JWD ชูระบบ DG-Total สร้างวิถีอยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน

เพราะตระหนักว่าธุรกิจของตนเองมีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

ธุรกิจของ JWD ให้บริการด้านคลังเพื่อจัดเก็บสินค้า และขนย้ายสินค้า มีความชำนาญเป็นพิเศษใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ สินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็น-แช่แข็ง, สินค้ากลุ่มยานยนต์ และสินค้าอันตรายและเคมีภัณฑ์ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวมีแนวทางการบริหารจัดการที่เน้นหลักความปลอดภัย และสร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

โดยสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็น-แช่แข็งในกลุ่มประมง ห้องเย็นที่มหาชัยได้รับมาตรฐานรับรองการทำประมงจากธรรมชาติอย่างยั่งยืน จาก Marine Stewardship Council ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของอาหารทะเลได้ทุกขั้นตอน อันเป็นไปตามมาตรฐานการทำประมงสากล และการส่งออกสัตว์ปีกตามมาตรฐานกลุ่ม EU และญี่ปุ่น

ขณะที่สินค้ากลุ่มยานยนต์ สามารถตรวจสอบติดตามสถานะรายคันได้แบบ real time ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางเมื่อออกจากโรงงานประกอบจนถึงปลายทางที่ส่งออก โดยเป็นไปตามเกณฑ์ของญี่ปุ่น และปฏิบัติตามมาตรฐานสำหรับส่งออกสู่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ส่วนกลุ่มสินค้าอันตรายและเคมีภัณฑ์ จะมีมาตรการด้านความปลอดภัยระดับสูงที่ครอบคลุมทั้งภาคธุรกิจ ชุมชนรอบด้าน จนถึงความปลอดภัยระดับชาติอย่างเคร่งครัด ภายใต้แนวคิด “ป้องกันก่อนเกิดเหตุ” 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD

“ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ ให้ข้อมูลว่า JWD มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ในกลุ่มสินค้าอันตรายและเคมีภัณฑ์ โดยมีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภทนี้คิดเป็น 70% ของตู้สินค้าอันตรายที่ผ่านเข้ามาในไทยทั้งหมด ซึ่งด้วยความที่สินค้ากลุ่มนี้จะส่งผลกระทบต่อสังคมและชุมชนโดยรอบมากที่สุดหากเกิดภาวะฉุกเฉิน บริษัทจึงนำระบบบริหารจัดการสินค้าอันตรายแบบครบวงจรมาใช้ เรียกว่า DG-Total (Dangerous Goods Total)

ระบบนี้มี 4 องค์ประกอบหลัก เริ่มตั้งแต่ DG-Net ที่ผู้นำเข้า-ส่งออกต้องลงทะเบียนใน DG-Net เพื่อเก็บรายละเอียดของสินค้าอันตราย โดยใช้เป็นศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศด้านเคมีภัณฑ์ของภาคตะวันออก ซึ่งสามารถสืบค้นข้อมูลความปลอดภัยได้ทันที เพื่อรับมือกับการระงับเหตุฉุกเฉิน

ถัดมาคือ Yard and Warehouse Management System ซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการลานวางตู้สินค้าและคลังสินค้าอันตรายตามคลาสสารเคมี เพื่อป้องกันการทำปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน โดยใช้ระบบ GPS จากเยอรมนี ที่ละเอียดมาก มีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 30 ซม.

องค์ประกอบที่สาม เป็น DG Port Safety มีการจัดตั้งทีมระงับเหตุฉุกเฉิน นักเคมี และผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าอันตราย ที่สแตนด์บาย 24 ชั่วโมง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต้องขึ้นไปบนเรือเพื่อตรวจสอบว่าตู้สินค้ามีความปลอดภัย ก่อนที่จะขนส่งตู้สินค้านั้น ๆ มาที่ท่าเรือ หรือคลังสินค้าอันตราย

