อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แฟ้มภาพ
คอลัมน์ inside out story

โดย วงศ์สิริ กองพุฒิ

มีโอกาสรู้จัก “ดร.อธิปัตย์ บำรุง”ในช่วงที่เขาเป็นผู้ช่วย “นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ซึ่งนานมาก) จนกระทั่งกลับมาเจอกันอีกครั้ง ในงานแถลงข่าวเปิดตัว “นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park

“ดร.อธิปัตย์” ในวันนี้นั่งตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD ทำให้ได้คุยกันหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่ที่น่าสนใจคือ “แนวคิดโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ” ที่เขาต้องการให้เกิด “ต้นแบบ” ในพื้นที่กรุงเทพฯก่อนเป็นลำดับแรก

คอนเซ็ปต์ของศูนย์การเรียนรู้ฯเน้นไปที่การเป็นมากกว่าห้องสมุด แต่ไม่ได้หมายความว่าห้องสมุดตกยุคไปแล้ว “ดร.อธิปัตย์” บอกว่า ห้องสมุดก็ยังมีมนต์ขลังเหมือนเดิม ทุกครั้งที่เห็นห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือ จะรู้สึกเหมือนมีแรงดึงดูดให้เข้าไปสัมผัสหนังสือสักเล่ม แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องเติมเสน่ห์ให้ห้องสมุดเข้าไปอีก ด้วยการเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้ามาใช้บริการได้ลองคิดลองทำ อย่างเช่น การให้ความรู้ด้านดนตรี ก็จัดครูพร้อมทั้งเครื่องดนตรีเพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่ต้องการเล่นหุ้น ก็สามารถจัดเวทีให้ความรู้ได้ ไม่ว่าจะอยากรู้อะไรก็เข้ามาหาคำตอบที่ศูนย์เรียนรู้ฯได้

เหตุผลที่ต้องการตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ “ดร.อธิปัตย์” บอกว่า ต้องการให้คนไทยทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับสร้างโอกาส และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ได้ ตรงนี้น่าสนใจ “ดร.อธิปัตย์” บอกว่า เมื่อมองในประเด็นการศึกษา จะมองเพียงกลุ่มเป้าหมายเดียวคือนักเรียน-นักศึกษาเท่านั้นไม่ได้ แต่อยากให้มองเพิ่มไปถึง “กลุ่มคนตกงาน” ที่ได้รับผลพวงของพัฒนาเทคโนโลยี (disruption) และกลุ่มผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เฉพาะแค่ 2 กลุ่มนี้หากต้องการเรียนรู้เพิ่ม พวกเขาจะหาได้จากที่ไหน ยังไม่นับรวมนักเรียนที่เรียนไม่เก่ง แต่อาจมีพรสวรรค์ในด้านอื่น ๆ ก็ควรพัฒนาเด็กในแบบที่เขาถนัด เขาอาจจะไปได้ไกลกว่าเด็กที่เรียนเก่งก็ได้ ซึ่งในประเด็นนี้ไม่เคยมีการกล่าวถึงมากนัก เราจะปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ลอยนวลอยู่ในสังคมไทยไปอีกนานแค่ไหน

“ดร.อธิปัตย์” ย้ำอีกว่า เราไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง…ทั้งที่รัฐมีเครื่องมือที่จะดึงศักยภาพของพวกเขาขึ้นมา

ต้องยอมรับว่าเป็นไอเดียดีจนน่าผลักดัน เพราะศูนย์เรียนรู้ฯในรูปแบบนี้เกิดขึ้นมากมายในต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น, ไต้หวัน, แคนาคา, เดนมาร์ก และนอร์เวย์

ถาม “ดร.อธิปัตย์” ต่อว่า ศูนย์เรียนรู้ฯจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างได้เมื่อไหร่นั้น เขาบอกว่าอยู่ในระหว่างหาพื้นที่ ทั้งในรูปแบบเช่าหรือซื้อขาด ซึ่งในเบื้องต้นเตรียมเข้าไปเจรจากับ กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่เหมาะสมคือพื้นที่ว่างของสถานีรถไฟฟ้าจตุจักร และมักกะสัน และอาคารลุมพินีสถาน โดยเฉพาะอาคารลุมพินี

สถานที่เหมาะที่จะพัฒนาเป็นที่แรก เพราะอยู่ใกล้ชุมชนและเดินทางสะดวก ซึ่ง “ดร.อธิปัตย์” ได้ฉายภาพความคิดในอนาคตว่าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะขยายศูนย์เรียนรู้ฯในรูปแบบนี้ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดอีกด้วย

การลงทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาถือว่าสำคัญไม่แพ้กับการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์อื่น ๆ ของภาครัฐ เพราะการสร้างศูนย์การเรียนรู้เท่ากับว่าได้ลดความเหลื่อมล้ำ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างคน