มนุษย์เงินเดือนในอนาคต เรียนรู้ร่วม AI-ปรับหลักสูตรตั้งรับ

ต้องยอมรับว่าด้วยความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความทันสมัยของเทคโนโลยี ทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะตำแหน่งงาน และทักษะการทำงานในโลกยุคดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดสัมมนาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “Flagship Summit 2018 : Skills for the Future” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนาคณะ เพื่อร่วมกันสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับทักษะที่ผู้นำและคนทำงานต้องมีในโลกยุคดิจิทัล

โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 3 สถาบันการศึกษา ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาบันด้านบริหารธุรกิจอันดับ 1 ของประเทศ จากการจัดอันดับของ QS World University Rankings ประเทศอังกฤษ ประจำปี 2018 ได้แก่ “ศ.คาร์ ยัน ทัม” คณบดี School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) “ศ.ฮัม ซิน ฮุน” รองคณบดี NUS Business School, National University of Singapore และ “รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุย

เบื้องต้น “ศ.คาร์ ยัน ทัม” กล่าวว่า ในอนาคตระบบหุ่นยนต์ และระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในอาชีพการทำงาน เพราะกระบวนการทำงานของระบบดังกล่าวมีความแม่นยำต่อการตัดสินใจ และคาดคะเนได้ดีกว่ามนุษย์ ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านสินค้าและบริการ ทั้งยังทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็ว เข้าถึงตลาดที่ใหญ่ และกว้างขวางขึ้น

“ทั้งนี้ หากมองถึงทักษะงานที่ระบบหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ไม่สามารถทดแทนได้ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับทักษะด้านการคิดเชิงวิพากษ์, ความคิดสร้างสรรค์, ความเอาใจใส่ดูแล, การทำงานเป็นทีม และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นทักษะที่แรงงานในยุคอนาคตจำเป็นต้องมีในอีกทางหนึ่งด้วย”

“จากการคาดการณ์พบว่า กว่า 85% ของงานที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2030 ยังไม่สามารถระบุได้ว่า อาชีพ หรือตำแหน่งงานใหม่ ๆ ใดบ้าง หากแต่ทักษะของงานใหม่ในอนาคตจะต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ และมีความชำนาญในด้านดิจิทัล รวมทั้งเทคโนโลยีขั้นสูง ตรงนี้จะทำให้ค่าตอบแทนของแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนแรงงานไร้ทักษะมีแนวโน้มว่างงานเพิ่มมากขึ้น และจะได้รับค่าจ้างลดลงกว่าเดิมที่เป็นอยู่”

“ฉะนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่งานในอนาคต โดยเฉพาะอาชีพที่จะถูกทดแทนได้ง่ายนั้น สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร ให้มุ่งเน้นการคิดเชิงวิพากษ์ ความเอาใจใส่ดูแล และความคิดสร้างสรรค์ โดยต้องลงทุนกับครูผู้สอน เพื่ออัพเดตข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งนั้น เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่องค์กรธุรกิจต้องเร่งยกระดับพนักงาน ด้วยการฝึกอบรมด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นในโลกดิจิทัล เทคโนโลยีขั้นสูง และอาจจะต้องเริ่มในตำแหน่งงานที่มีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนจากเทคโนโลยีก่อน ตรงนี้จะทำให้คน และหุ่นยนต์ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรด้วย”

“ศ.ฮัม ซิน ฮุน” มองว่าต่อไปในโลกยุคดิจิทัล เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตลาดงานจะเป็นอย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่าง ๆ จะส่งผลต่อภาพรวมของตลาดแรงงาน ทำให้อาชีพ หรือตำแหน่งงานต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตของเทคโนโลยี

“โดยข้อมูลจาก World Economic Forum 2018 ระบุว่า 65% ของนักเรียนประถมศึกษาในวันนี้ เมื่อเรียนจบจะมีอาชีพการงานที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หรือมีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจัยของเทคโนโลยีที่ทันสมัย เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ตรงนี้จะทำให้เกิดงานประเภทใหม่ ๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และงานในหลายประเภทอาจจะถูกทดแทนด้วยกระบวนการทำงานของหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ”

ด้วยเหตุนี้ หากมองถึงทักษะในการทำงานที่จำเป็นสำหรับอนาคต จะประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ

หนึ่ง ทักษะความสามารถด้านข้อมูล (data literacy) เนื่องจากในอนาคตข้อมูลจะมีปริมาณมหาศาล และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น แรงงานยุคใหม่จึงต้องมีความเข้าใจในข้อมูล สามารถเลือกใช้ และวิเคราะห์ ประเมินผลได้

สอง ทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยี (technological literacy) โดยจำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านวิศวกรรมระบบโปรแกรมต่าง ๆ และการโค้ดดิ้ง เพราะต้องทำงานร่วมกับเทคโนโลยีขั้นสูง จึงต้องเข้าใจการทำงานของหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถควบคุมระบบเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง

สาม ทักษะความสามารถที่จะเข้าใจมนุษย์ด้วยกัน (human literacy) ซึ่งข้อนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะการทำงานร่วมกันของมนุษย์ต้องมีการสื่อสาร พูดคุยกัน ทำให้ต้องรู้จักตัวตน การเข้าสังคม รู้จักการสื่อสาร ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน หรืออาจจะต้องมีทักษะด้านอารมณ์ในเชิงลึก (deep soft skills) อีกทางหนึ่งด้วย

“ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) เพื่อเสริมสร้างทักษะ และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้รู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างการพัฒนาทักษะระดับชาติของสิงคโปร์ มุ่งเน้นให้พลเมืองทุกคนต้องใส่ใจใฝ่หาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งระบบ และมหาวิทยาลัย เอกชนมีบทบาทเข้ามาหนุนเสริม อย่างการให้นักศึกษากลับมาลงคอร์สเรียนหลังจากจบมหาวิทยาลัยภายใน 20 ปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ”

ขณะที่ “รศ.ดร.พสุ” กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้นำในอนาคตของประเทศไทย ด้วยการสอบถามผู้นำในระดับต่าง ๆ พบว่า ทักษะที่สำคัญและจำเป็นของผู้นำในสภาวะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ได้แก่

หนึ่ง ความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลง (change management) โดยผู้นำต้องมีทักษะในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมผ่านการเล่าเรื่องที่มีประเด็นชัดเจน เพื่อทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าใจได้ มีความกล้าตัดสินใจ และกล้าที่จะเสี่ยงแม้ข้อมูลหรือสถานการณ์จะคลุมเครือ ทั้งยังจะต้องให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ความสำเร็จมากกว่ากระบวนการ

สอง การสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานในองค์กร (inspiring action) จะพบว่า ผู้นำในอนาคตจะต้องทำงานกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น และการที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องประกอบด้วยส่วนของงาน และส่วนของความสัมพันธ์ โดยในส่วนของงาน จากการวิจัยพบว่าผู้นำที่ดีจะต้องหาโอกาสใหม่ ๆ ให้บุคลากรได้เรียนรู้และแสดงความสามารถ ให้โอกาสในการมีส่วนร่วมออกแบบและวางแผนงาน

ตลอดจนให้โอกาสคิด และตัดสินใจในงานที่รับผิดชอบ ส่วนในด้านความสัมพันธ์ ผู้นำที่ดีจะต้องทำให้คนที่อยู่ด้วยรู้สึกสนุกกับการทำงาน ปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกน้อง และที่สำคัญ ต้องรู้จักตั้งคำถามเพื่อให้ลูกน้องสะท้อนความคิด หรือมุมมองต่าง ๆ ออกมาได้

สาม วิธีคิด (thinking) ถือเป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำจะต้องมี ทั้งการคิดเป็นระบบ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และการคิดริเริ่มให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการมีวินัยในการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งตรงนี้อาจเป็นแนวทางรอดในการเผชิญกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

ถึงตรงนี้ “รศ.ดร.พสุ” บอกว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้ถือว่าตรงกับสถานการณ์จริงที่ผู้บริหารกำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลที่มีความรวดเร็ว และการแข่งขันรุนแรง ดังนั้น การที่ผู้นำจะประสบความสำเร็จ จะต้องมีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และทำให้บุคลากรภายในองค์กรปรับตัวตามพลวัตที่เปลี่ยนไป

“นอกจากนี้ ผู้นำจะต้องสามารถจูงใจ และชี้นำให้คนในองค์กรทำงานให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่ตั้งไว้ได้ ท่ามกลางภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญจะต้องมีวิธีคิดที่เป็นระบบ คิดไปข้างหน้า และคิดอย่างรวดเร็ว”

นับเป็นทักษะแห่งอนาคตที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ และทำความเข้าใจ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นวันข้างหน้าต่อไป