูเปอร์ตะบันน้ำ” โดยสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์

โดยล่าสุดดีแทคจัดกิจกรรมขยายผลโครงการพลิกไทย “การบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่สูงด้วยเครื่องตะบันน้ำ” ในพื้นที่ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์

“ประพันธ์ จิวะพงษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดีแทค กล่าวว่า เพราะดีแทคตระหนักถึงบทบาทในการนำเทคโนโลยีการสื่อสารต่อการสร้างสรรค์สังคมไทย ตามวิสัยทัศน์ empowering societies จึงเป็นที่มาของโครงการดีแทคพลิกไทย แพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

“เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย นำเอาปัญหาที่ตนเองประสบพบเจอ ต้องการเปลี่ยนแปลงเสนอเข้ามา และแนวทางหรือวิธีการแก้ไขง่าย ๆ ซึ่งโครงการติดตั้งซูเปอร์ตะบันน้ำเป็นหนึ่งในผู้ชนะ และได้รับเงินสนับสนุนในการดำเนินการส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกัน ดีแทคยังช่วยระดมทุนให้อีกส่วนหนึ่ง”

“สำหรับโครงการซูเปอร์ตะบันน้ำ 4.0 ถือว่ามีการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน และเทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาชลประทานในพื้นที่สูง ซึ่งกระบวนการของตะบันน้ำนอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นโมเดลของการใช้น้ำในภาคการเกษตรบนพื้นที่สูงที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ทั้งยังป้องกันปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างยั่งยืนอีกด้วย”

ที่ผ่านมาสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์มีการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำตามโครงการจำนวน 10 เครื่อง ให้กับเกษตรกรจำนวน 10 ราย ในพื้นที่ ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลและประเมินผลว่าหลังจากที่ชาวบ้านได้เครื่องตะบันน้ำไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำการเกษตรอย่างไรบ้าง

“ประพันธ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ดีแทคยังต่อยอดและสนับสนุนสมาคมที่ถือว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในการขยายผลโครงการไปยังพื้นที่ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากดีแทคสนใจกลไกในการใช้ตะบันน้ำเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร วิถีการผลิต และเป็นเครื่องมือหลักในการดึงคนในชุมชนมาทำงานร่วมกัน

“ที่สำคัญเครื่องตะบันน้ำมาจากความคิดของชุมชน คนธรรมดา ซึ่งไม่ใช้ไฟ ไม่ใช้พลังงาน ทำให้ไม่ต้องลงทุนมาก โดยสามารถช่วยให้เกษตรกรรายย่อยที่เข้าไม่ถึงแหล่งน้ำ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ และการทำเกษตรของเขา ตรงนี้ถือว่าตรงกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงทำให้ดีแทคสนับสนุนการเผยแพร่กิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม” 

“สำหรับเกษตรกรในพื้น ต.วังกวางส่วนใหญ่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด, อ้อย, มันสำปะหลัง ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตและมีรายได้ปีละครั้งเท่านั้น อีกทั้งในการทำการเกษตรจะรอเพียงน้ำฝนเท่านั้น เพราะเป็นพื้นที่สูงลาดชัน ฉะนั้น การสนับสนุนเครื่องตะบันน้ำในครั้งนี้จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำ สามารถเพาะปลูกพืชผักชนิดอื่น ๆ ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน ทำให้เขามีรายได้ทุกวัน”

“จีระศักดิ์ ตรีเดช” นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ กล่าวว่า แม้ว่าพื้นที่ต้นน้ำจะเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำให้กับคนพื้นที่ปลายน้ำ แต่ในทางกลับกันชุมชนในเขตต้นน้ำเองกลับเข้าไม่ถึงการใช้น้ำ เพราะแหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ชาวบ้านต้องหาจากแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงการทำเกษตร

จากปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้การผลิตอาหาร การเพาะปลูกของชุมชนบนพื้นที่สูงเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ด้วยเหตุนี้สมาคมจึงอยากช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนการผลิตอาหารและการเกษตร จากเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรเชิงนิเวศ ด้วยการใช้นวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำบนพื้นที่สูง ที่ชุมชนสามารถเข้าถึงการใช้น้ำต้นทุนต่ำได้ ซึ่งนั่นคือเครื่องตะบันน้ำ

“ที่ผ่านมาสมาคมร่วมกับชุมชนในหลายพื้นที่ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในการพัฒนาตะบันน้ำที่เป็นเอกลักษณ์เหมาะสมกับพื้นที่ของชุมชน โดยได้ทดสอบและเปรียบเทียบกับตะบันน้ำรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งพบว่าซูเปอร์ตะบันน้ำที่สมาคมและชุมชนร่วมกันทำขึ้นมีประสิทธิภาพสูง และสอดคล้องเหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่สูงเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีความทนแล้ว ยังสามารถเพิ่มแรงดันได้อีกด้วย”

“ปัจจุบันเกษตรกรที่นำเอาเครื่องตะบันน้ำไปใช้ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละกว่า 12,000-15,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าน้ำมัน อีกทั้งยังพบว่าการใช้ตะบันน้ำทำให้ไม่มีช่วงที่ขาดแคลนน้ำเลย เพราะสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรเชิงนิเวศ มีการปลูกกล้วยน้ำว้า มะขาม พืชผลไม้ยืนต้นแทนอีกด้วย”

ตรงนี้นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำ ปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูก การผลิตแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้อยู่ดีกินดีในอีกทางหนึ่ง อันสอดคล้องกับกลยุทธ์ empowering societies ในการเสริมสร้างศักยภาพสังคมให้มีความยั่งยืน