มาหาสมุทร “โคคา-โคลา” จุดประกายลดขยะพลาสติกในทะเล

ทุกวันนี้มนุษย์ผูกติดชีวิตกับเทคโนโลยี จนหลายคนลืมไปว่าเราอาศัยอยู่บนโลกที่ต้องอาศัยธรรมชาติที่มีวันหมด หรือสูญเสียความสมดุล จนอาจไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ ดังเช่นปัญหาขยะในท้องทะเลที่มีจำนวนมหาศาลที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ทำลายระบบนิเวศ จนส่งผลเสียต่อชีวิตของสัตว์น้ำ

ผลเช่นนี้ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด จึงตระหนักว่าหากทุกคนไม่ร่วมมือกันอนุรักษ์ท้องทะเลเสียแต่ตอนนี้ อนาคตอาจจะสายเกินไป

ความคิดดังกล่าว จึงถูกผลักดันให้เกิดการร่วมมือระหว่างโคคา-โคลา ประเทศไทย กับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเดอะ คลาวด์ ในการจัดทริป “มาหาสมุทร” ที่ไม่ใช่การพาคนเมืองไปเที่ยวดูความสวยงามของธรรมชาติที่เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา แต่มีเป้าหมายในการเดินทางไปศึกษาการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับทะเลของคนในชุมชน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล อันส่งผลกระทบต่อคนในท้องถิ่น และกำลังเป็นภัยคุกคามน่านน้ำทั่วโลก

“นันทิวัต ธรรมหทัย” ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายใต้ความสวยงามของท้องทะเล ถ้ามองอย่างผิวเผินจะไม่รู้เลยว่าทุกวันนี้มีขยะพลาสติกมากกว่า 100 ล้านตันอยู่ในนั้น เพราะมีเพียงขยะ 9% ที่ถูกนำไปรีไซเคิล, 12% ถูกนำไปเผา จนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และ 79% หรือ 12,000 ล้านตันตกค้างอยู่ในระบบนิเวศบนโลก นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังระบุว่ามีขยะจากจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดในประเทศไทยกว่า 11 ล้านตันในปี 2560

“เราจึงอยากผลักดันให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยใช้ทริปมาหาสมุทรที่จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2561 เป็นตัวกลางในการจุดประกายให้คนเห็นว่าปัญหาขยะในทะเลไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทริปมาหาสมุทรจึงเป็นส่วนหนึ่งของ Earth Appreciation หรือการเรียนรู้ธรรมชาติใกล้ตัวฉบับ 101 ของโคคา-โคลา ประเทศไทยที่ต่อเนื่องมาจากทริปตามน้ำในปี 2560”

“เราตั้งชื่อทริปว่ามาหาสมุทรเพราะต้องการสื่อถึงการเดินทางมาหามหาสมุทรของคนต่างถิ่น ที่ประกอบไปด้วย influencers เช่น เรย์ แมคโดนัลด์ นักแสดงและพิธีกรหนุ่มนักเดินทาง และแพรี่พาย หรืออมตา จิตตะเสนีย์ บิวตี้บล็อกเกอร์สาวที่หันมาให้ความสนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัว รวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่สมัครเข้าร่วมทริป โดยเราคัดเลือกคนที่มาจากหลายสังคม แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความสนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเขาต้องเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการสร้าง social movement เพื่อขยายเรื่องราวไปสู่คนอื่น ๆ ต่อไปในทุกรูปแบบของการใช้ชีวิต”

“กิจกรรมในทริปนอกจากมีการสำรวจระบบนิเวศชายหาด ยังมีการศึกษาความสำคัญของหญ้าทะเล พร้อมกับพาไปเรียนรู้การทำประมงพื้นบ้านที่เป็นมิตรกับทะเล นอกจากนั้น ยังมีการขึ้นเรือไปเยี่ยมชมกระชังเลี้ยงกุ้งมังกรลอยน้ำ และเก็บหอยชักตีนที่ริมชายหาด ส่วนกิจกรรมไฮไลต์คือการเก็บขยะ และแยกขยะบนชายหาดโละวัก บนเกาะยาวใหญ่ ซึ่งในเวลาเพียง 30 นาที เราสามารถเก็บขยะได้ถึง 161.6 กิโลกรัม”

“นันทิวัต” อธิบายต่อว่า โคคา-โคลาให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติก จึงประกาศวิสัยทัศน์ระดับโลก world without waste พร้อมกับเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาผ่านการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2555 โดยมีเป้าหมายต่อไปคือการลดใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ โดยเปลี่ยนมาใช้วัสดุรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 2573

“ตอนนี้โคคา-โคลา, IUCN และคนชุมชนเกาะยาวใหญ่กำลังร่วมมือกันเสริมสร้างความตระหนักด้านการจัดการขยะในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมระดับบุคคล และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านการจัดการขยะพลาสติกทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไป”

“บังยา-ดุสิทธิ์ ทองเกิด” ชาวชุมชนท้องถิ่น บอกเล่าเรื่องราวระบบนิเวศของเกาะยาวใหญ่ว่าเป็นเกาะที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติสวยงาม และอุดมสมบูรณ์ มีทั้งระบบนิเวศป่าบก, ป่าชายเลน, ป่าหาดทราย และหญ้าทะเล ประชากรบนเกาะยาวใหญ่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ทำไร่ทำนา และทำสวนยาง และล่าสุดชาวบ้านรวมตัวกันพัฒนาการท่องเที่ยวบนเกาะเชิงอนุรักษ์อย่างจริงจัง

“เราสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเห็นชีวิตบนเกาะตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ จัดกิจกรรมพายเรือคยักให้นักท่องเที่ยวเห็นวิถีชาวเกาะที่สองข้างทางจะมีป่าโกงกางอันสมบูรณ์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของป่าชายเลน แต่ตอนนี้เกาะแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากคลื่นลมที่พัดขยะจากที่อื่นมา ซึ่งขยะพลาสติกเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งสามารถลอยข้ามมหาสมุทรได้ไกลแสนไกล”

“ตรงนี้นับเป็นปัญหาสำคัญบนเกาะ จนทำลายทัศนียภาพการท่องเที่ยว ทั้งยังส่งผลต่อสัตว์ทะเล และนกที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง เพราะตายเป็นจำนวนมากเนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร ถึงแม้คนบนเกาะจะพยายามเก็บขยะตามชายหาดโดยตลอด แต่ไม่มีวันหมด เพราะมีขยะลอยมาเพิ่มทุกวัน”

เพราะฉะนั้น จากโครงการความร่วมมือของทริปมาหาสมุทร น่าจะช่วยจุดประกายให้คนเมืองจัดการกับปัญหาขยะ และคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถจัดเก็บ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม โดยไม่เล็ดลอดออกสู่ทะเล จนกลายเป็นขยะทางทะเลหรือมหาสมุทรอีกต่อไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!