Craft Communities ศ.ศ.ป.ชูท่องเที่ยวต่อยอดหัตถศิลป์

หลังจากที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “ศ.ศ.ป.” จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนอนุรักษ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านสู่ความเป็นเลิศ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

ผ่านมา ศ.ศ.ป.ดำเนินงานต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจในการจัดตั้งองค์กร โดยเฉพาะการยกย่อง “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับผู้ที่ทำงานด้านศิลปหัตถกรรม ซึ่งจะทำให้งานหัตถศิลป์ต่าง ๆ ได้รับการอนุรักษ์สืบสาน ต่อยอด เพื่อทำให้เขาเป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง

ขณะเดียวกัน การทำงานด้านศิลปหัตถกรรม ยังมีครูอีกกลุ่มหนึ่ง หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ครูช่าง” ที่ถือเป็นครูในระดับรองลงมาจากครูศิลป์ โดยครูเหล่านี้จะทำงานด้านศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ มามากกว่า 20 ปี ทุกคนล้วนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จนสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ครูศิลป์ได้ ทำให้ ศ.ศ.ป.ดำเนินการคัดเลือก และยกย่องเชิดชูเกียรติ “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ขึ้นในปี 2554

ไม่เพียงเท่านี้ นอกจากครูทั้ง 2 กลุ่มที่ได้รับการคัดเลือก และยกย่องเชิดชูเกียรติแล้ว ทาง ศ.ศ.ป.ยังเห็นถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสืบสาน อนุรักษ์ และต่อยอดงานด้านศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ จึงทำให้ในปี 2556 ได้จัดทำโครงการ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เพื่อให้ลูกหลานของครู หรือลูกศิษย์ของครูเหล่านั้น สืบสานงานศิลป์ต่อไป

ทั้งนั้น เมื่อมีกลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปหัตถกรรมทั้ง 3 กลุ่มนี้แล้ว สิ่งที่ ศ.ศ.ป.ดำเนินการต่อยอด คือ การสร้างความรับรู้ เพื่อทำให้คนที่ทำงานด้านศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ถึงเรื่องราวของครู และทายาท ตลอดจนงานหัตถศิลป์ต่าง ๆ ผ่านการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เพียงแต่ที่ผ่านมายังถือว่าไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

ด้วยเหตุนี้ ศ.ศ.ป.จึงดำเนินการต่อยอดกิจกรรมดังกล่าว โดยได้เปิดตัว “โครงการชุมชนเรียนรู้หัตถกรรม (Craft Communities) ปี 2561” ด้วยการนำการท่องเที่ยวชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้งานหัตถกรรมที่มีอยู่เดิมให้เป็นชุมชนเรียนรู้หัตถกรรมที่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อให้งานทางด้านหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งยังทำให้ชุมชนในพื้นที่ดำเนินงานมีรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมี “local alike” ธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ในการดำเนินโครงการครั้งนี้

“อัมพวัน พิชาลัย” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า สิ่งที่ ศ.ศ.ป.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ สร้างความรับรู้ในเรื่องด้านศิลปหัตถกรรม จะเห็นได้จากการยกย่องครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และโครงการทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้กำลังใจกับคนทำงาน ยังเป็นการทำให้บุคคลเหล่านี้เป็นที่รู้จัก จนเกิดการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอด

“เพราะงานหัตถศิลป์ทุกชิ้นที่ถูกทำขึ้นมา จะแฝงไปด้วยเอกลักษณ์ ภูมิปัญญา ที่ถูกรังสรรค์ขึ้น ทั้งยังมีความเฉพาะตัว เฉพาะตน ซึ่งถ้างานที่ทำออกมาแล้วไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ หรือไม่เป็นที่รับรู้ จะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่จะทำให้ทั้งผู้ผลิต และผู้ที่สนใจในงานศิลปหัตถกรรม ไม่สามารถจำหน่าย หรือบริโภคงานเหล่านี้ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมองแนวทางใหม่ ๆ ที่จะทำให้ครู และสินค้าผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง จนเป็นที่มาของโครงการชุมชนเรียนรู้หัตถกรรม โดยนำการท่องเที่ยวชุมชนมาเชื่อมโยงกับครู และชุมชนโดยรอบ”

