แสงสว่างแห่งความปีติ ‘SCG+บ้านแพ้ว’ ผ่าต้อชาวเมียนมา

ต้องยอมรับว่าแนวทางหลักในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอสซีจี โดยเฉพาะเรื่องการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด 12 กลุ่ม ซึ่งมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่เอสซีจีให้ความสำคัญอย่างมากคือการดูแลชุมชนโดยรอบพื้นที่ของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะในประเทศ และต่างประเทศ

ซึ่งเหมือนกับ Mawlamyine Cement Limited (MCL) โรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งแรกเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางเอสซีจีเข้าไปลงทุนในการดำเนินธุรกิจเมื่อไม่กี่ปีผ่านมา

จึงทำให้พบเห็นปัญหาอย่างหนึ่งของประชาชนในเมืองเมาะลำไย ที่ป่วยเป็นโรคต้อกระจกจำนวนมาก กระทั่งประชาชนบางส่วนตาบอดสนิท มองไม่เห็นเพราะไม่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดโครงการ Sharing a Brighter Vision ขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2558 โดยทางเอสซีจีร่วมมือกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดโครงการผ่าตัดต้อกระจกให้กับผู้ป่วยในพื้นที่เมืองเมาะลำไยก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะขยายโครงการต่อมาในปี 2559, 2560 ตามลำดับ ซึ่งตลอดของการดำเนินโครงการมีการขยายพื้นที่การรักษาผู้ป่วยไปยังพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ฉะนั้น ตลอด 3 ปีของการดำเนินโครงการ Sharing a Brighter Vision จึงทำการผ่าตัดต้อกระจกให้กับผู้ป่วยชาวเมียนมาไปแล้วกว่า 622 ราย โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเมาะลำไยเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการผ่าตัด

แต่สำหรับปี 2561 นับเป็นครั้งที่ 4 ของการดำเนินโครงการ Sharing a Brighter Vision ซึ่งการดำเนินการครั้งที่ 4 มีการขยายพื้นที่ไปยังเมืองผะอัน รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาด้วย

“เกษม วัฒนชัย” ประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า เนื่องจากเอสซีจีมุ่งมั่นและทุ่มเทดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตของธุรกิจ ทั้งยังเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในประเทศ และทั่วทั้งภูมิภาค โดยคำนึงถึงความต้องการของชุมชนในพื้นที่เป็นหลัก

“ดังนั้น โครงการ Sharing a Brighter Vision 2018 จึงตอบสนองในประเด็นดังกล่าว โดยเราได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พร้อม ๆ กับชุมชนต่าง ๆ, อาสาสมัครนักเรียนทุน Sharing the Dream, พนักงานเอสซีจี และพนักงานของ MCL รวมถึงทางโรงพยาบาลเมาะลำไย และโรงพยาบาลผะอัน เพื่อช่วยกันผลักดันโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จ”

“โดยเฉพาะทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่นำคณะจักษุแพทย์ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญกว่า 31 คน รวมถึงการขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์จากเมืองไทยเพื่อมาทำการรักษาที่นี่ จนทำให้การผ่าตัดต้อกระจกให้กับผู้ป่วยกว่า 245 คน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนทำให้พวกเขากลับมามองเห็นอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น ต้องถือว่าทีมบุคลากรของโรงพยาบาลบ้านแพ้วทุกคนเสียสละอย่างมาก”

นอกจากนั้น “เกษม” ยังกล่าวต่อว่า ตอนนี้เมียนมาเขามีนโยบายเกี่ยวกับการสร้างความพร้อมให้กับโรงพยาบาลแถบชายแดนไทย ผมบอกกับทางผู้ใหญ่เขาไปว่า ทำไมเราไม่ทำโรงพยาบาลจับคู่กันล่ะ อย่างตอนเหนือที่แม่สาย จ.เชียงราย ก็มาจับคู่กัน หรืออย่างทางแม่สอด จ.ตาก ก็มาจับคู่กันกับโรงพยาบาลของทางเมียนมา ผมว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า เพราะเรามีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ตั้ง 600-700 บริษัท เราก็ไปเชิญชวนเขามาช่วยกัน

“เพราะลำพังเรา (เอสซีจี) กับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ไม่สามารถผ่าตัดต้อกระจกให้กับคนของเขาได้หมดหรอก เพราะเท่าที่ผมดูจากข้อมูล ณ ปัจจุบัน ประเทศของเขามีผู้ป่วยต้อกระจกตาอยู่ประมาณ 1.8 ล้านคน ขณะที่เราช่วยเหลือผู้ป่วยได้ปีละ 200 กว่าคนเท่านั้นเอง เราจึงต้องมองอะไรให้ไกลกว่านี้ ทั้งในเรื่องของการนำแพทย์ไปอบรมที่เมืองไทย หรือการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เขาใช้ผ่าตัด”

“ปรากฏว่าเราเลือกทั้ง 2 วิธี คือ เชิญชวนจักษุแพทย์ของที่นี่ไปอบรมการผ่าตัดต้อกระจกที่เมืองไทย พร้อมกับอบรมเรื่องการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการผ่าตัดต้อกระจก จนทำให้เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำจะช่วยต่อยอด และขยายผลในการผ่าตัดต้อกระจกให้กับชาวเมียนมามากขึ้น โดยไม่ต้องมารอ เพราะ 1 ปีเรามาครั้งเดียวเท่านั้นเอง และที่สุดเราบริจาคเครื่องผ่าตัดต้อให้กับทางโรงพยาบาลเมาะลำไย 1 เครื่อง มูลค่า 1.7 ล้านบาท แต่ตอนนี้กลับไม่ได้ใช้ เพราะแพทย์ที่ไปอบรมย้ายไปอยู่ที่อื่น ตรงนี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้การรักษาผู้ป่วยต้อกระจกไม่เกิดความยั่งยืน”

ถึงตรงนี้ “นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า จริง ๆ แล้วโรคต้อกระจกเกิดจากเลนส์แก้วตาเสื่อม ทำให้เลนส์แก้วตาขุ่นมัว ส่งผลให้มองเห็นไม่ชัด ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยทุกคน จนที่สุดตาจะค่อย ๆ มัวลงอย่างช้า ๆ กระทั่งมองไม่เห็น ดังนั้นทางแก้จึงมีทางเดียว คือ ต้องผ่าตัดต้อกระจก ถึงจะทำให้กลับมามองเห็นอีกครั้ง

“ส่วนวิธีการรักษาการผ่าตัดต้อกระจกมีอยู่ 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบดั้งเดิม ด้วยการกรีดแผลประมาณ 13 มิลลิเมตร เพื่อนำต้อออก ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้วใช้วิธีนี้เพียง 1% เท่านั้นเอง ส่วนอีกวิธีคือการใช้เครื่องสลายต้อกระจก ซึ่งเป็นวิธีที่ทันสมัยที่สุด เพราะเราจะกรีดแผลเพียง 3 มิลลิเมตร เพื่อนำต้อออก ก่อนที่จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมคุณภาพสูงเข้าไปทดแทน เพราะฉะนั้น แผลจะเล็กมาก แทบไม่ต้องเย็บไหมเลย”

“เพราะฉะนั้น แนวทางการรักษาผู้ป่วยชาวเมียนมา เราจะใช้วิธีการรักษาเดียวกันกับผู้ป่วยที่เมืองไทย โดยใช้คุณภาพมาตรฐานเดียวกันทุกอย่าง แม้แต่เลนส์แก้วตาเทียมที่เราใส่ให้เขาก็มาจาก 1 ใน 3 บริษัทดีที่สุดของโลกจากสหรัฐอเมริกา พูดง่าย ๆ เราให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาทุกอย่าง เพราะฉะนั้น หลังจากผ่าตัดต้อกระจก เราจะปิดตาเขา 1 วัน พอถึงตอนเช้าเราจะเปิดดูว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีไหม มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ จากนั้นเราถึงให้เขาใส่แว่นกันแดดเพื่อช่วยกรองแสง”

“หลังจาก 1 อาทิตย์ ทีมแพทย์ของเราจะมาดูอีกครั้ง และเมื่อถึง 1 เดือน เราจะมาดูอีกเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะให้เขาใช้ชีวิตอย่างปกติ เพราะสิ่งที่เราห่วงที่สุดคือการติดเชื้อ ดังนั้น หลังจากผ่าตัดเสร็จ ตาของเขาห้ามโดนน้ำ 1 เดือน และทุก ๆ วันเขาจะต้องหยอดตาอย่างสม่ำเสมอ เพราะเราห่วงเรื่องนี้อย่างมาก”

“นพ.พรเทพ” กล่าวต่อว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้วที่เราออกพื้นที่มาประเทศเมียนมา โดยเรามีทีมจักษุแพทย์ทั้งหมด 4 คน ที่เหลืออีก 27 คนก็เป็นทีมสนับสนุนในการผ่าตัด ซึ่งต้องยอมรับว่าการเตรียมงานตลอด 4 วันของการลงพื้นที่มีอุปสรรคเฉพาะหน้าเกิดขึ้นมากมาย เพราะผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่นี่มีจำนวนมาก เราจึงมีหน่วยคัดกรองก่อน เพื่อเฟ้นหาผู้ป่วยที่ต้อสุกมาก ๆ ก่อน ไม่เช่นนั้นตาของเขาอาจกลายเป็นต้อหิน และจะบอดสนิทในอันดับต่อไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราระวังมาก

“และบางที บางคนเราไม่สามารถผ่าตัดต้อกระจกให้เขาได้ เพราะน้ำตาลสูง เขาต้องรอในปีถัดไป ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย เพราะเขามาด้วยความหวัง อดทนรอเป็นปี ๆ หรือบางคนเฝ้าสวดมนต์เพื่อขอให้เขาได้ผ่าตา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารับรู้มาตลอด เพราะฉะนั้น ตลอด 4 ปีที่ลงพื้นที่ เราช่วยรักษาผู้ป่วยให้กลับมามองเห็นอีกครั้งมากกว่า 800 รายแล้ว”

“ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผม และทีมงานทุกคนภูมิใจมากที่มีส่วนร่วมกับโครงการนี้ เพราะในอดีตผ่านมา เราเคยออกพื้นที่ไปช่วยผ่าตัดต้อกระจกตาให้กับชาวกัมพูชา และภูฏานมาก่อน ซึ่งที่นั่นก็มีผู้ป่วยต้อกระจกตามากเช่นกัน แต่ยังไม่มากเท่ากับเมียนมา”

ขณะที่ “นพ.คยา สวา วิน” หัวหน้าทีมการผ่าต้อกระจกตา โรงพยาบาลเมาะลำไย รัฐมอญ สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา บอกว่า โครงการ Sharing a Brighter Vision มีประโยชน์อย่างมากต่อชาวเมียนมาที่ป่วยโรคต้อกระจก เพราะที่นี่ประชากรผู้สูงวัยเยอะมาก และที่ผ่านมาโรงพยาบาลของเราได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐทั้งในเรื่องของเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกอย่าง

“แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยโรคต้อกระจก เราจึงได้งบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วย อีกส่วนหนึ่งก็มาจากทางเอสซีจี ประเทศไทย เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงความพร้อมของเครื่องมือแพทย์ต้องยอมรับว่า เรายังขาดความพร้อมอีกมาก รวมทั้งทีมจักษุแพทย์ด้วย แต่เราอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันของคณะทำงานจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว”

“เพราะการทำการผ่าตัด ทางทีมแพทย์จะประชุมกัน ปรึกษาหารือกัน และเราเองจะส่งทีมพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือทั้งในเรื่องการรักษา และการช่วยเป็นล่ามในการสื่อสารด้วย เพราะที่โรงพยาบาลเมาะลำไยแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งนี้เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ประมาณ 20 เตียง รับผิดชอบในการรักษาโรคตา หู คอ จมูก ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งจะรักษาโรคทั่วไป จะมีขนาดใหญ่กว่า คือ มีประมาณ 500-1,000 เตียง”

สำหรับตัวแทนผู้ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกตาที่ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสคุยด้วย ซึ่งเมื่อก่อนเขาเป็นเกษตรกรทั่วไป ทำนา ทำสวน และเก็บลูกตาลขาย จนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาถูกกิ่งไม้ทิ่มตา จนทำให้ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ตอนหลังเมื่ออายุมากขึ้น ตาของเขาเริ่มพร่ามัว สาเหตุมาจากโรคต้อกระจก

ปัจจุบันเขาอายุ 58 ปี และบวชเป็นพระเมื่อ 1 ปีกว่าที่แล้ว กระทั่งมีโอกาสได้ยินลำโพงกระจายเสียงจากทางวัดประกาศว่าจะมีโครงการผ่าตัดต้อกระจก ท่านจึงเดินทางมาจากหมู่บ้านคะยา ซึ่งอยู่ไกลจากเมืองผะอันมาก ท่านเดินทางมาด้วยความหวังว่า…สักวันหนึ่งคงจะมองเห็นและท่านก็ได้เห็นจริง ๆ

“อู วา ซา” คือชื่อของท่านที่บอกเราว่า…ต้องขอบใจเอสซีจี และทีมคุณหมอจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ประเทศไทย ที่ทำให้อาตมามองเห็นอีกครั้ง แม้จะมองเห็นข้างเดียวก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ทำให้อาตมารู้สึกมีความหวังกับชีวิตที่เหลืออยู่ ที่พร้อมจะอุทิศตนเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาต่อไป

“อาตมาหวังเช่นนั้นจริง ๆ”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!