กลยุทธ์สร้างคน “BPP” ผสานความต่างเป็นหนึ่งเดียว

ธุรกิจพลังงานได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนภาพให้ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ เช่น จากพลังงานแสงอาทิตย์ และความผันผวนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด ขณะที่ภาคธุรกิจต้องเดินหน้าต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุธี สุขเรือน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ถึงแนวทางการบริการงาน ท่ามกลางความเสี่ยงมากมายที่ต้องข้ามผ่าน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายขององค์กรที่ตั้งไว้ในปี 2568 คือ การเพิ่มกำลังผลิต 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมีพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2568 อย่างต่อเนื่อง

เบื้องต้น “สุธี” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง แต่ด้วยจุดแข็งขององค์กรจากการไปลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการที่บริษัทแม่ได้เข้าไปลงทุนไว้แล้วโดยเฉพาะในแถบอาเซียน ทำให้ธุรกิจยังเดินหน้าไปต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานจะยังไม่มีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนก็ตาม การลงทุนในต่างประเทศถือเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งปัจจุบันธุรกิจของบ้านปู เพาเวอร์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โรงไฟฟ้าหงสา ใน สปป.ลาว ร่วมทุนกับบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (RATCH) โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่ร่วมทุนกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม

ทั้งนั้น หากนับรวมโรงไฟฟ้าและโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา จะมีอยู่ถึง 28 แห่ง ในประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม คิดเป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,869 เมกะวัตต์เทียบเท่า ภายในปี 2566 โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนกำลังผลิตรวม 740 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) จนครบภายในปี 2566 พร้อมสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 10 อีกด้วย

จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บ้านปู เพาเวอร์ต้องมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศคือ เพื่อไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ได้ นอกจากจุดแข็งในเรื่องของประสบการณ์การลงทุน และความเข้าใจในนโยบายของประเทศต่าง ๆ แล้ว บ้านปูยังให้ความสำคัญการพัฒนา “คน” โดยเฉพาะการนำเอาวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนลักษณะนิสัยเฉพาะของคนไทยที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เข้ากับคนง่าย เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นคอนเซ็ปต์ของบ้านปู และบริษัทในเครือ

สุธีเล่าถึงการเข้าไปลงทุนในประเทศจีนอีกว่า บ้านปู เพาเวอร์ให้ความสำคัญกับพนักงานที่เป็นคนในพื้นที่มากกว่าการส่งคนของเราลงไปเอง ซึ่งบางครั้งอาจจะมีบ้าง แต่ถือว่าน้อยมาก เช่นโรงไฟฟ้าที่ซานซี ลู่กวง ที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งเป็นรูปแบบของการร่วมทุน ที่ร่วมกันบริหารผ่านบอร์ด ซึ่งเราถือเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี ตั้งแต่ตอนเข้าไปลงทุนในเหมืองถ่านหิน จึงถูกชวนไปลงทุนในส่วนอื่น ๆ ต่อ จึงทำให้เรามีพนักงานที่เป็นคนจีนจำนวนมาก ราว 700-800 คน ขณะที่คนของเราที่ถูกส่งเข้าไปเสริมไม่ถึง 10 คน

โดยเครื่องมือที่ใช้เพื่อช่วยผสานให้การทำงานที่มีความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศได้ คือ วัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ “Banpu Spirit” ที่ประกอบด้วยนวัตกรรม (innovation) การยึดมั่นในความถูกต้อง (integrity) ความห่วงใยและเอาใจใส่ (care) และพลังร่วม (synergy) เพื่อให้ทุกคนใช้เป็นหลักในการทำงาน ไม่ว่าใครจะมาจากประเทศใดก็ตาม

นอกจากนี้บ้านปูฯยังให้ความสำคัญการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกันในประเทศต่าง ๆ เราจะส่งคนไทยที่เป็น country head และที่เป็น business development ตลอดจนแผนกการเงินและบัญชีลงไปอยู่ในพื้นที่ ซึ่งอย่างที่บอกไปมีอยู่ไม่ถึง 10 คน และส่วนใหญ่คนไปจะต้องพูดภาษาจีนได้ ทั้งยังเป็นคนที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อและถ่ายทอดให้กับพนักงานในพื้นที่ จะทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอีกทางหนึ่งด้วย