“การนำการท่องเที่ยวมาเป็นเครื่องมือ เพื่อนำคน หรือผู้ซื้อมาสู่บ้านผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม นอกจากจะได้รู้จักผู้ผลิตแล้ว ยังสามารถเรียนรู้งานด้านหัตถศิลป์กับครูโดยตรง จนเกิดการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้รู้ถึงแรงบันดาลใจ เสน่ห์ของงานศิลปหัตถกรรมในอีกทางหนึ่งด้วย”

“แม้รูปแบบของการจัดการท่องเที่ยวจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่เราสนใจและเลือกคือการท่องเที่ยวชุมชนในแบบของ local alike เพราะเป็นการทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดนำการท่องเที่ยวเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการ เพื่อให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”


โดยโครงการชุมชนเรียนรู้หัตถกรรมจะเริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ซึ่งครูอาจจะทำงานหัตถกรรม ใช้พื้นที่ในบ้านเป็นที่จัดแสดงผลงาน จัดการเรียนรู้ต่าง ๆ ขณะที่ชุมชนก็จะทำอาหาร ทำหน้าที่ต้อนรับ พร้อมกับเป็นมัคคุเทศก์เพื่อนำชมสถานที่ หรือเชื่อมโยงกับสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ จนทำให้ครู และชุมชนได้รับประโยชน์จากการเข้ามาท่องเที่ยว และเยี่ยมชมของผู้คนจากภายนอกตลอดจนการจัดเตรียมข้อมูลเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของชุมชนนั้น ๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้น ตรงนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับคนภายนอกให้เข้ามา ทั้งยังเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อนำชุมชนในโครงการนี้เข้าไปไว้ในแผนที่การท่องเที่ยวของประเทศ และของจังหวัดนั้น ๆ ต่อไปสำหรับการดำเนินโครงการในปีนี้

“อัมพวัน” บอกว่า เป็นปีแรกที่ ศ.ศ.ป.คัดเลือกชุมชนที่มีครูศิลป์ และมีความพร้อม มีความโดดเด่น เป็นจุดสนใจ จุดดึงดูดในพื้นที่นั้น ๆ ทั้งยังเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ไม่สามารถเห็นได้โดยทั่วไป ที่สำคัญ ชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง มีข้อมูลต่าง ๆ ที่ครบถ้วนก่อน ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ชุมชน 13 แหล่งเรียนรู้ ดังนี้

1) กลุ่มอนุรักษ์บาตรไทย และภูมิปัญญาไทย (บ้านบาตร) กรุงเทพมหานคร

2) พิพิธภัณฑ์ของเล่นพื้นบ้านรุ่งอรุณทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

3) จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว จ.ราชบุรี

4) ดาหลาบาติก ครูช่างธนินทร์ธร จ.กระบี่

5) กลุ่มหัตถกรรมเครื่องเคลือบเวียงกาหลง จ.เชียงราย

6) น้ำต้นสล่าแดง เครื่องเงินบ้านกาด จ้องแดงโบราณ จ.เชียงใหม่ ที่มีแหล่งเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาน้ำต้นสล่าแดง, หัตถกรรมเครื่องเงินบ้านกาด และหัตถกรรมร่มโบราณ (จ้องแดงบ้าน

ดอนเปา) จ.เชียงใหม่

7) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

8) กลุ่มทอผ้าไหมยกทอง จันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์

9) ชุมชนหัตถกรรมผ้าโฮล และเครื่องเงิน จ.สุรินทร์ ที่มีแหล่งเรียนรู้ชุมชนหัตถกรรมผ้าโฮล และวิสาหกิจชุมชนลุงป่วน เครื่องเงินลายโบราณ

และ 10) ชุมชนหัตถกรรมทอผ้าแพรวา บ้านโพน จ.กาฬสินธุ์

“แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการ แต่เราคาดหวังว่าจะเห็นชุมชนมีความแข็งแรงขึ้น มีผู้คนเข้ามาท่องเที่ยว ครูและงานศิลปหัตถกรรมเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น โดยในปี 2562 คาดว่าจะขยายโครงการออกไปในอีก 12 ชุมชน โดยนำองค์ความรู้ บทเรียน และผลที่ได้รับจากการติดตามในปีนี้ไปปรับใช้ต่อไป”

จึงนับเป็นการนำการท่องเที่ยวชุมชนมาเชื่อมโยงกับครูศิลป์ ครูช่าง และทายาทที่ทำงานทางด้านศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการ จนทำให้คนในชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว จนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตลอดไป