“ฮอนด้า” เคียงข้างไทย สร้างฝาย-สร้างรายได้จากป่า

น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางอย่างนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ต้องหยุดการผลิตไปถึง 6 เดือน หลังจากนั้น บริษัทในกลุ่มฮอนด้าจึงร่วมลงขันตั้งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “น้ำ” มาเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ฮอนด้าเชื่อว่าการแก้ปัญหาที่ต้นทางให้ป่าได้กลับพลิกฟื้นคืนความสมดุล ถือเป็นแนวทางยั่งยืนที่สุด

โดยมี 3 ลุ่มน้ำสำคัญ คือ ลุ่มน้ำยม, ลุ่มน้ำปราจีนฯ และลุ่มน้ำน่าน คือพื้นที่เป้าหมายของฮอนด้าในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม และเมื่อเร็ว ๆ นี้กองทุนฮอนด้าฯร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันแก้ปัญหาป่าไม้ สร้างความสมดุลน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งเป็นลุ่มน้ำหลักสำคัญที่ครอบคลุม 10 จังหวัดในภาคเหนือเป็นปีแรก ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริเป็นปีที่ 4

“พิทักษ์ พฤทธิสาริกร” กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย เล่าถึงโครงการดังกล่าวว่า ตลอดทั่วทั้งลุ่มแม่น้ำยมในช่วง 3 ปีผ่านมาได้พัฒนาฝายหิน 1 แห่ง ฝายไม้ไผ่ 5 แห่ง โดยการดำเนินการเป็นไปตามแผน และในปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ขยายผลมาถึงลุ่มน้ำยม เริ่มจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่จั๊วะ และลำห้วยหีด จังหวัดแพร่ “โดยชุมชนในพื้นที่จะเป็นผู้เสนอโครงการและงบประมาณที่ต้องการใช้ให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณา สำหรับกองทุนฮอนด้าฯในปัจจุบันมีเงินราว 1,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการของชุมชนต่าง ๆ ที่เสนอเข้ามา เพราะวัตถุประสงค์ของกองทุนฮอนด้าฯตอนเริ่มต้นต้องการเน้นไปที่การรองรับในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้เราเห็นว่าหากต้องใช้วิธีระดมทุนจากกลุ่มบริษัทฮอนด้าฯเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างช้า เมื่อมีกองทุนทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น หลังจากนั้น จึงเพิ่มวัตถุประสงค์ของกองทุนให้ครอบคลุมกับปัญหาน้ำอื่น ๆ ตามมา”

“รอยล จิตรดอน” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ หนึ่งในพันธมิตรของโครงการระบุว่า สำหรับปัญหาของพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่จั๊วะนั้น ปัญหาคือประตูกักเก็บน้ำเสียหาย รวมถึงการปิด-เปิดประตู เพราะเมื่อก่อสร้างเสร็จยังไม่รู้ว่าใครต้องดูแลรับผิดชอบ รวมถึงปัญหาถ่ายโอนในเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ทางกองทัพภาคที่ 3 จึงเสนอเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มดำเนินการเพิ่มความจุ พร้อมทั้งทำคลองรอบอ่างเพื่อทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ต่อเนื่อง จนชาวบ้านที่เดิมเคยปลูกข้าว หรือปลูกพืชไร่เพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้หันมาปลูกพืชสวนตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยพื้นที่ดังกล่าวยังต้องการฝายเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าให้ดียิ่งขึ้นอีก”

“สำหรับการก่อสร้างฝายในพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพิ่มพื้นที่ป่าเท่านั้น ในระยะยาวเมื่อพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น ยังมองถึงการสร้างรายได้ของชุมชนโดยรอบจากผลิตผลของป่าด้วย เช่น การเก็บเห็ดโคนที่มีราคาสูงถึง 500 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่เรามองแต่รายได้ที่จะมาจากพืชไร่และพืชสวน แต่เรายังไม่เคยมองรายได้จากป่า ในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องเดินต่อ”

“นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคำนวณเปรียบเทียบประโยชน์จากป่าพบว่า พื้นที่ป่า 1 ไร่ สามารถทำรายได้ 90,000 บาท/ปี เปรียบเทียบกับการปลูกข้าวจะมีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาท/ปี ในขณะที่พื้นที่ภาคกลางปลูกข้าวได้ราคาที่ 3,000-4,000 บาท/ตันเท่านั้น เท่ากับว่าได้ประโยชน์สูงกว่าถึง 20 เท่า”

“ดังนั้น เมื่อชาวบ้านมาร่วมทำงาน พร้อมกับเริ่มคิดโครงการ และบริหารน้ำเป็น ถึงสุดท้ายเขาจะบริหารการเพาะปลูก และรู้จักตลาดอีก สำหรับโครงการในลุ่มน้ำยมครั้งนี้ กองทุนฮอนด้าฯรับผิดชอบด้านงบประมาณ เพราะรวดเร็วกว่าการใช้งบประมาณภาครัฐ”

สำหรับปัญหาภัยแล้งที่อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นในปีนี้ จากตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อนปัจจุบันทั้งหมด “รอยล” กล่าวในตอนท้ายว่า เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ค่อนข้างมีความเสี่ยงที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย ในขณะที่เขื่อนในพื้นที่อื่น ๆ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

……………..

ฮอนด้า สร้างศูนย์จัดการน้ำ

 

ทั้งนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศมีความเป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะมีปัญหาน้ำแล้งหรือน้ำท่วมก็ตาม “รอยล จิตรดอน” บอกว่า ฮอนด้ายังเป็นผู้สนับสนุนหลักในการสร้างศูนย์บริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมน้ำจากทุกพื้นที่ คือ จากแม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำลพบุรี ทั้งยังคาดว่าจะแล้วเสร็จ 100%

พร้อมทั้งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเริ่มทดลองระบบเบื้องต้นแล้ว มีขีดความสามารถในการผันน้ำที่ 2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยระบบของศูนย์บริหารจัดการน้ำดังกล่าวจะทำให้เห็นภาพรวมของปริมาณน้ำว่าอยู่ในระดับใด เพื่อนำไปวิเคราะห์และจัดสรรปริมาณน้ำให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่หากเกิดพายุหรือฝนตกหนัก จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ เพราะศูนย์บริหารจัดการน้ำเป็นศูนย์ในการรับน้ำจากทุกพื้นที่ และการมีหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ นอกจากจะได้ใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรม ยังมีประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมด้วย

ทั้งนี้ ฮอนด้าต้องการให้มีการสร้าง war room ขึ้นมาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดติดตามสถานการณ์ ภายใต้ฐานชุดข้อมูลเดียวกัน แต่กระนั้นภาครัฐต้องประสานความร่วมมือลงลึกไปจนถึงระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับระบบให้สามารถบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!