“บ๊อช” พัฒนาการเรียนสู่อาชีพ เสริมทักษะเยาวชนเพื่ออนาคตยั่งยืน

เพราะ “บ๊อช ประเทศไทย” เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสนับสนุนกลุ่มเยาวชนไทยชาวเขาที่ขาดโอกาส จึงมีแนวคิดในการร่วมพัฒนาโมเดลสร้างอาชีพตามความถนัด และความสนใจของเยาวชน ด้วยการสนับสนุนมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต (Skills for Life) ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีเป้าหมายให้เยาวชนพัฒนาทักษะอาชีพจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ทั้งยังส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยชาวเขารุ่นต่อไป

“โดมินิค ลอยท์วีเลอร์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต กล่าวว่า หลังจากที่ได้พำนักอยู่ในภาคเหนือมากว่า 17 ปี และได้ให้การช่วยเหลือเด็กที่ขาดโอกาสในภาคเหนือเป็นจำนวนมาก พบว่าเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ไม่มีเป้าหมายด้านการศึกษา เพราะเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะหยุดพักการเรียนไว้แค่นั้น เหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาในการก่อตั้งมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตขึ้น เพื่อช่วยเยาวชนไทยชาวเขาให้ได้รับโอกาสในการศึกษาจนสามารถสร้างอาชีพเลี้ยงตัวเองได้

“ปัจจุบันมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตอุปถัมภ์เยาวชนไทยชาวเขารวม 27 คน ทั้งชาย และหญิง ตั้งแต่ระดับมัธยมปลายจนถึงอุดมศึกษา บางรายขาดโอกาสด้านการศึกษาและอาชีพในอนาคต เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน มูลนิธิจึงเข้ามาดูแลด้านความเป็นอยู่ ทั้งที่พัก อาหาร เสื้อผ้า การเดินทาง ทุนการศึกษา รวมทั้งติดตามการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน”

“การที่มีผู้สนับสนุนมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต อย่างบ๊อช และ Primavera ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยพนักงานของบ๊อชที่เกษียณอายุแล้ว เข้ามาช่วยเหลือ สร้างความแตกต่าง และติดตามโครงการอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาด รวมถึงพัฒนาทักษะอาชีพจนทำให้เด็กเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตต่อไป”

“บ๊อชยังร่วมกับคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการให้คำปรึกษา และจัดอบรมเยาวชนไทยชาวเขาในการใช้เครื่องมือช่าง และแนะนำแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นการลงมือปฏิบัติ ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการตลาดและการขาย โดยมีอาจารย์คณะบริหารธุรกิจเข้ามาเสริม พร้อมด้วยน้อง ๆ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ร่วมเป็นอาสาสมัครในการช่วยฝึกอบรม”

“ดร.สุมนัสยา โวหาร” อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน กล่าวว่า เด็ก ๆ ก้าวข้ามความกลัวในการใช้เครื่องมือช่าง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กผู้หญิงที่ในปัจจุบันสามารถใช้เครื่องมือได้อย่างคล่องแคล่ว สนุกกับสิ่งที่ทำ และเกิดแรงบันดาลใจให้พวกเธอคิดต่อยอดงานได้อย่างน่าชื่นชม

“สำหรับโคมขวด (botlight) คือ หนึ่งในบทพิสูจน์ความสำเร็จของมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต รวมทั้งเยาวชนไทยชาวเขา และพันธมิตร ที่ร่วมกันขับเคลื่อนแรงบันดาลใจให้เกิดชิ้นงาน เพราะโคมขวดถูกออกแบบมาจากขวดไวน์รีไซเคิล ที่ทางมูลนิธิรวบรวมมาจากโรงแรม 5 ดาวใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเด็ก ๆ ต้องนำมาคัดแยก ทำความสะอาด ตากให้แห้ง ติดตั้งสายไฟ ตัดแต่งกล่องไม้ และจบที่ขั้นตอนบรรจุสวยงามพร้อมส่ง ซึ่งเด็ก ๆ จะใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนแบ่งหน้าที่กันตามถนัด ปัจจุบันโคมขวดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับมูลนิธิ แบ่งเบาค่าใช้จ่าย เสริมทักษะสร้างอาชีพให้เยาวชนไทยชาวเขากลุ่มนี้ได้อย่างน่าภูมิใจ”

“เอมอร นิคมคีรี” เยาวชนไทยชาวเขาที่ปัจจุบันศึกษาด้านจิตวิทยาองค์กร กล่าวว่า โคมขวดถือเป็นผลงานชิ้นแรก โดยหนูชอบงานศิลปะและขัดพื้นผิวไม้ เพราะได้เรียนรู้วิธีเลือกไม้ให้เข้ากับลักษณะของขวดไวน์ รู้สึกดีใจที่สามารถก้าวข้ามความกลัวการใช้เครื่องมือไฟฟ้าได้ และอยากลองต่อยอดคิดชิ้นงานอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยมูลนิธิให้มีรายได้เพิ่มต่อไป

“ดลนภา จะกอ” เยาวชนไทยชาวเขาที่ปัจจุบันศึกษาด้านการโรงแรม กล่าวเสริมว่า สิ่งที่หนูได้จากการฝึกอาชีพในครั้งนี้ คือ ความภูมิใจ การเคารพตนเอง และความเชื่อมั่นว่าหนูสามารถทำในสิ่งที่หนูเคยคิดว่าทำไม่ได้ค่ะ ขอบคุณบ๊อชที่ช่วยให้หนูมาถึงจุดนี้อันเป็นการร่วมกันพัฒนาทักษะอาชีพให้กับเยาวชนที่ขาดโอกาสเพื่อให้เขามีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป