พัฒนาสายพันธุ์ – เพิ่มราคารับซื้อ หลักเกษตรยั่งยืน “เป๊ปซี่โค”

วัตถุดิบที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลิต “เลย์” คือ “มันฝรั่ง” ฉะนั้นผู้ผลิตอย่างบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด จึงผลักดันและส่งเสริมเกษตรกรอย่างเข้มข้น ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของการผลิตเพื่อให้ได้คุณภาพดีสู่ผู้บริโภค

“นโยบายส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยื่นของเป๊ปซี่โค มีความชัดเจนที่ต้องการมุ่งเน้นในการใช้วัตถุดิบที่ปลูกในประเทศเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเกษตรกรไทยผ่านโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งที่กำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน”

“เคิร์ธ พรีชอว์” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจขนมขบเคี้ยว บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวถึงแนวคิดหลักในการดูแลเกษตรกร พร้อมให้ข้อมูลว่า การผลิตเลย์ของไทยจะใช้มันฝรั่งนำเข้าจากต่างประเทศ 30% จากประเทศแคนาดา, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, เยอรมนี, จีน และพม่า ส่วนอีก 70% จะเป็นมันฝรั่งที่ปลูกในไทย 

โดยเป๊ปซี่โคได้ส่งเสริมการเพาะปลูก และรับซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยประมาณ 3,500 ราย ครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูกรวมกว่า 22,000 ไร่ ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา และตาก รวมถึง 2 จังหวัดในภาคอีสาน คือ สกลนคร และนครพนม

“แนวทางการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง คือ รับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาประกันขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด โดยปัจจุบันราคาประกันการรับซื้อมันฝรั่งพันธุ์โรงงานในฤดูแล้ง (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 10.60 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาประกันในฤดูฝน (ก.ค.-ธ.ค.) อยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม โดยยังไม่บวกรวมค่าจูงใจส่วนเพิ่มให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะ ในกรณีที่สามารถผลิตมันฝรั่งให้มีคุณภาพสูงขึ้นได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ ในแต่ละปีเป๊ปซี่โครับซื้อผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 70,000 ตัน”

 

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงจูงใจด้านราคารับซื้อเท่านั้น เป๊ปซี่โคยังเข้าไปร่วมทำงานกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพาะปลูกจากต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาทักษะความชำนาญให้กับเกษตรกรให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยเป๊ปซี่โคให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ อาทิ ปุ๋ย ยา และหัวพันธุ์มันฝรั่งที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม, กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อให้การสนับสนุนเกษตรกรครบถ้วนในทุกมิติและครบวงจร

ด้าน “ชวาลา วงศ์ใหญ่” ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ให้ข้อมูลถึงการทำเกษตรยั่งยืนตามแนวทางของเป๊ปซี่โค ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ส่วนแรก คือ การเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นการสร้างแนวทางที่ทำให้เกษตรกรอยู่กับเป๊ปซี่โคในระยะยาว ซึ่งหลักที่บริษัททำ คือ contract farming หรือเกษตรพันธสัญญา

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมองค์ความรู้การจัดการไร่มันฝรั่งผ่านหลักสูตรต่าง ๆ เช่น การให้ความรู้เรื่องดิน, ปุ๋ย, การจัดการน้ำ, การจัดการศัตรูพืช และการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดี และมีกำไรที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และป้อนวัตถุดิบให้กับเป๊ปซี่โคต่อไป

“เราพัฒนาหลายโปรแกรม เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดี เทียบจาก 10 ปีที่แล้วที่เขาได้ผลผลิตไม่เกิน 2 ตัน/ไร่ ตอนนี้เพิ่มเป็น 3 ตัน/ไร่ และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 5 ตัน/ไร่ให้ได้ภายใน 2-3 ปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งของการได้มาซึ่งมันฝรั่งคุณภาพดีมาจากการพัฒนาสายพันธุ์ FL (Frito-Lay) ที่นำสายพันธุ์จากต่างประเทศ 2-3 สายพันธุ์มาพัฒนาและปลูกในไทย ทำให้ขนาดของหัวมันฝรั่งใกล้เคียงกัน ส่งผลดีต่อเกษตรกรที่จะไม่ถูกปฏิเสธการรับซื้อในกรณีที่มันฝรั่งขนาดเล็กมากผสมกับมันฝรั่งขนาดใหญ่”

“ชวาลา” อธิบายถึงการทำเกษตรยั่งยืนต่อว่า ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยเป๊ปซี่โคจะให้ความรู้และเทรนเกี่ยวกับการใช้และการจัดการสารกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการจัดเก็บภาชนะที่บรรจุสารกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกวิธี เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และชุมชนข้างเคียง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการส่งต่ออาชีพให้ทายาทเกษตรกร เพื่อสร้างเกษตรกรไทยที่มีความรู้ความสามารถด้านการผลิตมันฝรั่งให้อยู่กับประเทศไทยในระยะยาว

จากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องของเป๊ปซี่โคในการพัฒนาและดูแลเกษตรกรนั้น ส่งผลให้เกษตรกรในเครือข่ายมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนของเป๊ปซี่โค คือ “บุญศรี ใจเป็ง” เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของรางวัล “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชไร่ภาคเหนือ ปี 2553”

เขาบอกว่า ปกติแล้วการเพาะปลูกมันฝรั่งในไทยนั้นมีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 ตันต่อไร่ แต่พื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการพัฒนา เรียนรู้ และทดลองการเพาะปลูกร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนอย่าง เป๊ปซี่โคมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ทั้งในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาและแบบอื่น ๆ โดยปัจจุบันตนสามารถสร้างผลผลิตมันฝรั่งได้สูงถึง 5 ตันต่อไร่แล้ว

“ตอนนี้แปลงปลูกมันฝรั่งในอำเภอสันทรายได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเพาะปลูกมันฝรั่งของไทย ซึ่งในทุกปีเราได้ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและภาคเอกชนจัดงาน Field Day ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน และขยายผลแปลงสาธิตต้นแบบไปสู่เกษตรกรทั่วประเทศ”


เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้มีความรู้และทักษะการปลูกมันฝรั่งที่มากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและรายได้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา