มาสายแล้วจะทำไม ?

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

มาทำงานสาย คำสั้น ๆ แต่เป็นปัญหาที่ทุกองค์กรมักพบเจออยู่บ่อย ๆ ซึ่งบริษัทจำนวนไม่น้อยมักจะแก้ปัญหาการมาสายของพนักงานด้วยการ “ลงโทษ” เสียเป็นหลัก และเป็นวิธีเก่าแก่แบบเดิม ๆ

ไม่ว่าจะเป็นการตัดเงินเดือนพนักงานที่มาสาย ซึ่งในบางกรณีก็หักเงินเดือนพนักงานแบบผิดกฎหมายแรงงานอีกต่างหาก แต่บริษัทเคยติดตามผลบ้างไหมครับว่า เมื่อตัดค่ามาสายแล้ว พนักงานยังมาสายอยู่เหมือนเดิมหรือไม่

ประเด็นที่ผมจะนำมาชวนให้คิดในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการหาข้อสรุปว่า ตกลงบริษัทจะหักเงินพนักงานมาสายดี หรือจะใช้วิธีตัดเงินเดือนพนักงานเมื่อมาสาย ตามระเบียบดีนะครับ

แต่อยากจะให้ข้อคิดบางประการว่า…บริษัทได้หาสาเหตุของการมาสายของพนักงานเจอแล้วหรือยัง ?

เพราะการมุ่งไปที่การลงโทษเป็นหลัก ไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตัวต้นเหตุ แต่กำลังแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเสียมากกว่า แถมไม่แน่ว่าจะแก้ปัญหาการมาสายได้จริงเสมอไป เพราะพนักงานที่ถูกตัดเงินเดือนจะบอกว่า “บริษัทตัดเงินเดือนลงโทษฉันไปแล้วจะมาเอาอะไรกันอีกล่ะ”

เรามาดูกันไหมครับว่า สาเหตุของพนักงานที่มาสายเกิดจากอะไรกันบ้าง ?

1. เกิดจากพฤติกรรมของพนักงานคนนั้น ๆ โดยตรง เช่น เป็นคนนอนดึกมาก, ชอบเที่ยวเตร่กินเหล้าสังสรรค์ดึก ๆ ดื่น ๆ กับเพื่อนร่วมแก๊งทุกคืน, มีอาชีพเสริมตอนกลางคืน ฯลฯ ก็เลยทำให้ตื่นเช้าไม่ได้ ทำให้ต้องมาทำงานสาย

2. ลูกน้องที่มาสายเป็นคนไม่รับผิดชอบงาน ทำงานปัจจุบันให้เหมือนเป็นงานอดิเรกอยู่ศาลาพักร้อนไปวัน ๆ  เพื่อรองานใหม่ ไม่สนใจงานปัจจุบันก็เลยมาสาย

3. บ้านอยู่ไกลจากบริษัทมาก รถติด ทำให้ฝ่าการจราจรมาไม่ทันเวลางาน ซึ่งเหตุเรื่องรถติดนี่ มักจะนำมาอ้างกันบ่อยมากกว่าสาเหตุอื่น

4. พนักงานมีข้ออ้างสารพัด เช่น ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียนตอนเช้า, ต้องดูแลบุพการีที่เจ็บป่วย, ตัวพนักงานเองสุขภาพไม่ดี ฯลฯ

5. เกิดจากตัวหัวหน้างานที่มาสายเสียเอง ให้ลูกน้องเห็นอยู่บ่อย ๆ เป็นประจำ ทำให้ลูกน้องเอาเป็นแบบอย่างบ้างน่ะสิครับ เพราะทีหัวหน้ายังมาสายได้ แล้วทำไมฉันจะมาสายบ้างไม่ได้ล่ะ

6. หัวหน้าเป็นคนขี้เกรงใจลูกน้อง ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนลูกน้อง กลัวว่าถ้าไปตำหนิว่ากล่าวแล้ว เดี๋ยวลูกน้องจะเคือง ลูกน้องจะไม่รัก ก็เลยทำให้ลูกน้องคนอื่น ๆ เห็นว่าทีเพื่อนเรามาสายไม่เห็นหัวหน้าว่าไง เราก็ me too (แปลว่า กูด้วย) บ้างสิ ผลก็เลยทำให้พนักงานในหน่วยงานนั้นมาสายกันแทบทั้งแผนก

