“เซ็นทรัล” ดัน “ทรัพย์-ปัน” ผ่านโมเดิร์นเทรดช่วยเกษตรกร

(ซ้าย อนุตรา วรรณวิโรจน์-บุษบา จิราธิวัฒน์(ขวา)

ประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เหมาะสำหรับการทำการเกษตร แต่เกษตรกรยังขาดความเชื่อมั่นในการทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี เพราะเกรงว่าจะไม่มีตลาดรองรับ เนื่องจากสินค้าออร์แกนิกไม่ได้มีผลผลิตจำนวนมาก เหมือนกับการใช้สารเคมีกระตุ้น

ในฐานะที่กลุ่มเซ็นทรัลเป็นภาคเอกชนที่มีองค์ความรู้ด้านช่องทางจำหน่าย มองเห็นถึงปัญหาของเกษตรกร จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนามาตั้งแต่ปี 2559 ในการผลักดันสินค้าออร์แกนิกผ่านระบบโมเดิร์นเทรด พร้อมสร้างแบรนด์ “ทรัพย์-ปัน” เพื่อส่งเสริมความมั่นใจในการทำเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกเกษตรกรว่ามีตลาดรองรับสินค้าอย่างแน่นอน

โดยล่าสุดได้ปล่อยสินค้าตัวใหม่ คือ “ข้าวพิษณุโลก 80” ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเพื่อสุขภาพ มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง-ต่ำ (glycemic index-GI) ด้วยการขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“บุษบา จิราธิวัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัดกล่าวว่า ตราสินค้าทรัพย์-ปันเป็นชื่อและตราสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรัพย์-ปันมาจากคำว่า Sappan Wood ที่แปลว่า ต้นฝาง และยังหมายถึงการแบ่งปันทรัพย์ในดิน สินในน้ำจากพื้นที่โครงการในตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ไปสู่ประชาชนพื้นที่อื่น ๆ

“ที่ผ่านมาเรามีสินค้าภายใต้แบรนด์นี้ ได้แก่ คะน้า, ผักสลัด, เรดโอ๊ก, กะหล่ำปลี, หน่อไม้ฝรั่ง, เห็ดหูหนู และอื่น ๆ จนปีที่ผ่านมาโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาข้าวสายพันธุ์พิษณุโลก 80 โดยเล็งเห็นว่าพื้นที่ อ.ฝาง เหมาะสมกับการปลูกข้าวพันธุ์นี้ ทั้งยังเป็นข้าวที่ยังมีผู้ผลิตไม่มาก น่าจะเป็นที่ต้องการของลูกค้า เพราะลักษณะเด่นของข้าวสายพันธุ์พิษณุโลก 80 มีความเหนียวนุ่ม เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพ และผู้ควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหาร เช่น โรคเบาหวาน และโรคอ้วน เนื่องจากมีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง-ต่ำ (glycemic index-GI) เพียง 59.5 เมื่อเทียบกับพันธุ์ข้าวขาวพันธุ์ดอกมะลิ 105 ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลมากกว่า 69″

“ข้าวที่จะได้รับการยอมรับให้มาขายภายใต้แบรนด์ทรัพย์-ปัน เกษตรกรต้องผลิตข้าวให้ผ่านมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติในสวนไร่นาสินค้าปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลมีแผนรับซื้อข้าวทั้งหมดที่ปลูกโดยกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายโครงการจำนวน 15 ตัน อันเป็นผลผลิตทั้งหมดจากปี 2561 ทั้งยังจัดจำหน่ายในรูปแบบข้าวขาวบรรจุแพ็กละ 1 กิโลกรัม และ 2 กิโลกรัม ส่วนข้าวกล้องบรรจุแพ็กละ 1 กิโลกรัม โดยรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม จึงทำให้ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวที่มากขึ้น มั่นคง และเป็นมาตรฐาน”

“เราใช้ช่องทางโมเดิร์นเทรดในการวางจำหน่าย โดยจะวางขายที่ท็อปส์ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายรวม 6 สาขา ได้แก่ สาขาเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่, สาขาเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต, สาขาเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว, ท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาโชตนา, ท็อปส์ มาร์เก็ต สาขารวมโชคมอลล์ เชียงใหม่ และท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเชียงราย สำหรับใน กทม.เรากำลังพิจารณาถึงจำนวนผลผลิต และมีแผนขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านท็อปส์ออนไลน์ และท็อปส์สาขาใน กทม. ซึ่งการพัฒนาชุมชนด้วยการสร้างงาน และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่เราทำอยู่นี้เป็นหลักการงานเพื่อสังคมของกลุ่มเซ็นทรัลที่ชื่อว่า เซ็นทรัล ทำ”

“อนุตรา วรรณวิโรจน์” ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวถึงความตั้งใจของโครงการว่า ต้องการสร้างการเกษตรระบบอินทรีย์แบบครบวงจรในพื้นที่ จึงสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเกษตร และสนับสนุนเครื่องมือในการผลิตให้แก่กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายของโครงการ อาทิ โรงแปรรูปผลิตภัณฑ์ และโรงสีข้าวที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล

“ความท้าทายคือการชักชวนให้เกษตรกรมาเข้าร่วมทำการเกษตรแบบอินทรีย์ แต่เมื่อเกษตรกรรายอื่นได้เห็นความสำเร็จของเกษตรกรเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการของเรา ก็ทำให้มีคนมาร่วมมากขึ้น ตอนนี้เกษตรกรเครือข่ายของโครงการจำนวน 14 ครัวเรือนที่ร่วมปลูกข้าวเจ้าพันธุ์พิษณุโลก 80 บนพื้นที่ 42 ไร่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สนับสนุนให้ปลูกข้าวสายพันธุ์นี้ในภาคเหนือ”

“แต่เดิมพวกเขาปลูกแค่ข้าวสายพันธุ์หอมมะลิ 105 และข้าวไรซ์เบอรี่ เราจึงเข้าไปพูดคุยและสนับสนุนด้านการเพาะพันธุ์ และโรงสีข้าวสำหรับสมาชิก เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิต ส่วนเกษตรเครือข่ายของโครงการที่ทำการปลูกพืชอื่น ๆ มีอีก 11 ครัวเรือน”

ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการนำมาซึ่งการกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการทำการเกษตรแบบอินทรีย์มากขึ้นด้วย

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!