มองมุมคิด “เซ็นทรัล” เปิดศูนย์ผู้พิการระดับโลกมอบอาชีพ

วันที่ 3 ธ.ค.ของทุกปี นับตั้งแต่ปี 2525 ถูกกำหนดให้เป็นวันคนพิการสากลโดยองค์การสหประชาชาติ เพราะต้องการสร้างการตื่นตัวในสังคมเกี่ยวกับการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิของคนพิการ รวมถึงสนับสนุนการสร้างเสริมศักยภาพของคนพิการให้สามารถดำรงชีวิตได้เท่าเทียมกับคนทั่วไป

สำหรับในประเทศไทย ภาครัฐให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมให้กับประชากรผู้พิการที่มีอยู่ในไทยประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ จึงได้ออกพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในปี 2550 โดยมีการกำหนดไว้ในมาตรา 33, 34 และ 35

ซึ่งมาตรา 33 กำหนดไว้ว่าหากสถานประกอบการใดมีพนักงานถึง 100 คน ต้องจ้างงานคนพิการ 1 คนต่อพนักงาน 100 คน หากไม่จ้างจะต้องทำตามมาตรา 34 คือจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมาตรา 35 กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 และ 34 สถานประกอบการต้องให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้า ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวก

หากพูดถึงองค์กรเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้พิการมาเป็นระยะเวลานาน และมีการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการเกินกว่าจำนวนที่กำหนด คงกล่าวได้ว่าต้องมีบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ติดอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน โดยตอนนี้กลุ่มเซ็นทรัลมีแรงงานผู้พิการเป็นพนักงานประจำ 760 คน มีสวัสดิการเหมือนพนักงานปกติ และล่าสุดวางโครงการผลิตศูนย์พัฒนาทักษะแรงงานผู้พิการระดับ world class โดยมีเป้าหมายจะทำให้เสร็จภายในปี 2562 ด้วย

“ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส Sustainable Development บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มเซ็นทรัลให้ความร่วมมือตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการมาแล้วกว่า 11 ปี แต่จากการดำเนินงานในปีแรก ๆ เริ่มพบปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้พิการที่สามารถทำงานได้ โดยเมื่อคำนวณจากจำนวนพนักงานทั้งหมดของกลุ่มเซ็นทรัลที่มี 73,000 คน เท่ากับว่าเราต้องจ้างผู้พิการ 730 คน

และอีกปัญหาคือการลาออกของผู้พิการมีอัตราสูง แต่ละองค์กรจึงมีอัตราแรงงานผู้พิการลาออกราว 50-60% ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมไทยไม่ได้เตรียมความพร้อมให้ผู้พิการสู่โลกการทำงาน จนทำให้พวกเขาปรับตัวไม่ได้

“ถึงแม้มาตรา 34 จะเป็นเรื่องง่ายกว่าการปฏิบัติตามมาตราอื่นเกี่ยวกับแรงงานผู้พิการ แต่ทางเซ็นทรัลมองว่าการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ปัจจุบันกองทุนมีเงินสะสมถึง 1.2 หมื่นล้านบาท) ไม่ใช่เรื่องที่ยั่งยืน และเป็นการผลักภาระของสังคม ซึ่งไม่ใช่นโยบายของกลุ่มเซ็นทรัล เพราะในทุกเรื่องที่เราทำภายใต้โครงการเซ็นทรัลทำ ซึ่งเป็น CSV (creating shared value) สร้างคุณค่าร่วมให้สังคมไทย ต้องเป็นการทำงานทางสังคมอย่างมีระบบ มีวัตถุประสงค์ และมีปรัชญาการทำงานที่ชัดเจน”

“ดังนั้น ถ้ามองย้อนกลับไป 6 ปีที่เราทดลองหลาย ๆ อย่างเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้พิการอย่างจริงจัง จนไปร่วมมือกับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นทั้งโรงเรียน และศูนย์ฝึกอาชีพ รวมถึงเลี้ยงดูผู้พิการ โดยช่วงแรกเราขอให้มูลนิธิผลิตแรงงานผู้พิการให้เราด้านช่างอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน ป้อนหน่วยงานศูนย์ซ่อม Power Buy และพบว่าจากนั้นเป็นต้นมา เราไม่มีอัตราการลาออกของแรงงานคนพิการเลย เพราะพวกเขาพักอยู่ที่มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ ทำให้ไม่ต้องปรับตัวมาก และมีความสุขกับสภาพแวดล้อม ถึงตอนนี้เรามีพนักงานผู้พิการใน Power Buy ในตำแหน่งคอลเซ็นเตอร์ด้วย”

