การเรียนรู้ในอนาคต

การใช้คอมพิวเตอร์
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา สลิงชอท กรุ๊ป

 

ปีหนึ่งผ่านไปไวเหมือนโกหก เรื่องที่สร้างความฮือฮามาตลอดปี 2018 คือการรุกคืบของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาสู่โลกแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาคน ทุกวันนี้มีคำแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่หลายปีก่อนไม่เคยได้ยิน

และช่วงที่ผ่านมากระแสการปลดลดคนขององค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศดังเป็นพลุแตก สร้างความตระหนกตกใจให้คนทำงานยิ่งนัก คนที่อยู่ไม่ได้ถูกให้ออกไป ก็ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนพัฒนาตนเองเพื่อไขว่คว้าหาโอกาสใหม่ ๆ ที่อาจจะมาถึง ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ใช่ว่าจะสบาย ไม่ได้นั่งตีพุง ทำงานชิล ๆ ไปวัน ๆ อีกต่อไป ต่างต้องขวนขวายหาความรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ เพื่ออยู่รอดให้ได้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกราก

ข้อมูลจาก Udemy for Business ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้บริการด้านการพัฒนาบุคลากรผ่านหลักสูตรต่าง ๆ มากมายบนช่องทางออนไลน์ โดยผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายสาขา ได้พูดถึงแนวโน้มการเรียนรู้ในอนาคตไว้ 4 ประการด้วยกัน

การเรียนรู้ตามหลักสูตรมาตรฐานจะหมดไป การเรียนรู้แบบใหม่ที่เน้นความต่อเนื่องและเนื้อหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์จะเข้ามาแทนที่-สมัยก่อน องค์กรหลายแห่งกำหนดทางเดินในการพัฒนา ที่ชัดเจนให้กับบุคลากรแต่ละระดับ โดยกำหนดว่าระดับไหนควรต้องเรียนเรื่องใด แนวทางแบบนี้เริ่มล้าสมัยแล้ว เพราะสถานการณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญเร็วมากด้วย ดังนั้น หัวข้อที่ถูกกำหนดไว้ว่าต้องเรียนอาจตกยุค (obsolete) ทันทีที่กำหนดเสร็จ

แนวทางการเรียนรู้ในปัจจุบันจึงไม่ใช่ “เสื้อโหล” หรือ “one size fits all” อีกต่อไป หากแต่เป็นการออกแบบและตัดเย็บให้ตรงกับความต้องการเฉพาะตัว

จากข้อมูลของ Udemy ที่เก็บสถิติผู้เข้าเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบันรวมทั้งสิ้นประมาณ 18 ล้านคน พบว่าเนื้อหาที่เลือกเรียนมีความแตกต่างกันไป ตามลักษณะงานและความต้องการขององค์กร แต่ที่น่าสนใจคือผู้เรียนส่วนใหญ่สนใจเรียนต่อเนื่องมากกว่าเรียนเรื่องเดียวแล้วจบไป

เช่น ผู้ที่เริ่มต้นเรียนเรื่องภาวะผู้นำ มักเรียนต่อเรื่องการสื่อสาร ทักษะการบริหารจัดการ ทักษะการพัฒนาตนเอง และทักษะการโน้มน้าว เป็นต้น

การเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มีมากขึ้น เพราะพนักงานต้องการเรียนรู้จากที่ไหน และเมื่อไรก็ได้-จากสถิติพบว่า ปัจจุบัน 75% ของผู้ใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนดูวิดีโอผ่านมือถือ และเชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร จะช่วยให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ตัวเลขการดูวิดีโอผ่านมือถือเพิ่มสูงขึ้นเป็น 80-85% เลยทีเดียว ดังนั้น ทั้งเนื้อหาและวิธีการถ่ายทอดจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับยุคและสมัยที่เปลี่ยนไป

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Udemy พบว่า ผู้เรียนมากกว่าครึ่ง นิยมดาวน์โหลดเนื้อหาของหลักสูตรต่าง ๆ ไว้บนมือถือของตน เพื่อเรียกดูในระหว่างเดินทางหรือในสถานที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต โดยในปี 2016/2017 พบว่าอัตราการดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ เติบโตถึง 286% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่การเรียนรู้แบบออนไลน์ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยในปี 2016/2017 มีอัตราการเติบโต 50% ในขณะที่ปี 2015/2016 โตเพียงแค่ 7% เท่านั้น

แนวทางการเรียนรู้ที่หลากหลายจะช่วยตอบสนองความต้องการเรียนรู้ของคนทั้ง 4 รุ่น-ปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่มีคนอย่างน้อย 3 รุ่นทำงานร่วมกัน (baby boom, Gen X และ Gen Y) บางองค์กรพิเศษหน่อย อาจมีครบทั้ง 4 รุ่น (เพิ่ม Gen Z) ซึ่งคนแต่ละรุ่นมีจริตในการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน Gen Y และ Gen Z เกิดมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์และโซเชียลมีเดีย ดังนั้น การเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ (informal learning) ผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม เช่น mobile learning หรือ micro learning เหมาะกับพวกเขามากที่สุด

ต่างจากพวก baby boom ที่ยังพอใจที่จะเรียนอย่างเป็นทางการ ผ่านอาจารย์ในห้องเรียนมากกว่า ส่วนคน Gen X ออกแนวลูกผสม เรียนได้หลากหลายวิธี แต่เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นกับการเรียนรู้แบบเป็นทางการที่ตัดเย็บเฉพาะตัว อย่างเช่น one-on-one coaching เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการให้ตรงจุด องค์กรควรเปิดกว้างให้มีช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะกับจริตของคนแต่ละวัย โดยออกแบบเนื้อหาและวิธีการสอนให้เหมาะสมด้วย

ต้องให้ความสำคัญกับทักษะทั้งด้าน hard skills และ soft skills อย่างสมดุล-ในอดีต ทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง (hard skills) เช่น ทำงานบัญชี ต้องมีความรู้เรื่องการลงบัญชี ทำงานทนายความ ต้องมีความรู้เรื่องกฎหมาย เป็นต้น ได้รับการให้ความสำคัญมาก จนกระทั่งลืมฝั่งที่เป็นทักษะเสริม (soft skills) อย่างเช่น การสื่อสาร การเจรจาต่อรอง การเป็นผู้นำและการบริหารจัดการคน เป็นต้น จึงทำให้ยุคปัจจุบัน ทุก ๆ องค์กรต่างเน้นย้ำและให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับ soft skills

แต่สำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง การมุ่งเน้น hard หรือ soft skills อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ไม่ได้อีกต่อไป หน่วยงานที่มีแนวโน้มเน้น hard skills มาก ๆ อย่างเช่น วิศวกรรม บัญชีการเงิน งานวิจัยและพัฒนา ฯลฯ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ soft skills มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน หน่วยงานที่มีแนวโน้มเน้น soft skills มากหน่อย เช่น การขายและการตลาด งานประชาสัมพันธ์ งานบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น ก็ต้องหันไปให้ความสนใจกับ hard skills อย่างเรื่องเทคโนโลยี และการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เพิ่มขึ้นด้วย

โลกเปลี่ยนไปแล้ว ถึงเวลาที่แนวทางการเรียนรู้ต้องปรับตาม !