ส่วนสุดท้าย คือ DG Oversize Delivery หรือการบริหารจัดการสินค้าอันตรายข้างลำเรือ เป็นการขนส่งสินค้าที่โหลดจากเรือมุ่งตรงไปที่คลังสินค้าอันตรายทันที เพราะกฎระเบียบของการท่าเรือไม่อนุญาตให้วางตู้คอนเทนเนอร์บนพื้นรางของท่าเรือ เพื่อรวมศูนย์การบริหารสินค้าอันตรายของท่าเรือไว้ที่เดียว

“ประโยชน์ของ DG-Total คือ ลดการเกิดเหตุ และสามารถแก้ปัญหาก่อนเกิดเหตุ ลดขั้นตอนความยุ่งยากในการทำเอกสาร เพราะเราทำทุกอย่างใส่ไว้ในระบบทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ และฝึกอบรมเกี่ยวกับสินค้าอันตรายในไทย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนว่า เรามีความสามารถในการจัดเก็บสินค้าอันตรายได้”

“จากสถิติที่เก็บไว้พบว่ามีเคสที่เราตรวจเจอก่อนเกิดเหตุประมาณ 40 เคสต่อปี จะเรียกว่าเราสามารถป้องกันก่อนเกิดเหตุก็ว่าได้ ซึ่งหากไม่มี DG-Total ก็อาจจะต้องเจอกับเหตุการณ์ไฟไหม้ก่อน คนจึงจะรู้ แล้วค่อยระงับเหตุ ซึ่งก็จะช้าเกินไป”

จากความโดดเด่นของ DG-Total ผสมผสานกับการดำเนินงานด้าน ESG (Environmental, Social, Governance) อาทิ การออกแบบอาคารประหยัดพลังงานและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์, การบริหารจัดการขยะ, การจัดกิจกรรมร่วมฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ JWD ได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment : THSI) ประจำปี 2561

“ชวนินทร์” กล่าวว่า การติดลิสต์ THSI เมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกของบริษัทในการส่งเรื่องเข้าไปขอรับการประเมิน ถึงแม้ธุรกิจของบริษัทจะจับกลุ่มสินค้าที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ และมีระบบจัดการอย่างเข้มข้นก็ตาม แต่บริษัทต้องการรู้ว่าในมิติความยั่งยืนขององค์กรอยู่ในระดับใด

“การเข้าประเมินครั้งนี้ช่วยองค์กรเยอะมาก ทำให้เห็นภาพการดำเนินงานว่าเรายังขาดในด้านใด โดยเราไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะได้รับรางวัล เพราะเรื่องความยั่งยืนถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา แต่อาจเป็นเพราะบริษัทมีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะระบบ DG-Total ซึ่งคณะกรรมการบอกว่าเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลดีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถแจ้งเตือนและป้องกันก่อนเกิดเหตุได้เป็นอย่างดี”

“ก่อนหน้านี้เราทำธุรกิจของเราตามปกติ และมีการดำเนินงานด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง ซึ่งบางส่วนก็ล้อไปกับแนวทางด้านความยั่งยืน โดยหลังจากที่เรานำเสนอข้อมูลองค์กรให้ตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว เราทราบว่าบริษัทยังมีช่องว่างตรงไหนที่สามารถทำเพิ่มเติมได้ในปีนี้”

ดังนั้น แผนงานด้านความยั่งยืนของ JWD ใน 2562 จะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งระดับโครงสร้างอย่างการจัดตั้งคณะกรรมการด้านบรรษัทภิบาล รวมถึงการสร้าง engagement กับชุมชน ด้วยการเข้าไปสร้างการมีส่วนร่วม และพัฒนาชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่ธุรกิจให้เติบโต และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

“แม้เรามีผลประกอบการที่ดี หรือมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ แต่ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งผมมองว่าเรายังไปไกลได้อีกเยอะ เพราะเรามีการดำเนินงานทั้งสองด้านนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการนิยามกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือกรอบการทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนมากพอ ซึ่งต่อจากนี้ไป JWD จะใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เข้ามาจับ และมุ่งสู่การทำซีเอสอาร์อย่างมีกลยุทธ์อย่างเต็มตัว”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!