“ดร.ชาติชาย” อธิบายต่อว่าปัจจุบันเราจ้างงานผู้พิการทั่วประเทศเป็นพนักงานประจำแล้ว 467 คน เพื่อปฎิบัติงานในหลายบริษัทขิงกลุ่มเซ็นทรัล ที่เหลือทำตามมาตรา 35 คือให้สัมปทานพื้นที่ในการประกอบอาชีพ เช่น ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลประมาณ 86 คน สนับสนุนในเรื่องฝึกอาชีพเป็นกลุ่ม 207 อัตรา เช่น ส่งเสริมผู้พิการทางสติปัญญาที่ จ.เชียงใหม่ ในการผลิตสินค้าที่ทำจากผ้าทอมือซาโอริ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การทอผ้าแบบญี่ปุ่น และตอนนี้เรากำลังดำเนินการให้แฟมิลี่มาร์ท 200 สาขาทั่วประเทศเป็นช่องทางจัดจำหน่าย

“นอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนกลุ่มผู้พิการที่ทำเรื่องปุ๋ยมูลไส้เดือน จ.นครปฐม โดยเราเข้าไปสอนการทำปุ๋ย สร้างศูนย์ และโรงเรือน รวมถึงการออกแบบแพ็กเกจ มอบอุปกรณ์ที่จำเป็น และการขอใบอนุญาต ซึ่งเมื่อผลิตเสร็จแล้ว เราให้ช่องทางจำหน่ายที่ไทวัสดุ ที่สำคัญอีกอย่างคือเราช่วยเอาต์เลตผู้พิการชื่อว่าร้านทอฝัน ที่เราร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประมาณ 4 ปีแล้ว โดยนำผลิตภัณฑ์จากฝีมือผู้พิการมาขาย หรือแม้กระทั่งสนับสนุนนักกีฬาผู้พิการ เช่น ฟันดาบ กรีฑา ปิงปอง และกำลังจะเพิ่มกีฬาว่ายน้ำ จากการดำเนินงานตามมาตรา 33 และ 35 เท่ากับเราส่งเสริมแรงงานผู้พิการในปี 2561 กว่า 760 อัตรา”

สืบเนื่องจากความสำเร็จในการร่วมมือกับมูลนิธิพระมหาไถ่ฯ ทางกลุ่มเซ็นทรัลจึงต้องการขยายความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดย “ดร.ชาติชาย” บอกว่ากลุ่มเซ็นทรัลกำลังจะมีโปรเจ็กต์ในการสร้างศูนย์ส่งเสริมการทำงานผู้พิการใหญ่ที่สุดในประเทศ และวางแผนจะเพิ่มผู้พิการในบริษัทเซ็นทรัลออนไลน์ที่มีคุณวรวุฒิ อุ่นใจ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพราะเทรนด์ของธุรกิจค้าปลีกมีการขยับสู่ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และเราเชื่อมั่นว่าแรงงานผู้พิการที่ผ่านการพัฒนาโดยมูลนิธิพระมหาไถ่ฯโดยร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัล สามารถทำงานได้ดีอย่างแน่นอน

“ตอนนี้เซ็นทรัลออนไลน์มีพนักงานตอบรับทางโทรศัพท์เพื่อบริการลูกค้าประมาณ 600 คน เราตั้งเป้าว่าจะเพิ่มผู้พิการทำงานในตำแหน่งนี้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมดในกลุ่มธุรกิจนี้ เราพูดคุยกับมูลนิธิพระมหาไถ่ฯ และจะประสานงานกับ พม.เพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน เพราะเราอยากทำศูนย์ส่งเสริมการทำงานผู้พิการระดับ world class เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพอย่างครบวงจร และจะสร้างแรงงานผู้พิการในหลายตำแหน่งไม่ใช่เพียงพนักงานรับโทรศัพท์ เช่น โปรแกรมเมอร์ ช่าง และเจ้าหน้าที่ไอทีด้วย”

“โดยเราได้รับความเห็นชอบจากบาทหลวง ดร.พิชาญ ใจเสรี ประธานมูลนิธิพระมหาไถ่ฯ ในการเช่าพื้นที่ของมูลนิธิประมาณ 5 ไร่ เพื่อสร้างอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยศูนย์นี้จะรองรับผู้พิการได้ 500-600 คน ซึ่งเซ็นทรัลกรุ๊ปให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงาน และอยู่อาศัยของผู้พิการ โดยจะให้ผู้เชี่ยวชาญทางสถาปัตยกรรมอาคารสำหรับผู้พิการมาออกแบบ ประกอบด้วยออฟฟิศ ที่ฝึกอบรม โรงยิม และที่พัก ซึ่งเราอยากให้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างภายในปี 2562 หากในอนาคตจะมีบริษัทอื่นที่ต้องการแรงงานผู้พิการที่มีทักษะ เรายินดีที่จะให้จ้างคนที่ผ่านการพัฒนาจากศูนย์ของเราได้”

“เพราะกลุ่มเซ็นทรัลไม่ได้ช่วยเหลือผู้พิการเพราะกฎหมายบอกให้ช่วย แต่เราช่วยเพราะเห็นความจำเป็นของการอยู่ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การดำรงชีวิตด้วยการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน”

อันเป็นคำตอบของ “ดร.ชาติชาย” ที่กล่าวย้ำอย่างหนักแน่น

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!