7. หัวหน้างานไปมีข้อยกเว้นให้กับลูกน้อง ที่ทำงานดีที่หัวหน้าปลื้มชื่นชม พอลูกน้องคนนี้มาสายก็ไม่ว่ากล่าวตักเตือนอะไร เพราะไปให้เครดิตเรื่องงานเป็นหลัก ก็เลยทำให้ลูกน้องคนนี้กลายเป็นอภิสิทธิ์ชนในหน่วยงานไป

8. ไม่ประเมินการทำงานในระหว่างทดลองงานให้ดี เห็นพฤติกรรมการมาสายตั้งแต่ตอนทดลองงานแล้ว ยังดันทุรังบรรจุให้เป็นพนักงานประจำ เพราะอ้างว่าไม่มีคนทำงาน ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำยิ่งลายออก มาสายหนักกว่าเดิมเสียอีก

อันที่จริงแล้ว สาเหตุการมาสายน่ะมีมากกว่านี้อีกนะครับ

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ท่านจะเห็นได้ว่าคนที่ควรจะต้องคิดหาสาเหตุ หรือป้องกันปัญหาเรื่องพนักงานมาสายที่ดีที่สุด คือ “หัวหน้า” ของพนักงานที่มาสายนั่นแหละครับ

ถ้าหัวหน้ายังปล่อยปละละเลย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องที่มาสาย คิดได้อย่างเดียว คือถ้าใครมาสายก็ตัดเงินเดือนตามระเบียบ นี่ปัญหาการมาสายก็จะยังคงอยู่อย่างงี้แหละครับ

หัวหน้าจึงควรหันกลับมาดูสาเหตุการมาสายของลูกน้องตัวเอง แล้วแก้ไขพฤติกรรมเป็นรายบุคคล (case by case) เพราะแต่ละคนจะมีปัญหาที่แตกต่างกันไป

ถ้าพยายามแก้ไขทุกอย่างแล้วจนถึงการว่ากล่าวตักเตือนแล้วก็ยังไม่ฟัง ให้ทำอย่างนี้สิครับ

1. แจ้งให้ทราบโดยทั่วกันเลยว่า ประวัติการมาทำงานของพนักงานจะมีผลกับการขึ้นเงินเดือนประจำปี และการจ่ายโบนัสให้น้อยลง จนถึงไม่ให้เลย รวมถึงการงดพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ถ้าพนักงานคนไหนยังมิได้นำพาและมาสายเกินกว่าที่กำหนดไว้ ก็เตรียมทำใจในเรื่องเหล่านี้เอาไว้ได้เลย

2. ดำเนินการตามวินัย เช่น ตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร จนถึงการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งสุดท้ายว่าห้ามสายอีกนะ ถ้ามาสายอย่างนี้อีก บริษัทจะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับพนักงานคนอื่น ๆ แล้วถ้าพนักงานคนไหนยังผิดซ้ำคำเตือนก็เลิกจ้าง ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานในบริษัทได้รับรู้ว่าบริษัทจะไม่ยอมรับการมาสายซ้ำซากแบบนี้ได้อีกต่อไป

ทั้งหมดที่ผมบอกมานี้จะเห็นได้ว่า ไม่จำเป็นต้องไปตัดเงินเดือนพนักงานที่มาสาย แต่ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ตัวสาเหตุ (ซึ่งต้องหาสาเหตุให้เจอเสียก่อน) เป็นรายบุคคล แล้วว่ากันไปตามระเบียบวินัย

แต่ที่สำคัญ คือ หัวหน้าแต่ละคนมีความพร้อม และกล้าพอที่จะแก้ปัญหาการมาสายของลูกน้องอย่างจริงจังหรือไม่

ที่สำคัญ คือ…วันนี้หัวหน้าได้เป็นตัวอย่างที่ดีในการมาทำงานตรงเวลาให้ลูกน้องเห็นแล้วหรือยัง ?

เพราะถ้าแม้แต่หัวหน้าเองก็ยังมาสาย แล้วอย่างนี้จะไปตักเตือนว่ากล่าวให้ลูกน้องมาตรงเวลาได้อย่างไร ใครเขาจะไปเชื่อ

คำพังเพยโบราณสอนไว้ว่า “ถ้าหัวส่าย หางก็กระดิก ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก” ขนาดแม่ปูยังเดินเบี้ยว จะไปสอนลูกปูให้เดินตรงได้อย่างไรล่ะครับ

บริษัทไหนที่ยังแก้ปัญหาการมาสายที่ปลายเหตุ น่าจะลองนำเรื่องนี้กลับไปคิดทบทวนนโยบายกันดู เริ่มต้นด้วยการจัดการกับหัวหน้าที่มาสายเป็นประจำเสียก่อนดีไหมครับ ?