เติบโตไปด้วยกัน

CRภาพ:มติชน

คอลัมน์ CSR Talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 

“Inclusive growth” หนึ่งในคำประชาสัมพันธ์ยอดฮิตในการทำ CSR ขององค์กรยักษ์ใหญ่หลายองค์กร รวมทั้งประเทศไทย แท้จริงแล้วความหมายของคำคำนี้คืออะไร เพื่อที่สังคมจะได้มีความชัดเจนไม่ใช่แค่ลมปากผ่านหู

OECD ให้นิยามสั้น ๆ และกระชับได้ใจความว่า “เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความทั่วถึง เป็นธรรมในทุกภาคส่วนของสังคม และสร้างโอกาสสำหรับทุกคน”

TDRI นำเสนองานวิจัย “การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมของไทย” ซึ่งระบุถึงปัจจัยที่จะทำให้การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมเป็นจริงได้ 4 ด้าน

หนึ่ง ด้านการเงิน คือการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเท่าเทียม เพราะสินเชื่อเป็นการรับประกันผลประโยชน์และโอกาสจากการลงทุน แม้ดูเหมือนว่าขณะนี้ภาคการเงินของไทยจะปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น คำถามคือสินเชื่อนั้นไปสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงจริงหรือไม่ มีปริมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อยไปสู่รายได้ปานกลาง หรือรายได้สูงจำนวนเท่าใด

สอง ด้านแรงงาน คือการมีหลักประกันที่ดีในการทำงานทั้งในระบบและนอกระบบ ทั้งในด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย ความเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าแรงงานในระบบ เช่น เกษตรกร แรงงานรับจ้าง รัฐควรมีหลักสร้างหลักประกันที่ดีให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย

สาม ด้านการพัฒนา ที่เน้นความสมดุลระหว่างเมืองและชนบท เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการอพยพแรงงานมาสู่เมือง ชนบท ควรมีการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างพอเพียง มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำสะอาด

สี่ ด้านการเมือง นโยบายทางการเมืองต้องเป็นการกระจายความเสมอภาค พัฒนาทุนมนุษย์ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในระยะยาว ไม่ใช่ลักษณะของการอุดหนุน เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน บัตรสวัสดิการ เป็นต้น ตัวอย่างการพัฒนาชนบทในยุคประธานาธิบดีปัก จุงฮีของเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุด

“inclusive growth” จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ แต่จะต้องทำอย่างมีกระบวนการ และมองในทุกมิติ การที่ธุรกิจค้าปลีก อย่างห้างสรรพสินค้าเปิดพื้นที่ให้สินค้าชุมชนเข้ามาขายสินค้า 4-6 ครั้งต่อปี ยังไม่สามารถอ้างได้ว่าองค์กรกำลังสร้างสังคมไปสู่ “inclusive growth” เพราะไม่ได้ไปถึงจุดที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชนที่นำสินค้ามาขายอย่างชัดเจน ตรงกันข้าม บางรายอาจประสบภาวะขาดทุน แม้ไม่ต้องจ่ายค่าที่ เพราะค่าเดินทาง ค่าขนส่ง และค่าเวลาก็ไม่คุ้มทุนที่ลงไป

ธนาคารชุมชน สหกรณ์ชุมชน เป็นเครื่องมือนำไปสู่ความเป็นองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งได้ หากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้องค์กรชุมชนสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจ จัดสวัสดิการให้สมาชิก รวมทั้งเป็นหลักประกันที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสมาชิกอย่างยั่งยืน ในงาน CSR ที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่การพัฒนาชุมชน การสร้างองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งเป็นคำตอบที่จะนำไปสู่เป้าหมาย

ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา เห็นผลช้า ไม่ทันกับการนำไปประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าได้ก้าวไปสู่ต้นทางของหลักชัยเพียงก้าวเดียวจะเห็นผลที่น่าภาคภูมิใจ ซึ่งมีหลายองค์กรได้ก้าวมาสู่จุดนี้แล้ว และหากเดินต่อไปอย่างต่อเนื่อง สามารถบอกกับสังคมได้ว่าองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “inclusive growth” ให้กับสังคมไทย

สถานการณ์ของโลกและสังคมไทยในปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่จะสร้างปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน องค์กรธุรกิจได้รับการเรียกร้องให้ร่วมแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่ก่อจลาจลในกรุงปารีส สถานการณ์ในเวเนซุเอลา ถ้าวิเคราะห์ให้ดีต่างมีผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล ไม่ทั่วถึง และไม่มีความเป็นธรรมทั้งสิ้น

ถ้าผู้บริหารประเทศยังคงสนใจแต่การขับเคลื่อน GDP โดยเอื้อผลประโยชน์ทั้งด้านกฎระเบียบ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ และแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการโยนเม็ดเงินลงไปเป็นระยะ ๆ เพื่อสร้างคะแนนนิยม การที่จะไปสู่การเติบโตร่วมกันคงไม่มีวันเป็นจริง

แต่ถ้าองค์กรธุรกิจหันมาสร้าง “inclusive growth” โดยตั้งเป้าหมายเพียง 1 องค์กร 1 จังหวัด เราคงก้าวพ้นชะตากรรมของสังคมล่มสลายได้อย่างแน่นอน

หมายเหตุ – ข้อมูลอ้างอิง : http://www.oecd.org/inclusive-growth/#introductionhttps://tdri.or.th/2016/01/inclusive-growth-new-development-model/

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!