“ฐาปน”ชี้การตัดสินใจทางธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จ ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ระบุต้องแบ่งปันกำไรคืนสู่สังคมด้วย

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวในเสวนาพิเศษ CSR 360 องศา ในหัวข้อ “รวมใจ นำไทยยั่งยืน” ซึ่งจัดโดย หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นเรื่องที่น่าขบคิด ทั้งในมิติเรื่องความรวย-จน ความสุข–ทุกข์ โอกาสที่แตกต่างกัน การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่แต่ละคนพึงมี ซึ่งการมีโครงสร้างที่เชื่อมโยงคนทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันก็เป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ โครงการประชารัฐเองก็คือหนึ่งในแนวทางดังกล่าวที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้คนในสังคมทั้ง 5 ส่วนได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่มาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นคณะทำงาน 12 คณะ ที่ไทยเบฟก็มีส่วนร่วมด้วย

“ไทยเบฟอยู่กลุ่ม E3 ดูแลเรื่องการเกษตร การแปรรูป และการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน ดำเนินงานใน 18 กลุ่มจังหวัด หลักๆคือการที่ชุมชนลงมือทำ โดยที่ไทยเบฟจะเข้าไปช่วยขับเคลื่อน และรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุน เป้าหมายคือการสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยที่คนในชุมชน ประชาชนมีความสุข” ฐาปนกล่าว

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไทยเบฟเวอเรจกล่าวต่อว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ไทยเบฟฯได้ประสานกับท้อปส์ ค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล เพื่อรับซื้อลำไยโดยตรงจากเกษตรกรในเชียงใหม่ที่รวมตัวกันเพื่อช่วยเรื่องราคาลำไยตกต่ำ โดยท้อปส์รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 38.21 บาท เป็นจำนวนกว่า 1 แสนกิโลกรัม เกษตรกรก็ขายลำไยได้ราคาที่ดีขึ้นเพราะไม่ต้องผ่านคนกลาง รวมทั้งการสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งมังกร 7 สีหรือ กุ้งล็อบส์เตอร์ภูเก็ต พร้อมกับช่วยโปรโมทสร้างการรับรู้กุ้งล็อบส์เตอร์ภูเก็ตมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความต้องการสินค้าในพื้นที่มากขึ้น ตรงกับความต้องการที่จะสร้างให้เกิดตลาดในแต่ละพื้นที่นั้นๆ ตลอดจนการโปรโมตผ้าขาวม้าไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งการสร้างการรับรู้ผ่านโตเกียวแฟชั่นวีค การแนะนำการใช้ประโยชน์จากผ้าขาวม้าในรูปแบบที่หลากหลาย ฯลฯ

ด้านการตัดสินใจทางธุรกิจนั้น ฐาปนมองว่า ไม่มีสูตรสำเร็จที่สามารถตอบได้ทุกโจทย์ทุกช่วงเวลา เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลกระทบเสมอ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ผู้บริหารที่นอกจากจะสามารถมองหาหนทางที่เหมะสมกับช่วงเวลานั้นๆ มากที่สุด โดยคำนึงถึงผลบกระทบแบบรอบด้านแล้ว ยังต้องพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมออีกด้วย

ในภาพรวมแล้วทุกธุรกิจควรมีส่วนลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สุขภาพและอื่นๆ โดยสร้างคุณค่าและแบ่งปันผลกำไรคืนให้กับทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่มและสังคม รวมถึงต้องติดตามวัดผลสำเร็จในด้านตัวเงินและความสุขของคนในสังคม