ปั่นไปไม่ทิ้งกัน ปี 2 ปฏิบัติการส่งต่อพลังสู่ผู้พิการ

หากมองถึงทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อคนพิการยังมีแง่มุมเรื่องความสงสารหรือเวทนา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนพิการขาดความมั่นใจ และส่งผลต่อการก้าวไปสู่การประกอบอาชีพด้วยตัวเอง โดยในทางกลับกัน ถ้าสังคมมองว่าคนพิการมีศักยภาพ พวกเขาก็จะเกิดความมั่นใจ และกล้าที่จะเรียนรู้อาชีพต่าง ๆ สำหรับเลี้ยงดูตัวเองหรือคนรอบข้างได้

ทั้งนั้น ข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีคนพิการที่จดทะเบียนทั่วประเทศ 2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.05 ของประชากรทั้งหมด จำนวนนี้มีคนพิการที่อยู่ในวัยแรงงาน คือ อายุระหว่าง 15-60 ปี กว่า 8 แสนคน แบ่งย่อยเป็นคนพิการที่มีงานทำ 2.1 แสนคน คนพิการที่ทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ 1.5 แสนคน และคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน แต่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากพิการรุนแรงอีก 5 หมื่นคน

ในส่วนของคนพิการที่ไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้มีถึง 2 แสนคน ซึ่งเมื่อเทียบตัวเลขกับปี 2560 ที่มี 5.7 แสนคน ถือว่าจำนวนคนพิการที่ไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้ลดลงกว่า 3.7 แสนคน ภายในระยะเวลา 1 ปี

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

เพื่อพัฒนาคนพิการให้มีศักยภาพมากขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมามีการจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่” โดย “ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ผู้ริเริ่มศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน มองว่า ทางออกหรือแนวทางที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศ คือ ต้องสร้างงาน และสร้างอาชีพให้คนพิการมีรายได้เพียงพอและยั่งยืน เพื่อให้ก้าวพ้นความยากจน และเกิดการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนแห่งนี้อยู่บนพื้นที่ 33 ไร่ เป็นทั้งสถานที่ฝึกอาชีพด้านเกษตร การบริการและงานโรงแรม รวมถึงการพัฒนาสายอาชีพที่คนพิการสามารถทำได้ในท้องถิ่น อันสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับทุกคน หรือ tourism for all ถ้าการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถฝึกอาชีพคนพิการในสาขาอาชีพต่าง ๆ ได้มากกว่า 1,000 คนต่อปี”

อย่างไรก็ดี เมื่อปีที่ผ่านมามูลนิธิสากลเพื่อคนพิการได้จัดโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind” ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่คนตาบอดปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ รวมระยะทางกว่า 867 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 150 ล้านบาท โดยจากกิจกรรมนี้สามารถระดมทุนได้กว่า 32 ล้านบาท

เป้าหมายของการก่อสร้างศูนย์แห่งนี้จะประกอบด้วยอาคารฝึกอาชีพการเกษตร, อาคารฝึกอาชีพอาหาร, อาคารฝึกอาชีพการท่องเที่ยวและโรงแรม, อาคารที่พักชาย-หญิง ซึ่งมีระบบสุขาภิบาลครอบคลุมพื้นที่ทั้งศูนย์ รวมถึงมีโครงสร้างและงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่อำนวยความสะดวกให้คนพิการทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม (universal design)

เพื่อเติมเต็มศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนให้เดินหน้าก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผนงาน ในปีนี้จึงมีการจัดกิจกรรม “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” ซึ่งต้องการระดมทุนเพิ่ม 118 ล้านบาท โดยจะมีคนตาบอด 22 คน และอาสาสมัคร 22 คน ร่วมปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯถึงศูนย์ฝึกคนพิการอาเซียน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผ่าน 15 จังหวัด

ได้แก่ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, สระแก้ว, ปราจีนบุรี, นครราชสีมา, ลพบุรี, สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, สุพรรณบุรี และนครปฐม ในวันที่ 9-22 ก.พ. 2562 ระยะทางรวม 1,500 กิโลเมตร ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นศักยภาพของคนพิการ และให้โอกาสคนพิการในการพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต

“ศ.วิริยะ” บอกว่า หลังจากที่ก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่ อ.เชียงดาว มาแล้ว 1 ปี ได้ก่อสร้างโรงฝึกอาชีพ 3 หลัง และอาคารเรือนพักรวมของผู้เข้าร่วมการอบรม 2 หลัง โดยสามารถเปิดฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้พิการไปแล้ว 2 รุ่น รวมคนพิการและผู้ดูแลคนพิการที่เข้าร่วมอบรม 287 ครอบครัว ซึ่งพวกเขาต้องมาใช้ชีวิตในศูนย์แห่งนี้เพื่อปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด ควบคู่กับการเรียนรู้งานในอาชีพต่าง ๆ การฝึกอบรมมุ่งไปยังอาชีพที่สามารถมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน อีกทั้งคนพิการสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยมีการฝึกอบรมใน 3 อาชีพ ได้แก่ เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด, เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน และปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ และขายได้กำไรดี

“คนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถไปรวมกลุ่มอาชีพในพื้นที่ และจังหวัดต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมในท้องถิ่น ปัจจุบันได้เกิดเครือข่ายขยายออกเป็นสาขาย่อยจำนวน 12 ศูนย์ โดยมีแผนที่จะเพิ่มสาขาย่อยอีก 18 ศูนย์ภายในปีหน้า”

โดยหนึ่งในคนพิการที่ได้เข้าร่วมอบรมจากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนคือ “ประพันธ์ ยอดแก้ว” ซึ่งพิการด้วยโรคโปลิโอ เขาบอกว่าตัวเองอาศัยอยู่กับน้องชายที่พิการด้วยโรคโปลิโอเช่นกัน โดยตนได้เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพจากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.แม่ริม หลังเข้ารับฝึกอบรมแล้วก็เริ่มปลูกผักสวนครัว เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงจิ้งหรีด เพราะมีความเหมาะสมกับพื้นที่ และความถนัดของตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการเข้ามาติดตาม และให้ความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ

“ทุกวันนี้เก็บไข่ไก่ได้วันละ 5-10 ฟอง ขายได้ฟองละ 3 บาท ส่วนเห็ดนางฟ้าเก็บ 3-4 วันต่อครั้ง ครั้งละ 1-2 กิโลกรัม ขายได้ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท รวมถึงพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษหลากหลายชนิดก็นำมาวางจำหน่ายหน้าบ้าน บางครั้งก็เก็บส่งขายให้กับคนมาสั่งไว้ ทำให้มีรายได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 100-200 บาท”

“เมื่อก่อนผมทำงานรับจ้างทั่วไป ได้เงินแค่วันละ 100 บาท แต่เมื่อได้ทำอาชีพเหล่านี้ ทำให้ผมมีรายได้มาเลี้ยงดูตัวเองและน้องชาย อีกทั้งมีเงินเหลือใช้นิดหน่อย เพราะไม่ต้องซื้อของจากข้างนอกเข้ามากิน โดยมีทั้งของที่ปลูกและเลี้ยงเอง ส่วนใหญ่จะซื้อเฉพาะข้าวสาร”

“พิษณุพงศ์ ทรงคำ” ผู้จัดการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการติดตามผลผู้อบรมอย่างต่อเนื่อง พบว่า ร้อยละ 70 ของคนพิการและผู้ดูแลที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพอิสระได้จริง ส่วนอีกร้อยละ 20 เจอปัญหาความไม่พร้อมเรื่องเงินทุน และอีกร้อยละ 10 คือ ไม่มีการดำเนินงานใด ๆ

“ส่วนตัวแล้วผมมองว่าการจ้างงานคนพิการในปัจจุบันมีอุปสรรค 2 ประเด็น คือ ความไม่พร้อมของสถานประกอบการในการรองรับคนพิการ และคนพิการมีทักษะไม่ตรงกับสายงาน ส่งผลให้สถานประกอบการมองข้ามคนพิการ จึงอยากให้สถานประกอบการหรือคนทั่วไปลองปรับทัศนคติกับคนพิการ เปิดโอกาสให้เขาแสดงความสามารถ เพราะบางครั้งอาจมีภาพจำในคนพิการว่าทำอะไรไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเราเปิดโอกาสก็จะเห็นได้ว่าคนเหล่านี้มีความสามารถหลาย ๆ ด้าน”


เพราะเมื่อสร้างหรือฝึกอาชีพให้กับคนพิการอย่างเหมาะสม ก็เปรียบได้กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อถึงจุดนั้นก็จะสามารถเปลี่ยนภาพคนพิการที่จากเดิมถูกมองว่าเป็นภาระให้กลับกลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