“คีนัน” ร่วมมือพันธมิตร เตรียมไทยรับมือสังคมผู้สูงอายุ

ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกิน 20% ของประชากรทั้งหมดในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (aged society) ตามหลักของสหประชาชาติ (United Nations-UN) แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องมีก่อนถึงปี 2564 คือ ความพร้อมในการใช้ชีวิตในสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนควรจะเร่งรณรงค์เพื่อให้เกิดการตื่นตัว และเตรียมความพร้อม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ

ด้วยเหตุผลนี้ สถาบันคีนันแห่งเอเซียจึงร่วมกับ University of North Carolina”s Kenan-Flagler School of Business and the Gillings School of Global Public Health จัดงาน “NextGen Aging-Shaping A Smart Future for an Aging Society Conference” โดยเป็นการเสวนาของผู้เชี่ยวชาญในระดับประเทศและระดับสากล เกี่ยวกับอนาคตสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยและโลก ผ่านวิสัยทัศน์ทางธุรกิจและนวัตกรรม อาทิ “ปิยะบุตร ชลวิจารณ์” ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย, “นพ.บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ “ดร.โนเอล พี. กรีอิส” ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัลเอ็นเตอร์ไพรส์ แอนด์ อินโนเวชั่น จาก UNC”s Kenan Flagler Business School

“ปิยะบุตร” กล่าวว่า งาน NextGen Aging-Shaping a Smart Future for an Aging Society Conference เน้นการเชื่อมโยงนโยบายประเทศและการรับมือต่อภาวะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันครอบคลุมทิศทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภคและเทคโนโลยี

“คีนันมีประสบการณ์ด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคมของประเทศไทย และระดับภูมิภาคมายาวนานกว่า 22 ปี เราจึงอยากจัดงานที่จะเป็นการแบ่งปันความรู้ และร่วมกันค้นหาแนวทางใหม่เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุในประเทศไทย แต่เรามีความเชื่อว่า การจะแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุนั้น จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราจึงชวนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงเทพ, บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และเมืองไทยประกันชีวิต มาร่วมเสวนาในครั้งนี้ เพื่อแบ่งปันความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข การเงิน และความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ของสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น”

“ผู้ที่เข้าร่วมฟังเสวนากว่า 300 คนเป็นทั้งบุคลากรด้านการแพทย์ ผู้ประกอบการ พนักงานจากภาคเอกชน รวมถึงข้าราชการ จากทั้งในประเทศไทยและอีกหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เราหวังว่าพวกเขาจะเอาความรู้ที่ได้ไปใช้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และสามารถเอาชนะความท้าทายด้านจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้”

ในแง่มุมด้านการแพทย์ “นพ.บุญ” กล่าวว่า ภาพรวมความพร้อมในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของคนไทยยังไม่เพียงพอ มีผู้สูงอายุในประเทศไทยเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถดูแลตนเองได้จากเงินที่เก็บออมไว้ และมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 ยังเป็นหนี้ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทั้งผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาศัยอยู่เพียงลำพัง เพราะค่านิยมการย้ายเข้าเมืองเพื่อทำงานของคนวัยทำงาน และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้บุตรหลายคนไม่สามารถส่งเสียพ่อแม่ได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะซึมเศร้า ไม่มีความสุข ดังนั้น การเตรียมพร้อมของตนเองในการรับมือกับวัยชราจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

“คนทุกคนต้องวางแผนและเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองก่อนถึงวัยชรา ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพและด้านการเงิน เช่น การออกกำลังกาย เลือกทานอาหารสุขภาพ และสร้างวินัยการออมเงิน ส่วนภาครัฐควรส่งเสริมนโยบายสาธารณสุขและการดำรงชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ มากกว่ามุ่งเน้นเพียงแค่การรักษาโรคร้ายแรง และเพิ่มแนวทางการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจและรักษาโรค และสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลพิเศษมากขึ้น”

“ทางด้านภาคเอกชนควรหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มผู้บริโภควัยหลังเกษียณกันมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่กำลังเปลี่ยนไป ทั้งยังเป็นการช่วยลดภาระภาครัฐในการหาทางออกให้กับความท้าทายนี้”

“นพ.บุญ” กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในฐานะผู้ประกอบธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ว่า artificial intelligence (AI) จะเข้ามามีบทบาทในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ และเชื่อว่ากว่า 60% ของการเจ็บป่วยจะสามารถรักษาได้ที่บ้านในเวลาอีกไม่กี่ปี ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้สูงอายุ

“เราเริ่มโครงการ Jin Wellbeing County ภายใต้คอนเซ็ปต์เมืองแนวคิดใหม่เพื่อวัยเกษียณ โดยนำนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพแนวใหม่ หุ่นยนต์อัจฉริยะ Alexa Dream with Robots สายรัดข้อมืออัจฉริยะ และจิณณ์ แอปพลิเคชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุที่พักอาศัยในโครงการ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการตรวจสุขภาพที่แม่นยำ และศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทาง เป็นต้น”

ขณะที่ “ดร.โนเอล พี. กรีอิส” พูดถึงผลการวิจัยของ AAPR&FP Analytics ที่สำรวจเกี่ยวกับการรับมือในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของแต่ละประเทศ ด้วยสุ่มประเทศตัวอย่างการสำรวจมา 12 ประเทศ โดยเป็นประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระดับโลกอย่างน้อย 61% และเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 47% เมื่อเทียบกับประเทศที่มีประชากรสูงสุด 65 อันดับแรกของโลก เช่น บราซิล, จีน, เยอรมนี, แอฟริกาใต้, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, อิสราเอล และญี่ปุ่น

“การสำรวจนี้ดูความพร้อมใน 4 แง่มุม คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านโอกาสสร้างผลิตผล ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

“ประเทศที่มีความพร้อมทั้ง 4 ด้าน และเป็นประเทศที่เป็นปรับตัวดีจนเป็นผู้นำ ได้แก่ ญี่ปุ่น ส่วนเยอรมนีทำได้ดี 3 ด้าน ยกเว้น ด้านโอกาสสร้างผลิตผล ส่วนสหรัฐอเมริกาทำได้ดีในด้านเทคโนโลยีเท่านั้น และตุรกี แอฟริกาใต้ เม็กซิโก ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 4 ด้าน”

“ดร.โนเอล พี. กรีอิส” อธิบายเพิ่มเติมว่า หลายประเทศควรใช้นวัตกรรมมาช่วยสร้างประสิทธิภาพที่ดีในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ทุกวันนี้มีการสร้างผลิตภัณฑ์มากมายที่สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถติดต่อ และเชื่องโยงกับครอบครัวและเพื่อนได้ ทำให้พวกเขาสามารถอาศัยอยู่ที่บ้านและชุมชนได้อย่างปลอดภัย

“ยกตัวอย่างประเทศจีนเป็นประเทศแรกของเอเชียที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นประเทศที่เติบโตด้านธุรกิจระดับต้น ๆ ของโลก ภาคเอกชนอย่างกลุ่มอาลีบาบา จึงสร้างแอปพลิเคชั่นเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้ง่าย เช่น มีขนาดตัวหนังสือที่ใหญ่ ทำให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้สะดวก และไม่จำเป็นต้องเดินทางออกไปข้างนอก”

“ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยเพิ่มโอกาส และความเป็นไปได้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในหลากหลายรูปแบบ เช่น การดูแลสุขภาพ และการบริการด้านการเงิน เป็นต้น”

นับว่าปรากฏการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสภาพสังคมโดยรวม ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงนับเป็นการช่วยสร้างความตื่นตัว และหาแนวทางรับมือกับประเด็นดังกล่าว เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุในประเทศไทย