ฉันเป็นเกษตรทางรอด

เนื่องเพราะครอบครัวของ“วริศรา จันธี” อาศัยทำกินอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.นาน้อย จ.น่าน มาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงทำให้ต้องบุกรุกถางป่าไปเรื่อย ๆ เพื่อปลูกข้าวโพดขาย แต่กระนั้น ผลผลิตตลอด 1 ปีของการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวไม่ได้ทำให้ครอบครัวของเธอพอกินพอใช้เลยตรงข้ามกลับมีหนี้พอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 5 แสนบาทซึ่งเธอไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากปลูกข้าวโพดต่อไป

จนเมื่อ “บัณฑิต ฉิมชาติ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน เข้ามาพูดคุยกับเธอ พร้อม ๆ กับชาวบ้านเพื่อเปลี่ยนความคิดของพวกเขาในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ให้หันมาใช้ศาสตร์พระราชาในการทำเกษตรทางหลัก ปรากฏว่าเธอ และชาวบ้านต่อต้าน ปิดประตูใส่ พร้อมกับไล่ตะเพิด

หนึ่งครั้ง สองครั้ง สามครั้ง จนครั้งที่สี่ “วริศรา” และชาวบ้านจึงเปิดใจรับฟัง แต่ฟังแล้ว ไม่เห็นหนทางอยู่ดีว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างไร จนที่สุด “บัณฑิต” จึงเสนอทางเลือกให้เธอไปดูงานที่บ้านน้ำมีด เพื่อจะได้มีแรงบันดาลใจ เพราะชาวบ้านที่นี่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาก่อนเช่นกัน

“วริศรา” ยอมรับว่า…เธอรู้สึกต่อต้าน เพราะบ้านน้ำมีดมีสภาพแตกต่างจากบ้านห้วยเลาที่เป็นภูเขาสูง

“บัณฑิต” รู้ทันทีว่าพวกเขาต่อต้าน จึงเสนออีกทางเลือกหนึ่งให้เธอไปอบรมศาสตร์พระราชาที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) จ.น่าน ประมาณ 5 คืน 4 วัน พร้อม ๆ กับคนจากหมู่บ้านอื่น ๆ ปรากฏว่า “วริศรา” สะดุดใจกับพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทางศูนย์ ชตน.เปิดวิดีโอให้ดู ซึ่งพระองค์ตรัสว่าการทำการเกษตรที่ดี อย่ามองว่าเป็นทางเลือก แต่ต้องมองให้เป็นทางหลัก และต้องเป็นทางรอด

“วริศรา” สะดุดกับคำว่า ทางรอด และเธอคิดต่อว่า…อะไรคือทางรอด ? ทางรอดคืออะไร ? และบ้านเราจะรอดได้ไหม ?

ต่อจากนั้น เธอจึงมาคุยกับแม่เพื่อขอทดลองทำเกษตรทางรอดตามแนวทางศาสตร์พระราชา แต่แม่กลับไม่เห็นด้วย จนที่สุดเธอจึงไปอบรมที่ศูนย์ ชตน.อีกครั้ง และกลับมาทำน้ำยาล้างจาน ยาสระผมให้แม่ใช้ ปรากฏว่าแม่เริ่มมองเห็น กระทั่งยินยอมให้ที่ดินทดลองทำเกษตรทางรอด 1 ไร่ จากทั้งหมด6 ไร่ 2 งาน

แรก ๆ ไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีเจ้าหน้าอุทยานมาช่วย จนทำให้ชาวบ้านต่างดูถูกดูแคลนเธอ กล่าวหาว่าเธอ…บ้าไปแล้ว

แต่เมื่อ “ไตรภพ โคตรวงษา” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เข้ามาดู จึงออกแบบพื้นที่ให้ใหม่ทั้งหมด ด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พร้อมกับขุดคูคลองไส้ไก่, สร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำ และปั้นหัวคันนาทองคำ รวมถึงสอนให้ทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพรสจืด, หยอดเมล็ดพันธุ์พืชบำรุงดิน และโปรยเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ล่อแมลง

จนที่สุดภาพของความเป็นจริงค่อย ๆ ชัดขึ้น

กระทั่งทำให้ “แม่” ยอมยกที่ดินทั้งหมดให้ “วริศรา” ทำตามความฝัน เพื่อที่ว่าในอนาคตผืนดินแปลงนี้จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อชุมชนต่อไป ซึ่งแม้จะผ่านมาเพียงเกือบ1 ปี ที่เธอทดลองทำ

แต่ตอนนี้เริ่มมีชาวบ้านกว่า 29 คน เริ่มมองเห็นในสิ่งที่เธอทำแล้ว

“วริศรา” บอกว่า ภายใน 5 ปีนับจากนี้ไป เธอจะปลอดหนี้ และครอบครัวของเธอจะมีผลผลิตที่เกิดจากการนำศาสตร์พระราชามากินมาใช้อย่างยั่งยืน