และมาวันนี้ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บ้านปู เพาเวอร์จึงได้มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเป็น “Banpu Heart” ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากขึ้นไปกว่าเดิม โดยปรับเหลือเพียง 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย

หนึ่ง passionate ที่มีใจรัก มีความมุ่งมั่น ความทุ่มเท ซึ่งความห่วงใยและเอาใจใส่ (care) จะถูกซ่อนเอาไว้ในนี้ เพราะถ้าเราแคร์พนักงานก็ต้องพัฒนาเขาขึ้นมา ซึ่งการที่จะทำธุรกิจเติบโตและประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของพนักงานด้วย

สอง innovative ที่เป็นการสร้างสรรค์ เพราะในเรื่องเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนไป ทุกอย่างจะต้องถูกพัฒนาเป็นนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด การทำงาน วิธีลดต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ้านปูต้องมี

สาม committed ที่เป็นความมุ่งมั่นยืนหยัด ที่รวมเรื่องของการยึดมั่นในความถูกต้อง (integrity) และพลังร่วม (synergy) เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะต้องมีธรรมาภิบาลและทำงานกันเป็นทีม จะเก่งหรือเด่นอยู่คนเดียวไม่ได้

ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยโลกก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว วิทยาการต่าง ๆ รุดหน้าไปเสมอ สิ่งที่บ้านปูฯทำคือ การประกวดนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์ต่อองค์กรและตัวพนักงานเป็นอย่างมาก ด้วยการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงไอเดียและความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมา พร้อมทั้งนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและกัน

ถึงตรงนี้ “สุธี” บอกว่า ในเรื่องความท้าทายจากเป้าหมายที่วางไว้ว่า บ้านปู เพาเวอร์ ต้องมีกำลังผลิต 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่าภายในปี 2568 อย่างต่อเนื่อง และต้องมีพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งช่วงสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมามีกำลังผลิตอยู่ที่ 2,100 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 โดยจะเริ่ม COD เข้ามาอีกประมาณ 800 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมดเป็น 2,900 เมกะวัตต์ ฉะนั้นแล้วยังคงเหลือกำลังผลิตอีก 1,400 เมกะวัตต์ ที่เราจะต้องไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจะต้องดูว่าโอกาสการลงทุนของเราควรจะไปโฟกัสที่ไหน เพราะกลยุทธ์มีความชัดเจนอยู่แล้ว โดยแต่ละประเทศยังถือว่ามีโอกาส และท้าทายในตัวเอง

อย่างล่าสุดที่เราไปลงทุนพลังงานลมที่เวียดนาม ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อผลตอบแทนของโครงการในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีโอกาสสำหรับการลงทุนอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานแสงอาทิตย์ หรืออย่างโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่สามารถขยายกำลังเพิ่มได้ หากระดับนโยบายบอกว่าให้ขยายกำลังผลิต ก็สามารถดำเนินการได้ทันที

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มองเห็นเป็นทิศทางของบ้านปู เพาเวอร์ในวันนี้ต่อไปในอนาคตข้างหน้าคือ ต้องออกไปหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถขยายธุรกิจต่อไปได้ และเรื่องของคน ถูกกำหนดไว้ว่าคือ ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด โดยเน้นหล่อหลอมให้อยู่ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรแบบเดียวกัน และพัฒนาพวกเขาขึ้นมา โดยเฉพาะคนธรรมดา ถ้าเราฝึกให้เก่งขึ้นได้นั้น ถือว่าท้าทายกว่าการทำให้เก่งมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าเราเอาแต่พัฒนาแต่คนที่เก่ง และทิ้งคนธรรมดาไว้ข้างหลัง ตรงนี้เรื่องของทีมงานจะไม่เกิด ที่สำคัญ จะยังเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาทีมงาน ให้เป็นเหมือนครอบครัว พี่สอนน้อง สุดท้ายเป็นเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ตลอดจนการเป็น good citizen ในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุน

ทั้ง 3 เรื่องนี้จะต้องมีให้ได้ และต้องมีให้ครบ เพื่อให้ธุรกิจของบ้านปู เพาเวอร์ฯ มีการเติบโต มีผลการดำเนินการที่ดี สามารถปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และที่สำคัญจะทำให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมั่นคง