เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ทีมเวิร์ก หัวใจสำคัญของเสนาฯ

“คน” และ “ทีมเวิร์ก” คือสิ่งสำคัญที่บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ ในการทำธุรกิจ “ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเสนาฯ บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” อย่างนั้น ภาพของเสนาฯในวันนี้ คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดบนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ผลิตบ้านที่อยู่อาศัยเพียง 1,000 ยูนิต/ปี แต่สำหรับปีนี้เสนาฯผลิตบ้านไปแล้วกว่า 8,000 ยูนิต มีพนักงานรวม 600-700 คน ยังไม่นับรวมคนทำงานในแผนกอื่น ๆ และส่วนที่เป็นเอาต์ซอร์ซ เช่น ผู้รับเหมาไปจนถึงแรงงานในพื้นที่ก่อสร้าง

ดร.เกษราพูดถึงคนในแบบเสนาฯว่า ต้องคิดให้เสมือนว่าเราเป็น “ลูกค้า” เพราะในชีวิตของคนจะมีบ้านสักกี่หลัง แต่หากเลือกมาเป็นลูกค้าของเสนาฯ เท่ากับว่าได้ความไว้วางใจ พนักงานควรภูมิใจที่ถูกเลือก ฉะนั้น จะต้องตอบสนองความต้องการและดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด ตั้งแต่ผลิตบ้านด้วยคุณภาพ มีบริการหลังการขายที่เข้าถึงใจลูกค้า หากเกิดปัญหาก็ต้องแก้ไขได้รวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ขององค์กรด้วย

“บ้าน 1 หลังต้องใช้เวลาผ่อนถึง 30 ปี ฉะนั้น เสนาฯคือ 30 ปีของเขาเสมอ พนักงานของเสนาฯเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และมุมมองเหล่านี้เรานำมาจากความเห็นของลูกค้าทั้งสิ้น เหล่านี้คือ core value ของบริษัท เราอย่ามองในมุมของ producer ต้องคิดในมุมมองของ consumer เสมอ ไม่ว่าจะตัดสินใจในเรื่องใดก็ตาม”

ต้องคิดเสมอว่าไม่มีปัญหาอะไรในองค์กรที่ไม่ใช่ปัญหาของเรา เกษราบอกว่า เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น ค้นพบว่าพนักงานในบริษัทคุยกันน้อยลง รู้จักกันน้อยลง และพนักงานส่วนใหญ่ก็จะพยายามสร้าง “เกราะ” ของตัวเองขึ้นมา ภาพที่เกิดขึ้นตามมาโดยเฉพาะเมื่อมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็มักจะเลี้ยงฉลองความสำเร็จ และยังทำให้ได้ผู้บริหารและพนักงานได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ประเด็นที่มักคุยกันคือ เมื่องานสำเร็จแล้วควรฉลองความสำเร็จให้ใคร เช่น ทีมจัดซื้อที่ดิน หรือทีมก่อสร้างที่รักษาต้นทุนผลิตได้ดี การเฮฮากับความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเราควรดีใจกับใคร ทั้งที่กว่าจะสำเร็จสักโครงการมีพนักงานหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น ทุกอย่างควรจะรวมเป็น “เนื้อเดียวกัน”

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเหลือให้พนักงานกลายเป็นเนื้อเดียวกันก็คือ “การสื่อสาร” ภายในองค์กร ฉะนั้น สิ่งที่เสนาฯให้ควาามสำคัญอีกอย่างก็คือ “ทีมเวิร์ก” นั่นเอง

“ในฐานะที่เป็นอาจารย์มาก่อน การทำงานคนเดียวเราอาจจะรู้สึกว่าดี แต่ในการทำงานร่วมกัน ไม่ถามหรือคุยกับคนอื่นมันก็อยู่ไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าไม่ใช่คนในแบบที่เสนาฯต้องการ เพราะธุรกิจคือทีมเวิร์ก ขายเก่งไม่มีประโยชน์ถ้าหากว่าสุดท้ายแล้วบ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่โอนไม่ได้ก็จบ เมื่อเราชัดเจนว่าคนในแบบเสนาฯจะต้องเต็มที่และให้ความสำคัญของลูกค้าและทีมเวิร์ก เป็นหน้าที่ของฝ่าย HR ที่จะหาคนทำงานให้ได้ตามสเป็กที่ต้องการ”

ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้คนทำงานค่อนข้างมากในขั้นตอนการก่อสร้างโครงการ แต่ไม่มีปัญหาเพราะเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการจะต้องเป็นคนจัดหา แต่สำหรับพนักงานประจำเสนาฯจะเป็นผู้จัดหาเองทั้งหมด ในบางช่วงที่อาจมีปัญหาเรื่องคน เสนาฯจะใช้วิธีดึงคนข้ามสายงาน ยกตัวอย่าง โปรเจ็กต์แมเนเจอร์บางคนอาจจะทำงานอยู่ในสาย A ที่ยังไม่สามารถขายได้เลย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในขณะที่สาย B ขายดีมาก ก็จะดึงโปรเจ็กต์แมเนเจอร์จากสาย A มาช่วย เป็นต้น

“ดร.เกษรา” ระบุอีกว่า ในวันนี้ของเสนาฯยังต้องการคนทำงานเพิ่มขึ้นทุกแผนก รวมถึงประเภทเอาต์ซอร์ซด้วย เนื่องจากเสนาฯอยู่ในระหว่างพัฒนาโครงการใหม่เป็นจำนวนมาก ล่าสุดอนุมัติให้รับพนักงานเพิ่มอีก 60 คน และขณะนี้ต้องการคนทำงานเป็นนิติบุคคลแบบ “ไม่จำกัด” อีกด้วย

ทั้งนี้ ดร.เกษราอธิบายว่า จำนวนนิติบุคคลขยายตัวไปตามโครงการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้ถือว่าหายากมาก ประกอบกับเสนาฯไม่มีนโยบายซื้อตัวคนทำงาน ทำให้การขยายตัวทางธุรกิจของเสนาฯค่อนข้างช้าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เสนาฯใช้วิธีปั้นพนักงานให้เก่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าต้องใช้เวลา ในขณะเดียวกันหากต้องหาคนเพิ่มในยุคที่ใคร ๆ ก็แย่งคนเก่งไปทำงาน จึงต้องมีแรงจูงใจเสริม คือ 1) ให้หุ้นบริษัท 2) ให้ทุนการศึกษา และ 3) ให้ประกันชีวิต อย่างไรก็ตาม การทำให้คนทำงานเก่งขึ้น ฉลาดขึ้นนั้น ใช้เงินน้อยกว่าการทำการตลาดแน่นอน

“การทำมาร์เก็ตติ้งแต่ละครั้งใช้เงินมาก เช่น ขึ้นป้ายบิลบอร์ด 1 ครั้งใช้เงินเกือบ 1 ล้านบาท สถานีโทรทัศน์ 1 นาที ใช้เงิน 500,000 บาท หากลงในหนังสือพิมพ์สูงสุดที่ 1 หน้า อยู่ที่ 700,000 บาท ซึ่งใช้เงินระดับนี้ส่งพนักงานไปเรียนได้ถึง 10 คน เสนาฯเห็นว่าการดูแลพนักงานให้ดี “คุ้มกว่า” การทำมาร์เก็ตติ้งเสียอีก” ดร.เกษรากล่าว

เมื่อถามถึงว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยง “ขาดคน” ทำงานหรือไม่ ดร.เกษราบอกว่า เกิดขึ้นบ้างในบางช่วงเวลา แต่เนื่องจากข้อดีของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากการซื้อที่ดินแล้ว อย่างอื่นที่เหลือมันไม่ใช่ limited supply ยกเว้นงานเร่งในบางช่วงที่อาจจะขาดคนทำงานบ้าง แต่เสนาฯมีแผนรองรับคือ การผูกปิ่นโตกับบริษัทผู้รับเหมา และทำให้เขาเลือกเสนาฯเป็นอันดับแรก


ในช่วงท้าย ดร.เกษราเน้นย้ำว่า คนในแบบเสนาฯไม่ว่าจะขาดสิ่งใดไปก็ตาม แต่ต้องมีหัวใจของการบริการเท่านั้นพอ…