PTTEP Teenergy จุดประกายเยาวชนเปลี่ยนเพื่อโลก

ภายใต้แนวคิด “นักบุกเบิก ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม และร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ประกอบด้วยการปฏิบัติภารกิจที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมหลากหลายโครงการ โดยมีการส่งเสริมศักยภาพเยาวชนเป็นหนึ่งในเป้าหมาย เพราะ PTTEP เล็งเห็นว่าเยาวชนวันนี้จะเติบโตเป็นกำลังที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้พัฒนาต่อไปในวันข้างหน้า

จึงจัดโครงการ PTTEP Teenergy ซึ่งเป็นค่ายเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2557 กระทั่งถึงปัจจุบัน

โครงการ PTTEP Teenergy จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศเข้าร่วม โดยปีที่ 5 ของโครงการเป็นธีม “เปลี่ยนเพื่อโลก (Change for Climate)” ซึ่ง PTTEP ตระเวนจัดโครงการดังกล่าวครบทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ด้วยการเปิดรับเยาวชนเข้าร่วมภาคละ 70 คน ซึ่งภาคอีสานเป็นค่ายสุดท้ายของปีที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี

“ราชัน อิ้งจะนิล” ผู้จัดการแท่นผลิต โครงการสินภูฮ่อม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในปี 2561 มีเยาวชนกว่า 3,000 คน จากทั้ง 4 ภาคสมัครเข้าร่วมโครงการ แต่เราจำเป็นต้องคัดให้เหลือเพียง 280 คน โดยคัดเลือกจากเรียงความที่พวกเขาเขียนเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“สำหรับกิจกรรมภาคอีสาน เราจัดกิจกรรมขยะสู่พลังงาน โดยให้เด็ก ๆ ศึกษาแนวคิดและวิธีการจัดการของเสียในชุมชนให้เกิดประโยชน์ โดยเด็ก ๆ จะได้เดินทางไปที่บ้านทับไฮ ต.แสงสว่าง อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการจัดทำบ่อก๊าซชีวภาพที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาขยะและมลพิษในชุมชน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซแอลพีจี อีกทั้งยังสามารถนำกากมูลสัตว์ที่เหลือในบ่อก๊าซชีวภาพมาใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์ในการลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีด้วย”

“นอกจากนั้น เด็ก ๆ ยังจะได้เรียนรู้การสร้างระบบกรองของเสีย และดักจับไขมันจากวัสดุธรรมชาติผ่านนวัตกรรมสีเขียว “ดักมันเพื่อโลก” โดยการสร้างระบบกรองของเสียและการดักจับไขมันจากวัสดุธรรมชาติมาใช้กรองน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ก่อนจะนำไปทิ้งเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสอนเด็ก ๆ ให้เรียนรู้การสร้างแนวกันไฟบนภูฝอยลม เพื่อป้องกันปัญหาไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง”

“กิจกรรมไฮไลต์ของโครงการ คือ เราจะให้เด็ก ๆ จับกลุ่มนำเสนอโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการที่ได้รับการคัดเลือก PTTEP จะสนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการทุนละ 10,000 บาท รวม 100,000 บาทต่อภาค เพื่อให้เยาวชนนำไปจัดทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมในชุมชนของตนเอง เพื่อช่วยลดปัญหาของชุมชนตามบริบทของแต่ละพื้นที่”

“ราชัน” อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการ PTTEP Teenergy ดำเนินโครงการภายใต้กลยุทธ์หลัก 3 ป.ประกอบด้วย ปลูก-ปั้น-เปลี่ยน โดยปลูก คือ การปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน, ปั้น คือ การปั้นเยาวชนให้มีความรู้สู่การหล่อหลอมหัวใจอนุรักษ์ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเยาวชนให้มีความพร้อมในการทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนในการก้าวออกไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และเปลี่ยน คือ เปลี่ยนแปลงให้ชุมชนและสังคมดีขึ้นด้วยการรวมพลังความคิดและลงมือทำด้วยตนเอง

“ผ่านมามีเยาวชนที่เคยเข้าร่วมโครงการหลายคนกลายเป็นแกนนำของกลุ่มอนุรักษ์ในโรงเรียน เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ สร้างเครือข่ายอนุรักษ์ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนและชุมชน ตลอดจนมีสมาชิกในเครือข่ายสังคมออนไลน์ใน Facebook ชื่อ PTTEP Teenergy อีกกว่า 16,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะเป็นแนวร่วมอนุรักษ์ได้อีกทางหนึ่ง”

“นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังจัดให้มีกิจกรรม PTTEP Teenergy Reunion ขึ้น เพื่อให้เยาวชนในโครงการทุกรุ่นจากทุกภูมิภาคมาพบปะและเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อ ๆ ไป”

“จักรพล พร้อมใจ” นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนประจักษ์ศิลปาคาร อ.เมือง จ.อุดรธานีบอกว่า ตอนสมัครเข้าร่วมโครงการผมเขียนเรียงความเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพอากาศในท้องถิ่น โดยโยงถึงปัญหามลพิษใน อ.เมือง จ.อุดรธานีที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการเผาขยะ ในเรียงความผมเสนอวิธีการลดปริมาณ CO2 ที่เกิดจากการเผาขยะด้วยการต่อท่อควันมาสู่พืช เพราะพืชมีการดูดซับ CO2 จากอากาศในกระบวนการสังเคราะห์แสง

“ค่าย PTTEP Teenergy ที่ภาคอีสานมี 2 วัน โดยวันแรกของค่ายมีการบรรยายจากพี่ ๆ โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูฝอยลม จ.อุดรธานี โดยมีการพูดถึงปิโตรเลียมที่มีอยู่ในประเทศไทยและในโลก การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ผมเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนวันที่ 2 มีการจัดกลุ่มทำโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าประกวด หลังจากจบโครงการผมจะนำความรู้ที่ได้จากบ้านทับไฮในเรื่องก๊าซชีวภาพจากขยะมูลฝอย มูลวัว-ควาย และเศษอาหาร ไปทำใช้ที่บ้าน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อครอบครัวและชุมชนต่อไป”

PTTEP Teenergy ยังคงดำเนินโครงการต่อไป เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนนักอนุรักษ์ในการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!