อิชิตัน กรุ๊ป หนุนชาวเขา “อาข่า” ส่งเสริมคุณค่าชาออร์แกนิคจากขุนเขาสู่คนไทย

เพราะเห็นคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันมีค่าของเกษตรกรผู้ปลูกชาชาวอาข่า บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จึงจัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งมอบชาเขียวคุณภาพดีของชุมชนให้เดินทางสู่มือผู้บริโภค และเป็นอีกแรงผลักดันให้จังหวัดเชียงรายก้าวไปสู่การเป็น “นครแห่งชา” ระดับโลก

โครงการ “ชาคืนต้น” จัดขึ้นโดยบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกชาในพื้นที่ดอยพญาไพร อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกชาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตใบชารายหลักของอิชิตัน

สำหรับโครงการชาคืนต้นปีนี้ อิชิตันมุ่งเน้นให้ความรู้ด้านเกษตรออร์แกนิค โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หาได้ในท้องที่มาผ่านกระบวนการเกษตรผสมผสาน ช่วยดูแลรักษาต้นชาให้เติบโตอย่างปลอดสารพิษ พร้อมสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนรู้จักการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ “อาข่าคิด”

“ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ใบชาคือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจของอิชิตัน ซึ่งบริษัทปฏิบัติต่อชุมชนชาวเขาเผ่าอาข่าบนดอยพญาไพร ในฐานะหนึ่งในสมาชิกครอบครัวของอิชิตันเสมอมา

“เราจัดทำแผนระยะยาวในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น และกำลังสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดผลผลิต เพื่อให้เขาสามารถสร้างรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใส่ไอเดีย ดีไซน์ แต่คงไว้ซึ่งความเป็นชนเผ่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เพื่อให้ชุมชนเรียนรู้แนวทางการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการทำเกษตรกรรมอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

โครงการชาคืนต้นยังได้เชิญบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมชา อาทิ  “ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล” หัวหน้าสถาบันชา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, “ดร.เกริก มีมุ่งกิจ” และ “อ.พินิจ ภูมิแดง” ปราชญ์เกษตรผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ รวมถึง “ลี อายุ จือปา” เจ้าของแบรนด์ อาข่า อาม่า ชาวอาข่ารุ่นใหม่ผู้เปลี่ยนผลผลิตในพื้นที่ให้กลายเป็นแบรนด์ดังระดับโลก เข้าร่วมโครงการ

“ดร.เกริก มีมุ่งกิจ” ปราชญ์เกษตร หนึ่งในวิทยากรที่มาให้ความรู้ด้านเกษตรผสมผสานเพื่อการปลอดสารพิษ กล่าวว่า ชาวอาข่าถือเป็นชนเผ่าที่น่าอิจฉา เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อยู่รอบตัว และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์เหมาะสม

“การนำความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์เข้ามาประยุกต์ นอกจากช่วยประหยัดต้นทุนให้กับการปลูกชาในพื้นที่ได้ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคในปัจจุบัน กระบวนการที่ใช้ก็ล้วนนำมาจากทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาดัดแปลงเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ หรือการนำกิ่งไม้ที่ตกตามป่ามาเผาให้เกิดน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ไล่แมลงศัตรูพืช จนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีใดๆ”

 

 

“ธงชัย ลาชี” เกษตรกรผู้ปลูกชาชาวอาข่า กล่าวว่า ชุมชนได้รับความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรมชาจากอิชิตันอย่างต่อเนื่อง เราได้รับความรู้ทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิต การเพิ่มมูลค่า โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชนเผ่า รวมไปถึงการรักษาคุณภาพวัตถุดิบให้ได้มาตรฐานสากลที่จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและตอบสนองความต้องการของตลาด

“เราทุกคนหวังว่า ชาอาข่าจะทำให้ผู้บริโภคได้ซึมซับวิถีชีวิต เรื่องราวจิตวิญญาณที่ผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน จนทำให้ชาอาข่ามอบประสบการณ์ที่พิเศษกว่าการดื่มชาเขียวทั่วไปให้คนไทยทุกคนร่วมภูมิใจกับพวกเรา”

 

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!