กระทรวงแรงงาน ขานรับปรับอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ 19 อาชีพ พร้อมจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 500 แห่ง

จากประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง ปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในกลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล กลุ่มสาขาอาชีพอุตสาหกรรมศิลป์ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ รวม 19 อาชีพ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันนั้น “พล.ตอ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ เสริมสร้างการมีงานทำได้รับค่าจ้างตามทักษะฝีมือ มุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนเชิงระบบ เร่งดำเนินการฝึกอบรม และทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

“สุทธิ สุโกศล” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การประกาศปรับปรุงอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 19 สาขาอาชีพ จาก 83 สาขาอาชีพในครั้งนี้เปรียบเสมือนสิ่งจูงให้แรงงานมีการพัฒนาตนเองตั้งแต่การเข้าสู่ตลาดแรงงาน ด้านนายจ้างและสถานประกอบกิจการคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน เข้าปฏิบัติงานในองค์กร หรือเลื่อนตำแหน่งต่างๆ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศ

และการจะได้ค่าจ้างดังกล่าว จะต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบกับ กพร. ซึ่งแบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประเมินจากการปฏิบัติงานหลายด้าน เช่น ความปลอดภัยในการทำงาน การใช้วัสดุอย่างประหยัด การใช้เครื่องมือเครื่องจักรอย่างถูกวิธี ใช้ระยะเวลาการปฏิบัติงานภายในเวลากำหนด ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน สุดท้ายคือผลสำเร็จของงานมีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์

ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั้ง 77 แห่งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา จัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบฯ อีกจำนวน 554 แห่ง ทั่วประเทศ อาทิ โรงเรียนวดไทยสปา สุรนารี วิทยาลัยสารพัดช่างจันทบุรี วิทยาลัยการอาชีพพนัสนิคม บริษัท เอ เอ็น ไอ โลจิสติกส์ จำกัด ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น ศูนย์ทดสอบฯ ที่ได้รับอนุญาตจะมีความพร้อมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบฝีมือ มีคณะกรรมการที่อยู่ในการกำกับดูแลของกพร. ผู้ทำการประเมิน ซึ่งจะเพียงพอต่อการรับบริการทดสอบฯ ของพนักงานในสถานประกอบกิจการ ช่างฝีมือ นักศึกษาอาชีวะ และประชาชนทั่วไป

ส่วนในบางสาขาอาชีพโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดการทดสอบฯ ในสถานประกอบกิจการที่มีเครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัย เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว สามารถนำใบรับรองไปใช้ในการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานในสาขาที่มีประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือข้างต้นได้